กสิกรไทย ชี้ 4 ปัจจัยกดดดันค่าเงินบาท จับตาบริษัทลูกในไทยขนเงินกลับต่างประเทศ ชี้ ล็อกดาวน์ 29 จังหวัดฉุดการบริโภคหกระทบจีดีพีเหลือ -0.5%
ธนาคารกสิกรไทย ปรับกรอบเงินบาทอยู่ที่ 32.75 บาท/ดอลลาร์ จาก 32.50 บาท/ดอลลาร์ จับตา 4 ปัจจัยกดดันบาทอ่อนค่า หลังจากที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หั่นนักท่องเที่ยวเหลือ 2 แสนรายกระทบรายได้ขาเข้า ด้านต้นทุนค่าขนส่งส่งสัญญาณปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า เกาะติดบริษัทลูกในไทยขนเงินกลับต่างประเทศ หลังเม.ย.-พ.ค.ไหลออกแล้ว 7.8 หมื่นล้านบาท
โดย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากเดิมคาดจะอยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี-เดือนมิถุนายนขาดดุลแล้ว 8,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการขาดดุลเป็นผลมาจากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป
2. ค่าใช้จ่ายจากการขนส่งที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเศรษฐกิจฟื้นตัวและยังไม่ฟื้นตัวนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางด้านขนส่งปรับเพิ่มขึ้น
3. การจ่ายเงินปันผลของบริษัทลูกในไทยกลับต่างประเทศ โดยเริ่มเห็นสัญญาณความเป็นไปได้ของบริษัทแม่ในต่างประเทศที่เริ่มขาดสภาพคล่อง และให้บริษัทลูกในไทยโอนเงินไปให้ในรูปเงินปันผล เพื่อไปเสริมสภาพคล่อง
4. ความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าธนาคารจะมองว่าโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับลดลงมีเพียง 40% เท่านั้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยจากเดิมมองว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 1% ปรับลงมาหดตัว -0.5% แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ค่อนข้างสูง แต่จะเห็นวัฎจักรการเติบโตในอัตราสูงได้ผ่านไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้การเติบโตจะชะลอตัวลง
อ้างอิงจาก: ประชาชาติธุรกิจ