ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ยูเครน นอกจากนี้ สัญญาทองคำได้ปัจจัยบวกจากการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 16.82 เหรียญ หรือ 0.89% มาอยู่ที่ระดับ 1,905.89 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 13.1 ดอลลาร์ หรือ 0.69% ปิดที่ 1,900.7 เหรียญ และตลอดเดือนก.พ. สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นราว 5.8%
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 34.9 เซนต์ หรือ 1.45% ปิดที่ 24.366 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 2.03 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,029.02 ตันภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ซื้อสุทธิ 11.27 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 53.36 ตัน
- Goldman Sachs ชี้ว่า สถานการณ์ยกระดับที่รัสเซียสร้างขึ้น ทำให้มีความชัดเจนว่าจะเกิดความเสี่ยง Stagflation (หรือเศรษฐกิจเติบโตต่ำเงินแต่เฟ้อสูง) ต่อเศรษฐกิจโดยรวม ถูกขับเคลื่อนโดยราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปจัยหลักที่หนุนความเชื่อของเราว่า ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นในอีกกี่เดือนข้างหน้า และจะไปถึงราคาเป้าหมาย 2,150 เหรียญต่อออนซ์
- ผู้จัดการของ SPI Asset Management กล่าวว่า เกิดความกังวลอย่างยิ่งว่าช่องทางการจัดส่งของรัสเซียจะหยุดชะงักลง เนื่องด้วยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรแห่งโลกตะวันตก เห็นพ้องกันที่จะตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT ส่งผลให้ไม่สามารถทำธุรกรรมในระดับโลกได้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดของรัสเซีย รวมไปถึง น้ำมัน โลหะมีค่า และธัญพืช
- ผู้จัดการทั่วไปของ ABC Bullion กล่าวว่า มีแรงซื้อทองคำอย่างมากจากกรุงมอสโก เนื่องด้วยความกังวลว่าการแทรกแซงของรัสเซียจะไม่ถูกจำกัดอยู่ที่ยูเครน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ หลังจากชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซียสำหรับการรุกรานยูเครน ขณะที่ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย สั่งกองกำลังนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมสูงสุด
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.14 จุด หรือ 0.14% มาอยู่ที่ระดับ 96.75 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.036% มาอยู่ที่ระดับ 1.856%
- ธนาคารกลางรัสเซียเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 9.5% สู่ระดับ 20% เพื่อพยุงค่าเงินรูเบิ้ลที่กำลังอ่อนค่า
- กรณีรัสเซียถูกคว่ำบาตร ส่งผลพุ่งเป้าความสนใจต่อไปยังธนาคารกลางจีน จากการที่ (1) รัสเซียถือครองเงินหยวนเป็นสัดส่วน 13% ของเงินทุนสำรองรัสเซีย หรือคิดเป็นประมาณ 77,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) ธนาคารกลางจีน มีวงเงินธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตรา (Currency swap line) กับธนาคารกลางรัสเซีย ส่งผลให้การขายสินทรัพย์เหล่านี้จะเสริมสภาพคล่องให้กับรัสเซียอย่างเพียงพอแม้ว่าจะถูกคว่ำบาตรก็ตาม
- ทูตระดับสูงของสหภาพยุโรป ชี้ว่า ชาติตะวันตกไม่สามารถปิดกั้นเงินทุนสำรองของธนาคารกลางรัสเซียหรือจากฝั่งจีนได้ และเสริมว่า รัสเซียได้เตรียมการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยลดการถือครองเงินดอลลาร์และเพิ่มการถือครองเงินยูโรและหยวน
- ผู้ช่วยผู้อำนวยการจาก China Development Institute ชี้ว่า เงินทุนสำรองของรัสเซียในรูปของสินทรัพย์ในประเทศจีนและเงินหยวน เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัสเซียในการตอบโต้ผลกระทบจากการที่สหรัฐและยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- การเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนจบลง ไม่มีความคืบหน้า คณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครนเจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ ที่ภูมิภาคโกเมลของเบลารุส ซึ่งอยู่ที่บริเวณชายแดนเบลารุสและยูเครน ยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจา ในขณะที่การบุกยูเครนดำเนินต่อเป็นวันที่ 5
- ประธานาธิบดีรัสเซียสั่งห้ามชาวรัสเซียไม่ให้โอนเงินออกนอกประเทศ รวมถึงการชำระหนี้เงินต่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนหนี้ต่างประเทศกว่า 478,000 ล้านเหรียญมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้
- สหราชอาณาจักรประกาศแบนการทำธุรกรรมกับธนาคารกลางของรัสเซีย นับเป็นมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดล่าสุดในการตัดสถาบันทางการเงินของรัสเซียออกจากตลาดการเงินของชาติตะวันตก
- นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณากำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อเบลารุส หลังจากสนับสนุนรัสเซียที่บุกโจมตียูเครน
- รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์สิงคโปร์เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับรัสเซีย ซึ่งรวมถึงมาตรการทางธนาคารและการเงิน การควบคุมการส่งออกสินค้าที่อาจใช้เป็นอาวุธโจมตีชาวยูเครน
- เกาหลีใต้จะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการส่งออกไปยังรัสเซีย โดยสั่งห้ามการส่งออกสินค้าทางยุทธศาสตร์ รวมถึงสนับสนุนการตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT
- ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า รายได้จากการค้าระหว่างจีนกับรัสเซียไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบที่รัสเซียจะได้รับจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐและสหภาพยุโรป (EU)
