· ทองคำทรงตัวเหนือ $1800 ท่ามกลาง U.S. Yield อ่อนตัว
ราคาทองคำเคลื่อนไหวสะสมพลังและสามารถแกว่งตัวได้เหนือระดับสำคัญ 1,800 เหรียญ โดยรับแรงหนุนสำคัญจาก "อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่อ่อนตัวลง" ท่ามกลางนักลงทุนที่ให้ความสำคัญว่า บรรดาธนาคารกลางต่างๆจะรับมือกับ "แรงกดดันเงินเฟ้อ" ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างไร
ราคาทองคำตลาดโลกปรับขึ้นราว 0.3% ที่ 1,802.40 เหรียญ
สัญญาทองคำตลาด Comex เคลื่อนไหว +0.3% แถว 1,803.90 เหรียญ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี (U.S.10 Yield) ทรงตัวใกล้ระดับต่ำสุด 2 สัปดาห์ที่ทำไว้เมื่อวานนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมความต้องการทองคำ
ผู้จัดการด้านการลงทุนตลาดโลกของ ABC Bullion กล่าวว่า เราต้องการเห็นการเข้าซื้อทองคำที่ "เพิ่มมากขึ้นกว่านี้" ในตลาดทองคำ ควบคู่กับสภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง
บรรดานักลงทุนกำลังรอคอยประชุมอีซีบี ในช่วงค่ำวันนี้ จากนั้นจะติดตาม ประชุมเฟดสัปดาห์หน้า ที่จะทราบผลประชุม 3 พ.ย. นี้
ภาพรวมนักลงทุนในตลาดกำลังให้ความสนใจกับ บีโอเจ ที่ยังคงนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป และมีคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ที่กำหนดไปอย่างน้อยอีก 2 ปี
นักวิเคราะห์จาก ANZ กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริงใน "เชิงลบ" ประกอบกับ "ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ" เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ราคาทองคำอาจขึ้นไปถึง 1,850 เหรียญได้ ก่อนที่จะอ่อนตัวลงในปีหน้าและหลังจากนั้น ขณะเดียวกัน "นักลงทุนควรระมัดระวังต่อการประกาศผลประชุมเฟด พ.ย." เพราะอาจกดดันแนวโน้มราคาทองคำได้
· สภาทองคำโลก (WGC) ระบุว่า อุปสงค์ทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3/2021 ซึ่งถือเป็นต่ำสุดรายไตรมาสตั้งแต่ ไตรมาสที่ 4/2020
อย่างไรก็ดี WGC ยังคาดว่าจะเห็นอุปสงค์ทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมากจากผู้บริโภคของอินเดีย ที่จะนำมาซึ่งความแข็งแกร่งในช่วงไตรมาสที่ 4/2021
· Gold Price Forecast: ทองคำขาขึ้นแนะนับจับตา 1,800 เหรียญ จาก Safe-Haven ที่เพิ่มขึ้น เหตุจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอ่อนตัว แม้ธนาคารกลางต่าๆงจะลดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่กระแสคาดการณ์เกี่ยวกับประชุมเฟดเดือนพ.ย. ดูจะสะท้อนโอกาสเห็นเฟดทำ Tapering QE ประมาณ 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งอาจเห็นการปรับลด QE ลงเร็วกว่าที่คาดไว้ จึงอาจเป็นตัว กดดันทองคำกลับลงไปแถว 1,720 เหรียญ และมีโอกาสกลับทดสอบต่ำสุดเดิมของปีนี้อีกครั้ง
"คาดการณ์ทองคำทางเทคนิค"
นักวิเคราะห์จาก FXStreet ระบุว่า ราคาทองคำยืนได้เหนือเส้นค่าเฉลี่ย MA ราย 100 และ 200 วัน ก่อนจะปรับตัวลดลงหลุดลงมา แต่ภาพรวมก็ยังมีสัญญาณขาขึ้นได้อยู่ในระยะสั้น
เส้น RSI ที่อยู่ที่ระดับ 58 จุด ซึ่งการยืนได้เหนือ 50 จุด ยังสะท้อนภาวะขาขึ้นของทองคำ
ดังนั้น หากทองคำจะกลับมาเป็นขาขึ้น อาจจำเป็นต้องปิดรายวันเหนือ 1,800 เหรียญ และหากฝ่าไปเหนือแนวต้านแรก 1,834 เหรียญ ที่เป็นสูงสุดเมื่อ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา จะยิ่งบ่งชี้อย่างเห็นได้ชัดว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จะเห็นทองไปแถว 1,855 เหรียญ และ 1,900 เหรียญตามลำดับ
