ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- ราคาทองฟิวเจอร์ทะยานขึ้นเหนือระดับ 1,910 เหรียญ ในช่วงเช้านี้ เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศรับรองสถานะการเป็นเอกราชของ 2 แคว้นในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 12.23 เหรียญ หรือ 0.64% มาอยู่ที่ระดับ 1,910.46 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 14.80 ดอลลาร์ หรือ 0.78% แตะที่ 1,914.60 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาซื้อขายล่วงหน้าโลหะเงิน ปรับตัวขึ้น 14.8 เซนต์หรือ 0.62% มาอยู่ที่ระดับ 24.05 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR เมื่อวานนี้ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม ปัจจุบันถือครองที่ 1,024.09 ตันภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ซื้อสุทธิ 6.34 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 48.43 ตัน
- นักกลยุทธ์จาก DailyFX กล่าวว่า นักลงทุนทั่วโลกกังวลสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังกล่าวย้ำว่า มีความไปได้ที่รัสเซียจะบุกยูเครนในเร็วๆ นี้ ในทางกลับกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมี.ค. ดูจะเป็นปัจจัยที่กดดันราคาทองคำ
- นักวิเคราะห์ของ ANZ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ผันผวนระหว่างทองคำและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีกำลังจะจบลง แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะช่วยหนุนราคาทองคำ แต่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกำลังเป็นความเสี่ยงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
- นักวิเคราะห์ของ FXStreets ระบุว่า ราคาทองคำเผชิญแรงซื้อขายบริเวณ 1,900 เหรียญในเมื่อวานนี้ แม้ว่าสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนจะยังไม่ชัดเจน ขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสได้เจรจากับสหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องดำเนินการเจรจาทางการทูต เพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ลง ส่งผลให้ราคาทองคำเกิดความผันผวน จากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงแรก กลับปรับตัวลดลง หลังจากที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยอมรับที่จะจัดการประชุมสุดยอดร่วมกับประธานาธิบดี นายวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ตราบใดที่ไม่มีการบุกรุก ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงแรงสู่ระดับต่ำสุดที่ 1,891 เหรียญ
- นักวิเคราะห์อาวุโส OANDA กล่าวว่า ปัจจุบันเราจะเห็นแนวต้านของราคาทองคำที่ระดับ 1,900 เหรียญ แต่สถานการณ์กำลังมีพัฒนาการมากขึ้น แนวต้าน 1,900 เหรียญดังกล่าวจะไม่สามารถยื้อราคาได้นานเท่าที่สถานการพัฒนาการไปในแต่ละวัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.1 จุด หรือ 0.1% มาอยู่ที่ระดับ 96.14 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.081% มาอยู่ที่ระดับ 1.873%
- สกุลเงินยูโรและเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังมีรายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ดัชนี PMI รวมภาคผลิตและภาคบริการของอังกฤษพุ่งแตะระดับสูงสุดรอบ 8 เดือน
- นักเศรษฐศาสตร์จาก ING คาดว่า จะมีแรงหนุนค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.13 ดอลลาร์ต่อยูโร และระบุว่า ตราบเท่าที่สถานการณ์ในยูเครนยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง เราจะเห็นถึงแนวโน้มขาลงของค่าเงินยูโรที่อ่อนลงต่อ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์เริ่มทรงตัว และค่าเงินยูโรเริ่มรับรู้ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของสถานการณ์ยูเครน
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย
- ดัชนี Dow jones ปรับตัวลดลง -232.06 จุด หรือ -0.68% มาอยู่ที่ระดับ 34,079.12 จุด
- ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -31.39 จุด หรือ -0.72% มาอยู่ที่ระดับ 4,348.87 จุด
- ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลดลง -162.2 จุด หรือ -1.14% มาอยู่ที่ระดับ 14,009.54 จุด
- สำนักงานศุลกากรเกาหลีใต้ เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจประเทศ พุ่งขึ้น 13.1% แตะที่ 3.43 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 20 วันแรกของเดือนก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากดีมานด์ในตลาดโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ การส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับขึ้นกว่า 56% ในช่วง 20 วันแรกของเดือนก.พ. ขณะที่การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และรถยนต์ ปรับตัวขึ้นในระดับเลขสองหลัก ขณะที่การส่งโทรศัพท์มือถือลดลง 17.7% และการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง 11%
- ธนาคารยักษ์ใหญ่ของจีนหั่นดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ทั้งแบงค์ออฟไชน่า ,ธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชนา ลิมิเต็ด, ธนาคารไชน่า คอนสตรักชัน แบงก์ และอะกริคัลเจอร์รัล แบงก์ ออฟ ไชน่า ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านทั้งบ้านหลังแรกและบ้านหลังที่สอง ในเมืองกวางโจวลง 0.20% โดยคาดว่ามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกำลังประสบปัญหาเงินสดตึงตัว
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นเกือบ 3.7% เช้านี้ หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 3.36 ดอลลาร์ หรือ 3.69% แตะที่ 94.43 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้น 1.33 เหรียญ หรือ 1.42% มาอยู่ที่ระดับ 94.87 เหรียญ
- กลุ่มประเทศอาหรับผู้ผลิตน้ำมันร่วมแถลงในการประชุมอุตสาหกรรมในกรุงริยาดห์ เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย โดยระบุว่า โอเปกพลัสควรยึดตามข้อตกลงปัจจุบันในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรลต่อวันออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน โดยปฏิเสธกระแสเรียกร้องให้ผลิตน้ำมันมากขึ้นเพื่อลดราคาน้ำมัน
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย โดยปธน.ปูตินได้ประกาศในแถลงการณ์ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศรัสเซียในช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับช่วงเช้าของวันอังคารตามเวลาไทย
- ประธานาธิบดี ปูติน ส่งกำลังทหารเข้ารัฐโดเนตสก์และรัฐลูฮันสก์ ทางตะวันออกของยูเครน หลังประกาศรับรองเอกราชของรัฐทั้งสอง
