ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- นักวิเคราะห์ DailyFX เผยว่า ราคาทองคำยังคงรักษาระดับไว้ได้ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ แม้เฟดมีทีท่าคุมเข้มนโยบายการเงิน
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -4.98 เหรียญ หรือ -0.27% มาอยู่ที่ระดับ 1,833.87 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ปรับตัวขึ้น 1.4 เหรียญ หรือ 0.08% มาอยู่ที่ระดับ 1,834.4 เหรียญ
- สัญญาซื้อขายล่วงหน้าโลหะเงิน ปรับตัวลดลง -11.3 เซนต์หรือ -0.46% มาอยู่ที่ระดับ 24.268 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR เมื่อวานนี้ซื้อเข้า 27.59 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1008.45 ตัน ภาพรวมเดือนมกราคม ซื้อสุทธิ 32.79 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ม.ค. 65) ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.01 จุด หรือ 0.01% มาอยู่ที่ระดับ 95.65 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.086 มาอยู่ที่ระดับ 1.777 %
- ค่าเงินบาท ปรับตัวขึ้น 0.022 บาท หรือ 0.067% มาอยู่ที่ระดับ 32.983 บาทต่อดอลลาร์
- นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs คาดการณ์ เฟดจะเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายการเงินในทุกครั้งหลังการประชุมคณะกรรมการกําหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และมองว่า จะมีทีท่าเข้มงวดกว่าที่เหล่าธนาคารในสหรัฐคาดการณ์ตอนนี้ พร้อมคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในเดือนมีนาคม,มิถุนายน, กันยายน, ธันวาคม และคาดเพิ่มเติมว่าเฟดจะเริ่มลดขนาดงบดุลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
- นักวิเคราะห์จาก ING กล่าวว่า ตลาดค่าเงินปอนด์ต่อดอลลาร์ไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นการเมืองในอังกฤษ แต่มุ่งเน้นความสนใจไปยังประเด็นว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้
- นักวิเคราะห์จาก Berenberg Bank กล่าวว่า การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีอังกฤษอาจจะเป็นประโยชน์ตลาดเงินปอนด์อังกฤษด้วยซ้ำ จากการที่พรรคอนุรักษ์นิยมมีแนวโน้มจะเลือกส่งตัวแทนที่มีโอกาสชนะผู้นำพรรคแรงงาน ซึ่งส่งผลให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ของอังกฤษก็จะมีแนวนโยบายที่คล้ายกับนโยบายของบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
- จากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โดยรอยเตอร์ ประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดและปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม ในการประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ผู้ตอบกว่า 65% ระบุว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25%ในขณะที่ผู้ตอบกว่า 75% ระบุว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.50% ภายในสิ้นเดือนมีนาคม และจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในไตรมาสที่สามของปีนี้ โดยให้เหตุผลจากปัจจัยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นร้อนแรงและผลกระทบจากไวรัสโควิดโอมิครอนที่น้อยลง เป็นเหตุผลในการรปรับขึ้นดอกเบี้ย
- ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปอีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยมีเป้าหมายที่จะรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ และสร้างความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างมีศักยภาพ คาดว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) สำหรับธนาคารรายใหญ่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 11% ในไตรมาสแรกปีนี้ ขณะเดียวกันคาดว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) และปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรประเภท 7 วัน ลงอีก 0.10% ในไตรมาส 2 ของปีนี้
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดในวันศุกร์ที่ 21 ม.ค. โดยถูกกดดันจากหุ้นเน็ตฟลิกซ์ซึ่งดิ่งลงอย่างหนักหลังเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอ ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ร่วงลงรายสัปดาห์มากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเดือนมี.ค. 2563
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,265.37 จุด ร่วงลง 450.02 จุด หรือ -1.30%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,397.94 จุด ร่วงลง 84.79 จุด หรือ -1.89%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,768.92 จุด ร่วงลง 385.10 จุด หรือ -2.72%
- รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศจีน เผยว่า โรงงานในจีน กำลังเผชิญแรงกดดันครั้งใหญ่ในไตรมาสแรกของปี เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้มั่นคง จากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 , การค้าโลกเติบโตชะลอตัวลง, อุปสงค์ผู้บริโภคจีนอ่อนแอ
- ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟเผย การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจลดทอนความเชื่อมั่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้ในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งในเดือนมกราคมตลาดหุ้นของโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากความกังวลที่เฟดจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือนมีนาคม รวม 4 ครั้งในปี 2022
- กระทรวงการคลังแอฟริกาใต้เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้อนุมัติเงินกู้มูลค่า 750 ล้านเหรียญ เพื่อใช้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากโรคระบาดที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 94,000 ราย จากผู้ติดเชื้อ 3.5 ล้านราย
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ ที่ 21 ม.ค. เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบออกมา ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่เป็นไปอย่างซบเซา หลังจากการเปิดเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาด และตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนัก
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 85.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 49 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 87.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
- จากรายงานการประชุม BOJ ระบุว่า คณะกรรมการหลายท่านมองว่าความคาดหวังเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกลับมาเป็นบวกหลังจากผลกระทบการปรับลดค่าใช้บริการโทรศัพท์หมดไป
- ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนธ.ค.ของญี่ปุ่นทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หรือ Core CPI ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบเกือบสองปี อันเป็นสัญญาณของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่สูงขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
· ผลวิจัย เผย วัคซีนป้องกันโควิด-19 "สปุตนิก" ต้านโอมิครอนสูงกว่า "ไฟเซอร์" จากการวิจัยในห้องปฏิบัติการเบื้องต้น พบว่า ภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนของผู้ที่รับวัคซีนสปุตนิก ของรัสเซีย ไม่ได้ลดลงเท่ากับผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์
· กรรมาธิการด้านสุขภาพของสหภาพยุโรป กล่าวในการประชุมผ่านวีดีโอคอลกับกรรมาธิการคนอื่น ๆ ว่าหากมีข้อมูลยืนยันก็จำเป็น ก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้ประชาชนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอรุนแรงรับวัคซีนเข็มที่ 4
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- การเจรจาระหว่างสหรัญและรัสเซียในประเด็นยูเครนไม่คืบหน้า แต่ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะให้ดำเนินการเจรจาต่อไปเพื่อแก้ไขวิกฤติที่อาจนำไปสู่การยกระดับความขัดแย้งทางทหาร
ข่าวอื่นๆ
- เฟดร่างรายงานชี้ข้อดีและข้อเสียของดิจิทัลดอลลาร์ หรือ CBDC (central bank digital currency) พร้อมเปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็น โดย kitco ระบุว่า เป็นไปตามคาดว่า เฟดไม่ได้เลือกข้างว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับดิจิทัลดอลลาร์ ข้อดีคือ (1) การชำระเงินรวดเร็วและปลอดภัย (2) ช่วยรักษาบทบาทเด่นของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินโลก (3) ปรับปรุงการชำระเงินระหว่างประเทศ (4) ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมในระบบการเงิน ในส่วนข้อเสีย ได้แก่ (1) ข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและเภสถียรภาพของระบบการเงิน (2) มีโอกาสเกิดผลกระทบต่อนโยบายการเงิน, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, และประเด็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและการปกป้องข้อมูล
- สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า บิตคอยน์ลดลงประมาณ 8% ในวันที่ 22 ม.ค. สู่ระดับราว 35,000 ดอลลาร์ โดยมูลค่าร่วงลงเกือบ 50% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่อีเธอร์ ร่วงลงเกือบ 10% สู่ระดับราว 2,400 ดอลลาร์
ที่มาจาก : Reuters, Bloomberg, FXstreet, Infoquest, Kitco, The Guardian