แพลทินัมปรับขึ้น +0.6% ที่ 1,016.77 เหรียญ
พลาเดียมปรับขึ้น +1.3% ที่ 1,990.23 เหรียญ
นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า การชะลอตัวของภาครถยนต์ และปัญหาการขาดแคลนอุปทาน ดูจะกดดันอุปสงค์จาก PGMs ที่น่าจะยังสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดต่อไปจนกว่าจะเห็นสถานการณ์ในกลุ่ม Micro-Chip นั้นคลี่คลาย
ซิลเวอร์ปรับขึ้น +0.1% ที่ 24.06 เหรียญ
· ไวรัสสายพันธ์ุ Delta มีแนวโน้มจะเป็นตัวฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาสที่ 3/2021 รวมไปถึงปัญหา "ห่วงโซ่อุปทาน" ทั่วโลก ที่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวกระทบต่อค่าใช้จ่ายผู้บริโภค
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะทำการเปิดเผย "ประมาณการณ์จีดีพีไตรมาสที่ 3/2021 (ครั้งที่ 1)" ในช่วงค่ำวันนี้เวลา 19.30น. ที่ถูกคาดว่าจะยังเห็นเงินเฟ้อแกร่ง จากปัญหาข้างต้น รวมถึงเม็ดเงินเยียวยาของภาครัฐช่วง Covid-19 และพายุเฮอริเคนไอด้า ที่กระหน่ำเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยที่ "กดดัน" ทิศทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 3/2021 ท่ามกลางจำนวนติดเชื้อ Covid-19 ที่ลดลง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ Delta
· ผลสำรวจ Reuters สะท้อนว่า จีดีพีสหรัฐฯมีแนวโน้มจะขยายตัวได้เพียง 2.7% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาสที่ 3/2021 ขณะที่ยอดขาดดุลทางการค้าเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นอย่างมาก และมียอดส่งออกที่ลดน้อยลง
· สถาบันการเงินรายใหญ่ในสหรัฐฯ อาทิ Goldman Sachs ก็มีการหั่นคาดการณ์จีดีพีสหรัฐฯลง 0.5% สู่ระดับ 2.75%
· เฟดแอตแลนต้ามองจีดีพีสหรัฐฯไตรมาสที่ 3 จะลดลงมาจาก 0.5% สู่ระดับ 0.2%
· "เจเน็ต เยลเลน" รัฐมนตรีกระทรวงคลังสหรัฐฯ กำหนดวาระการประชุมในยุโรปร่วมกับกลุ่ม G20 และหน่วยงาน COP26 เรื่อง "ภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ทั่วโลก, โรคระบาด, การผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่หนุนเงินเฟ้อ และการบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับสภาพภูมิอากาศ" ในสัปดาห์หน้า
· ประชุมอีซีบีคืนนี้ คาดจะคงนโยบาย ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
· CNBC เผยมุมมองนักวิเคราะห์ ที่มอง "Stagflation" ในจีนค่อนข้างเป็น "ความเสี่ยงที่แท้จริงอย่างมาก" ในอีก 2-3 ไตรมาส
· CNBC รายงานถึง จีนมีการเพิ่มการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย ไม่ใช่จากออสเตรเลีย
· ส่งออกของออสเตรเลียไปยังจีนเพิ่มขึ้น แม้จะเห็นปัญหาการค้าระหว่าง 2 ประเทศ และยังไม่มีสัญญาณว่าจะ "แก้ไขปัญหา" ร่วมกันได้
Oxford Economics เผยว่า มูลค่าการส่งออกของออสเตรเลียไปยังจน เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าสูงแตะ 1.80 แสนล้านออสเตรเลียดอลลาร์ (1.35 แสนล้านเหรียญ) เมื่อเทียบกับข้อมูลเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศยังคงถูกทำลายลงตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากที่ ออสเตรเลียสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการสอบสวนจีนเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของไวรัส Covid-19
· จีนเรียกร้อง World Bank และ IMF ให้การช่วยเหลือประเทศอัฟกานิสถาน