• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

    10 กุมภาพันธ์ 2565 | Gold News

 ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ชะลอตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันนี้


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 1,834.30 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ปรับตัวขึ้น 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 1,835.10 เหรียญ
  • สัญญาซื้อขายล่วงหน้าโลหะเงิน ปรับตัวขึ้น 8.2 เซนต์หรือ 0.35% มาอยู่ที่ระดับ 23.274 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 1,015.96 ตันภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 1.79 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 40.3 ตัน


  • นักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ของ ANZ ระบุว่า การคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อราคาทองคำ รวมถึงตลาดรับรู้ถึงการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้


  • ผู้จัดการทั่วไปของ ABC Bullion กล่าวว่า ท่าทีของเฟดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยดูผ่อนคลายลง รวมถึงความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาทองคำ


  • นักวิเคราะห์จาก Extinity ระบุว่า ราคาทองยังคงพยายามปรับขึ้นจากการคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในระดับสูงที่จะประกาศในวันพฤหัสนี้ ทั้งนี้ หากมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าแรงกดดันเงินเฟ้อระดับสูงจะยืนยาวต่อไป จะเร่งให้เหดเร่งรัดการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาทองคำในที่สุด


  • นักวิเคราะห์จาก Quantitative Commodity Research กล่าวว่า ยังมีทั้งปัจจับบวกและปัจจัยลบที่กระทบต่อทองคำ ในด้านหนึ่ง ดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งแรง ในอีกด้านหนึ่ง ตลาดพันธบัตรฟื้นตัวจากจากการปรับลดลงในช่วง 2-3 วันก่อนหน้า


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.16 จุด หรือ 0.17% มาอยู่ที่ระดับ 95.56 จุ
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.026% มาอยู่ที่ระดับ 1.939%


  • อิซาเบล ชนาเบล หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการ ECB ส่งสัญญาณมุมมองว่า เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงยาวนานกว่าที่คาดไว้ กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะไม่ช่วยลดระดับราคาพลังงาน แต่ถ้าระดับเงินเฟ้อระดับสูงในปัจจุบัน เริ่มนำไปสู่ความคาดหวังเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทางเราก็จำเป็นต้องดำเนินการ ตามหลักการของธนาคารกลางที่ต้องรักษาเสถียรภาพราคา 


  • นักเศรษฐศาสตร์จาก ING กล่าว่า มีสองปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบค่าเงินยูโร (1) ปัจจัยแรกคือ การปรับประมาณการตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคหรือตัวเลขเงินเฟ้อของคณกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ ECB ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะประกาศในวันที่ 10 มีนาคมสูงขึ้นเช่นกัน (2) ปัจจัยที่สองคือ นางอิซาเบล ชนาเบล หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการ ECB ชี้ว่า ความเสี่ยงเงินเฟ้อมีโอกาสปรับขึ้น


  • นักกลยุทธ์อาวุโสจาก TD Securities ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวลงในช่วงวันนี้ เป็นสาเหตุให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียโดยสามารถปรับแข็งค่าขึ้นอย่างแข็งแรง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของสหรัฐ (Real yield) เริ่มปรับตัวขึ้น จะช่วยจำกัดการปรับตัวลงของค่าเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ ยังมองว่า ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียจะยังคงแข็งแกร่ง โดยเปรียบเทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว G10 และกลุ่มประเทศเกิดใหม่


  • นักวิเคราะห์จาก Natixis อธิบายถึงสามกลไกที่อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวคงอยู่ในระดับต่ำ (1) สินทรัพย์เสี่ยงมีระดับราคาที่สูงมาก หนุนให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรปลอดความเสี่ยงเพื่อรักษาเสถียรภาพของพอร์ทโฟลิโอ (2) นักลงทุนที่ เพิ่มการซื้อสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง สามารถทดแทนด้วยกสนซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีสภาพคล่องสูง (3) อัตราส่วนหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อธนาคารกลางไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ยระยะยาว


ข่าวเกี่ยวกับหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกกว่า 300 จุด ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 2% โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีชะลอตัวลง นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,768.06 จุด เพิ่มขึ้น 305.28 จุด หรือ +0.86%,
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,587.18 จุด เพิ่มขึ้น 65.64 จุด หรือ +1.45% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,490.37 จุด เพิ่มขึ้น 295.92 จุด หรือ +2.08%


  • สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว (Continuing Resolution (CR))  โดยมีมติด้วยคะแนนเสียง 272 ต่อ 162 ซึ่งช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐมีงบประมาณใช้จ่าย ไม่ถูกปิดการดำเนินงานหรือชัตดาวน์ไปจนถึงวันที่ 11 มี.ค. และช่วยให้สภาคองเกรสมีเวลาในการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 ทั้งนี้ร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวกำลังถูกส่งให้วุฒิสภาสหรัฐพิจารณาเป็นลำดับต่อไป 


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวก ขานรับตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงอย่างเหนือความคาดหมายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 89.66 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 77 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 91.55 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ชี้ว่า มุมมองความสำเร็จของการเจรจาประเด็นนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ยังมีโอกาสเท่ากับโยนเหรียญหัวก้อย ที่จะผลักดันราคาน้ำมันขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่ามีโอกาส 50% ที่จะบรรลุการเจรจาในเดือนธันวาคมปี 2022 และโอกาส 50% ที่อิหร่านจะยังคงถูกคว่ำบาตรต่อไปตลาดปี 2023 ทั้งนี้ การเจรจาตกลงในเดือนหน้าซึ่งอาจจะทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ทำให้เปิดโอกาสราคาน้ำมันปรับตัวลง 7 เหรียญต่อบารร์เรลจากเป้าหมายราคาน้ำมันที่ 105 เหรียญต่อบารร์เรลในปี 2023 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยข้างต้น ไม่ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันไปในระดับสูงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ


