นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5-2.5% เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลง -6.1% ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติ ในปี 2563
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว 10.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 1.6 % และ 4.3 % ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 9.3 % อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0-2.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของ GDP
ทั้งนี้ ครม. รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลง -2.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ลดลง -4.2% ทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปี 63 ที่ 0.2% โดยได้แรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลง -0.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้านการลงทุนรวม ขยายตัว 7.3% ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ 3.0% เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ 19.6% สูงขึ้นจากการขยายตัว 0.6% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 9.3% ด้านการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ที่ 5.3% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ 17.3% รถยนต์นั่ง 13.2% รถกระบะ 44.8% ผลิตภัณฑ์ยาง 53.1% ยางพารา 38.1% และมันสำปะหลัง 72.5% เป็นต้น กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ข้าว และน้ำตาล ด้านการผลิต การผลิตสินค้า อุตสาหกรรมและสาขาก่อสร้าง เกษตร สื่อสารและการเงิน มีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนที่พักแรมและบริการด้านอาหาร การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ำ ไฟฟ้าและก๊าซ และการขายส่ง-ปลีก ลดลงต่อเนื่อง
ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -0.5 % ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.71 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.9% ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็น 53.3% ของ GDP
นายอนุชา กล่าวถึง การบริหารเศรษฐกิจในปี 64 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อและให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว รวมทั้งป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ โดยบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด ยกระดับการเฝ้าระวังสอบสวนโรคเชิงรุกในเขตพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองต่าง ๆ
พร้อมทั้งเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีน การพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุข และเร่งประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้ามาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศด้วย
ที่มาจากสำนักข่าว สำนักข่าวอินโฟเควสท์