โควิดเสี่ยงทุบเศรษฐกิจไทย ฉุด 'เงินบาท' อ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปีกว่า
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันี้ไว้ที่ 33.10 - 33.40 บาท/ดอลลาร์ โดยเมื่อวานนี้เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค ปิดตลาดทำ New High ในรอบ 2 ปี 9 เดือน ส่วนภูมิภาคเคลื่อนไหวค่อนข้างผสมผสมกัน
ปัจจัยหลักกระทบเงินบาทเวลานี้
- การระบาดของไวรัส Covid-19 ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยทั้ง “ปีนี้และปีหน้า”
- แรงหนุน “ดอลลาร์แข็งค่า”
- โอกาสเฟดทำการลด QE ด้วยการทยอยลดดอกวงเงินเข้าซื้อพันธบัตร
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในวันนี้
- สถานการณ์และมาตรการควบคุม Covid-19 ในประเทศ
- 19.30น. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของรัฐบาลสหรัฐฯ เดือนก.ค.
- 19.30น. อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือนก.ค.
· อ้างอิงจากการเงินการธนาคาร
- ธปท.เผย 3 เหตุผล ทำไมเศรษฐกิจไทยไม่เหมาะกับการทำ QE ชี้เงินบาทอ่อนค่าจากโควิดระบาดรุนแรง
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาทครั้งนี้เป็นการคลื่อนไหวอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ delta ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ
โดยเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าเงินสกุลภูมิภาคจากสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้า ทั้งนี้ ธปท. ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด โดยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ
1) โจทย์ปัจจุบันไม่ใช่สภาพคล่องโดยรวมไม่เพียงพอ
2) ไทยเป็น bank-based economy ภาคเอกชนระดมทุนผ่านตลาดสารหนี้เพียง 10% การทำ QE จะได้ประโยชน์ในวงจำกัด
3) ต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว
ทั้งนี้มาตรการที่ตอบโจทย์ตอนนี้ คือ มาตรการการเงินและสินเชื่อ ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงมาตรการให้มีประสิทธิผลขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟคเวสท์
- ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์นั้น ประเมินว่า ในระยะ 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) จะกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจย่อตัวลงอีกราว 2-3% จากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้
ดังนั้น จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวเหลือ -2 ถึง 0% ได้
พร้อมทั้งเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ค.64 ปรับตัวลดลงมาที่ 40.9 จากระดับ 43.1 ในเดือนมิ.ย.64 โดยดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือนและยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 64 และปี 65 แต่โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งภายในปีนี้มีมากขึ้นเช่นกัน
- กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนก.ค.64 อยู่ที่ 99.81 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.45% เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาลและการลดลงของราคาอาหารสดบางประเภทที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว
· อ้างอิงจาก Posttoday
- เอาไม่อยู่ โควิดพุ่งเป็นไฟลามทุ่ง เป็นวิกฤตลากเศรษฐกิจไทยดิ่งเหลว
วิกฤตของคุมระบาดโควิดไม่อยู่ แม้ว่าจะมีการล็อกดาวน์แล้วล็อดดาวน์อีก ตั้งแต่การล็อกดาวน์แคมป์คนงานใน 10 จังหวัดกรุงเทพและปริมณฑล การประกาศเคอร์ฟิวล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัด และล่าสุดการประกาศเคอร์ฟิวล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 29 จังหวัด แต่ก็ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิดได้ลงแม้แต่น้อย
วิกฤตโควิดที่พุ่งทะลุฟ้าไม่ยอมหยุด สะเทือนกับเศรษฐกิจไทยให้ดิ่งทะลุลงเหวอีกรอบ ถึงขนาดผู้ประกอบการสุดทน ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประชุมด่วนและออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2564 เป็น -1.5 % ถึง 0.0% จากเดิม 0-1.5 % ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ
ทางด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 0.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.8% โดยพิษของโควิดที่ลาดยาวจบไม่ลง ทำให้เศรษฐกิจไทยหายวูบไปถึง 1.1% ซึ่งการประเมินของ ธปท. ยังไว้หน้ารัฐบาล เพราะก่อนสิ้นปี ธปท. จะมีการปรับประเมินเศรษฐกิจอีก 1 รอบ คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะให้เศรษฐกิจไทยติดลบ หากการแก้ไขปัญหาโควิดยังยืดเยื้ออย่างนี้
จากภาพรวมทั้งหมดจะเห็นว่า วิกฤตโควิดมาถึงจุดวิกฤตโคม่าสาหัส ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เป็นระบบ ไม่ได้คิดไปทำไปแก้ไป มีการเล่นการเมือง ยีงมีความไม่ชอบมาพากลในการหาผลประโยชน์จากวิกฤตโควิด และต้องหยุดเล่นการเมืองบนความตายของประชาชนทั้งประเทศ
เพราะไม่ไม่เช่นนั้น การแพร่ระบาดโควิดจะเห็นยอดทะลุฟ้าไม่หยุด เห็นคนตายหลักหลายร้อยในอีกไม่ช้า ระบบสาธารณสุขไทยจะล่มจนกู้ไม่ขึ้น และกระทบไปถึงเศรษฐกิจไทยที่ดิ่งลงเหวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากปี 2563 ที่ติดลบ 6.8% และหากปีนี้ยังมาติดลบตามที่ กกร. ประเมินไว้อีก แสดงให้เห็นว่าโควิดพ่นพิษทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหวจมลึกกว่าเดิม