  • ฝรั่งเศสเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความสงบ เพื่อแก้ไขวิกฤตยูเครน ประธานาธิบดีนายแอมานุแอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เข้าพบ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยมาครงมองว่าความตึงเครียดจากวิกฤตยูเครนจะคลี่คลาย หากทุกฝ่ายใช้ความสงบในการแก้ปัญหา และเชื่อมั่นว่า การหารือดังกล่าว จะช่วยป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์ยูเครน ทวีความตึงเครียดขึ้น โดยผู้นำรัสเซีย และยูเครน ต่างให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ ปี 2557 รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้นำยูเครน ยืนยันว่า ยังไม่เชื่อในคำรับรองจากทางรัสเซีย หากยังไม่เห็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า รัฐบาลรัสเซีย ยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงกับทางการฝรั่งเศส โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ยูเครน


  • ญี่ปุ่นเตรียมช่วยยุโรป หากรัสเซียงดส่งก๊าซต่อรองปมยูเครน รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมจัดสรรก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) บางส่วนให้ยุโรป เนื่องจากเหตุตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกในประเด็นยูเครนที่ปะทุขึ้น และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค 


  • เกาหลีเหนือ ภูมิใจ ทดสอบขีปนาวุธที่สามารถโจมตีสหรัฐฯ เกาหลีเหนือคุยโวว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ทันสมัย และยังเป็นประเทศเดียวที่กล้ายืนหยัดต่อสู้กับสหรัฐฯ ด้วยการทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ความตึงเครียดระหว่างประเทศยิ่งเพิ่มขึ้น จากการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือชุดล่าสุด ซึ่งเป็นการกระทำที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสั่งห้าม โดยในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธอย่างน้อย 7 ครั้ง รวมถึง "ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก" ชนิดใหม่ที่สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงได้ อย่างไรก็ตาม โฆษกสหรัฐฯ มองว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพโลกและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามรณรงค์ไม่แพร่กระจายอาวุธในระดับสากล


  • สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารกลางยุโรปกำลังเตรียมความพร้อมให้ธนาคารต่าง ๆ สามารถป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของรัสเซีย ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้นำทั้งฝั่งการเมืองและธุรกิจในยุโรปเกิดความหวั่นวิตกอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ผลกระทบต่อตลาดการเงิน หากรัสเซียบุกเข้าเขตแดนยูเครน\

ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19


  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,822 ราย ผู้ป่วยสะสม 322,438 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 2,545,873 ราย เสียชีวิต 20 ราย เสียชีวิตสะสม 22,364 ราย 


  • WHO คาดโอมิครอน “BA.2” จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานคาดการณ์ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2 ของโอมิครอนจะแพร่ระบาดไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าสายพันธุ์ย่อยนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำในผู้ที่เคยติดเชื้อโอมิครอนมาก่อนหรือไม่ แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 ของ WHO ระบุว่า ทางองค์การฯกำลังเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อย 4 สายพันธุ์ของโอมิครอน โดยเธอคาดว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์หลักของโอมิครอน จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดทั่วไปมากขึ้น


  • รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมประกาศขยายภาวะกึ่งฉุกเฉินเพื่อควบคุมโควิด-19 ในกรุงโตเกียวและอีก 12 จังหวัดต่อไปอีก 3 สัปดาห์ จากเดิมซึ่งจะสิ้นสุดในสัปดาห์นี้ เนื่องจากญี่ปุ่นยังควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ไม่สำเร็จ


  • ฮ่องกงรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน จากรายงานพบผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิต 1 รายในวันอังคารที่ผ่านมา ท่ามกลางความพยายามในการรับมือของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เลวร้าย ขณะเดียวกัน ในวันพุธที่ผ่านมาฮ่องกงพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่กว่า 1,160 คน ซึ่งทำสถิติใหม่สูงสุดของฮ่องกง ในขณะที่ฮ่องกงกำลังเร่งควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ขณะนี้ ฮ่องกงมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 16,600 ราย และผู้เสียชีวิต 213 ราย


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(10ก.พ.) ที่ระดับ32.72 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นในรอบกว่า2เดือน และจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.77 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.70-32.90 บาทต่อดอลลาร์


  • กนง.มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% มองศก.ฟื้นต่อเนื่องแต่ยังเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัว ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ครั้งที่ 1/2565 มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี 


  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด ความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงลดลง แต่ยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงแรกของปี 65 จากราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท และมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนรายได้และกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามราคาพลังงานโลกและสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง


  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) เพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและเอกสารที่ต้องยื่นต่อสำนักงาน สอดคล้องกับแนวทาง Regulatory Guillotine โดยผู้ลงทุน ยังคงได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม 


  • เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ และผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาคการเกษตรยังไม่ขยายตัวมากขึ้น ยังอยู่ในรูปแบบการผลิตแบบเดิม ไม่มีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า และกำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลง เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประมาณ 4-5 ปีข้างหน้า ขณะที่ด้านอุปสงค์ใน 2-3 ปีข้างหน้ายังมีข้อจำกัด เพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากโควิด-19 ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่วนเศรษฐกิจโลกแม้ยังขยายตัวได้ดี แต่ในอนาคตหากมีปัญหาสงครามการค้าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

 


ที่มาจาก :   Reuters, Bloomberg, CNBC, FXstreet, FxEmpires, Infoquest , Kitco

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com