- ในวันจันทร์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไบเดน และประธานาธิบดีรัสเซีย เห็นชอบในหลักการที่จะยื่นเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้รัสเซียไม่บุกยูเครน ในขณะที่ทำเนียบเครมลินออกมาเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ มีแนวโน้มจัดการประชุมร่วมกันโดยหลักการจริง แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนจัดการประชุมอย่างเป็นทางการ
- เบลารุสชี้จะยอมถอนทหารรัสเซียออกจากประเทศต่อเมื่อนาโตยอมถอยเช่นกัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังรัสเซียส่งกองกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นไปยังเบลารุส เพื่อร่วมการซ้อมรบตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. ซึ่งสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับการบุกยูเครนมากขึ้น
- สหรัฐเผยรัสเซียเล็งสังหาร-กักขังผู้คัดค้านหากบุกยูเครนสำเร็จ สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ รายงานโดยอ้างจดหมายจากทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ (UN) ว่า รัสเซียมีแผนสังหารและกักขังผู้คัดค้านในยูเครน หากรัสเซียบุกยูเครนได้สำเร็จ
- จีนดำเนินมาตรการคว่ำบาตรบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน และเรย์เธียน เทคโนโลยีส์ ของสหรัฐ หลังขายอาวุธให้ไต้หวัน
- นาย ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันตั้งแต่วันที่ 2-5 มี.ค. เพื่อเข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวันในวันที่ 3 มี.ค. และมีกำหนดการพบผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดัคเตอร์ แมนูแฟคเจอริง โค (TSMC) และบริษัทไชน่า สตีล คอร์ปด้วย อย่างไรก็ดี จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน และแสดงท่าทีไม่พอใจโดยระบุว่าการเยือนไต้หวันดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อตกลงของสหรัฐฯ ที่จะไม่สานสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน
- นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะเข้าร่วมการประชุมทางไกลร่วมกับประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ที่จัดโดยเยอรมนีในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อพยายามลดความตึงเครียดในยูเครนซึ่งเสี่ยงถูกรัสเซียบุกโจมตี
- ไต้หวันยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าประเภทอาหารจากจังหวัดฟูกูชิมะและอีก 4 จังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งบังคับใช้หลังเกิดวิกฤตการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิชิ เมื่อเดือนมี.ค. 2554 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไต้หวันระบุว่า คำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าอาหารจากจังหวัดฟูกูชิมะ, อิบารากิ, โทจิงิ, กุนมะ และชิบะ จะมีการปรับเปลี่ยนตามระดับความเสี่ยง จากเดิมที่ห้ามนำเข้าตามพื้นที่ผลิต ทั้งนี้เพราะไต้หวันต้องการแรงหนุนจากญี่ปุ่นเพื่อให้ได้เข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (TPP) ซึ่งจีนพยายามเข้าร่วมเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังให้เหตุผลว่า การผ่อนปรนคำสั่งห้ามนำเข้าดังกล่าวจะเปิดทางให้การขอเข้าร่วมในข้อตกลง TPP ของไต้หวันสะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการเจรจาข้อตกลง TPP ภายหลังจากสหรัฐถอนตัวเมื่อปี 2560 ในยุคของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,363 ราย ผู้ป่วยสะสม 526,126 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 2,749,561 ราย เสียชีวิต 35 ราย เสียชีวิตสะสม 22,691 ราย
- นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมยกเลิกการบังคับใช้ข้อจำกัดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “อยู่ร่วมกับโควิด” ที่อังกฤษหวังจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติรวดเร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ขณะที่ฮ่องกงเร่งกักตัวผู้ติดเชื้อ และยุโรปยังคงรักษาระยะห่างทางสังคมรวมถึงมีการใช้ข้อบังคับด้านวัคซีนอื่น ๆ
- มาเลเซียรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 28,825 ราย เมื่อนับถึงวันที่ 19 ก.พ. ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 3,194,848 ราย ขณะเดียวกันมีการตรวจพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 32,310 ราย
- นาย นัฟตาลี เบนเนตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลระบุว่า อิสราเอลจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศทุกคนตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป โดยผู้ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็เข้าประเทศได้
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
· นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.27 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.16 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ32.20-32.35 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและอาจอ่อนค่าลงได้จากความกังวลสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จนอาจทำให้รัฐบาลกลับไปใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดอีกครั้งได้
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 64 ขยายตัวที่ 6.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.1% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 7.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวในเกือบทุกประเภทธุรกิจ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวต่อเนื่อง จากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ
- สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 4 /2564 ขยายตัว 1.9% โดยได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว การขนส่งการค้า และการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้การบริโภคเอกชนเพิ่มขึ้น และการส่งออกที่ดีขึ้น ส่งผลให้ในปี 2564 จีดีพีทั้งปีขยายตัวได้ 1.6% ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 1.2% สำหรับ เศรษฐกิจในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5 - 4.5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในด้านต่างๆเมื่อการระบาดของโควิดลดลง อย่างไรก็ตามต้องไม่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ที่ทำให้การเจ็บป่วยมีความรุนแรง ทำให้ไทยสามารถใช้มาตรการ Test and Go ต่อไปได้ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในปี 2565 ได้มากขึ้น คาดว่าการท่องเที่ยวจะค่อยๆฟื้นตัว นักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้ประมาณ 5.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีการเข้า 4.3 แสนคน
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest , Bloomberg, CNN, CNBC