• ​เงินบาทปี’65 ผันผวนแข็งค่า ลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยว-ธปท.คงดอกเบี้ย

    25 พฤศจิกายน 2564 | Economic News


เงินบาทปี’65 ผันผวนแข็งค่า ลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยว-ธปท.คงดอกเบี้ย

 


จับเทรนด์เงินบาทปีหน้าผันผวนหนัก “กสิกรฯ” มองเทรนด์แข็งค่า 32.00-32.50 บาท คาดต่างชาติแห่ปิดสถานะขายเงินบาท ขณะที่ “ttb analytics” ประเมินต้นปีเงินบาทยังอ่อนค่าแถว ๆ 33.00-34.00 บาท เหตุดอลลาร์แข็งจากการลดคิวอี ระบุจำนวนนักท่องเที่ยวชี้ชะตาทิศทางเงินบาท ฟาก “กรุงไทย” ประเมินตลอดปีหน้าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2% จากปีนี้อ่อนค่าเฉลี่ย 3% ด้านนักเศรษฐศาสตร์ “ซีไอเอ็มบี ไทย” ฟันธง ธปท.จะคงดอกเบี้ยตลอดปี-เงินบาทไม่แข็งค่าเร็ว


 

·         นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ห้องค้ากสิกรไทยคาดการณ์ว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงในทิศทางแข็งค่าในปี 2565 ที่ระดับ 32.00-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี โดยการกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และค่าระวางเรือที่ชะลอลง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนค่าเงินบาทให้กลับมาแข็งค่า



อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และแนวโน้มการคงดอกเบี้ยของ ธปท.อาจทำให้ค่าเงินบาทผันผวนในปีหน้า



นอกจากนี้ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดผ่อนคลายลง และภาครัฐประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ และผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ในขณะที่นักลงทุนมีแนวโน้มลดสถานะขายเงินบาท จากที่ในปีนี้นักลงทุนถือครองสถานะซื้อเงินดอลลาร์ในระดับสูง เพื่อเก็งกำไร



“ปีนี้โดนแรงเก็งกำไร short บาท long ดอลล่าร์ เยอะ โดยเราประเมินว่าในปีหน้านักลงทุนจะทยอยปิดสถานะขายเงินบาทต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีในปีหน้า ในขณะที่อัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอลงหลังจากฟื้นตัวดีในช่วงที่ผ่านมา” นางสาวกฤติกากล่าว


 

·         นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2565 ค่าเงินบาทน่าจะยังมีทิศทางอ่อนค่าอยู่ในช่วง 33.00-34.00 บาท เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าจากการลดมาตรการคิวอี ขณะเดียวกัน ทิศทางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทั้งจากการนำเข้าที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก

 


“ดุลบัญชีเดินสะพัดปีหน้า จะเกินดุลได้ก็น่าจะเข้าสู่ช่วงกลางปีแล้ว แต่ก็ขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาด้วย ถ้าไม่ถึง 4 ล้านคนก็อาจจะปิดขาดดุลไม่ได้” นายนริศกล่า


 

·         นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยประเมินค่าเงินบาทปีหน้ามีแนวโน้มแข็งค่าเฉลี่ย 2% จากปีนี้ที่อ่อนค่า 3% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีหน้าเริ่มฟื้น นักท่องเที่ยวทยอยกลับมา โดยกรุงไทยประเมินกรอบค่าเงินบาทปีหน้าอยู่ที่ 31.25-32.75 บาท


ช่วงครึ่งแรกของปีน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.00-32.75 บาท และในช่วงครึ่งหลังของปีจะเริ่มขยับแข็งค่าในกรอบ 31.25-32.00 บาท จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น และปัญหาซัพพลายเชนต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย ทั้งนี้ สิ้นปีเงินบาทน่าจะอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์



“ปีหน้าเงินบาทจะขยับแข็งค่าเร็วมากน้อยระดับใด จะอยู่ที่ปัจจัยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตลาดคาดว่าจะเข้ามาได้ 5-6 ล้านคน และปัญหาซัพพลายเชนที่มีผลต่อต้นทุนค่าระวางเรือและค่าขนส่ง ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลได้ ซึ่งระหว่างทางจะมีความผันผวนโดยจะเห็นกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าตลาดหุ้นและเก็งกำไรค่าเงิน” นายพูนกล่าว

 


·         ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทปีหน้า (2565) อาจจะไม่ได้แข็งค่าได้เร็ว เนื่องจากคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าเฟด และทั่วโลกอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม


“ปี 2564 การที่เศรษฐกิจไทยไม่ติดลบเนื่องจากค่าเงินบาทมีส่วนช่วยภาคการส่งออก ช่วยภาคเกษตรได้ค่อนข้างมาก เพราะเงินบาทอ่อนค่าแทบจะแรงที่สุดในภูมิภาค แต่ก็ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้นและนำไปสู่เงินเฟ้อด้วย ซึ่งต้องจับตานโยบายการเงินในระยะต่อไป



โดยหากในปีหน้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้ง และทั่วโลกพร้อมที่จะขึ้น ธปท.จะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งผมมั่นใจว่า ธปท.ไม่ขึ้นดอกเบี้ย แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ความน่าสนใจในสินทรัพย์ไทยจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดูภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปด้วยปัจจัยแบบนี้ ค่าเงินบาทเองก็ไม่น่าจะกลับมาแข็งค่าได้เร็ว” ดร.อมรเทพกล่าว


 

อ้างอิงจากประชาชาติธุรกิจ


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com