- การรุกรานยูเครนของรัสเซียจุดชนวนให้เกิดจุดพลิกผันทางการเมืองในยุโรป โดยเยอรมนีกล่าวว่าจะส่งอาวุธไปยังยูเครน ขณะเดียวกันก็เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายทางทหารมากขึ้นกว่า 2% ของ GDP ในขณะที่โปแลนด์และฮังการีมีความตึงเครียดมากขึ้น เมื่อต้อนรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียและประเทศอื่นๆ ที่ถูกทำลายจากสงครามและได้กลายเป็นพื้นที่ลี้ภัยที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวยูเครนที่หลบหนีความรุนแรง
- กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสแนะนำให้ชาวฝรั่งเศสที่ไม่มีถิ่นพำนักในรัสเซีย เดินทางออกจากรัสเซียทันทีด้วยสายการบินที่ยังให้บริการอยู่ หลังจากมีการออกมาตรการจำกัดการเดินทางทางอากาศระหว่างรัสเซียและยุโรป
- กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัสเซียรวมตัวกันนับแสนคนในหลายเมืองทั่วยุโรป
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังการเจรจาหยุดยิงระหว่างคณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายจบลงโดยไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,892.60 จุด ลดลง 166.15 จุด หรือ -0.49%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,373.94 จุด ลดลง 10.71 จุด หรือ -0.24%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,751.40 จุด เพิ่มขึ้น 56.78 จุด หรือ +0.41%
- นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Allianz สาขา Munich ชี้ว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำแต่เงินเฟ้อสูง หรือ Stagflation
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหภาพยุโรปประชุมหารือเตรียมการรับมือโอกาสเกิดการหยุดกระทันหันของอุปทานพลังงาน และเตรียมมาตรการจัดหาก๊าซธรรมชาติ หลังจากรัสเซียบุกยูเครน
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือนม.ค.ร่วง 1.3% จากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นลดลง 1.3% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากภาวะชะงักงันของอุปทานเซมิคอนดักเตอร์และภาคส่วนอื่น ๆ ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.ลดลง 1.0% รายงานของกระทรวงฯระบุว่า การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการปรับตัวลงมากที่สุดถึง 17.2% เนื่องจากการแพร่ระบาดทั่วประเทศของเชื้อไวรัสโอมิครอนส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ
ข่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
- วิกฤติยูเครนส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น นำไปสู่ความต้องการสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ ทั้งนี้ หัวหน้านักกลุยทธ์จาก Royal London Asset Management ชี้ว่า มีแรงซื้อพันธบัตรป้องกันเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรเข้ามาค่อนข้างมาก และนั่นเป็นการสะท้อนถึงการเชื่อมโยงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุระดับ 95 ดอลลาร์ในวันจันทร์ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีแนวโน้มบรรเทาลง ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าการที่สหรัฐและชาติตะวันตกคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกพลังงานไปสู่ตลาด
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 4.13 ดอลลาร์ หรือ 4.5% ปิดที่ 95.72 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2557 และตลอดเดือนก.พ. สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 8.6%
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 3.06 ดอลลาร์ หรือ 3.1% ปิดที่ 100.99 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2557 และตลอดเดือนก.พ. สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 10.7%
- Goldman Sach คาดราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย และปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันเบรนท์ในหนึ่งเดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 115 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มจากคาดการณ์เดิมที่ 95 เหรียญต่อบาร์เรล พร้อมระบุว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตหลักของโลกจะปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในยุโรป พาลาเดียม นิกเกิล ข้าวสาลี และข้าวโพด
- นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ระบุว่า ความกังวลที่ก่อตัวมากขึ้นเกี่ยวกับการหยุดชะงักของอุปทานพลังงานของรัสเซีย ผลักดันราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และชี้ว่า รัสเซียอาจตอบโต้ด้วยมาตรการที่รุนแรงโดยการลดปริมาณการส่งพลังงานหรืออาจถึงขึ้นหยุดการขนส่งพลังงานไปยังยุโรป
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,420 ราย ผู้ป่วยสะสม 688,912 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 2,912,347 ราย เสียชีวิต 43 ราย เสียชีวิตสะสม 22,976 ราย
- รัฐนิวยอร์กของสหรัฐเตรียมยุติมาตรการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในโรงเรียนและสถานดูแลเด็กในวันพุธนี้ หลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างมาก
- นิวซีแลนด์ยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่บังคับให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วต้องเข้ารับการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงประเทศ โดยระบุว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทำให้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีความหมายอีกต่อไป นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าจะเร่งกระบวนการเปิดประเทศให้เร็วขึ้น ซึ่งจะเปิดทางให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้เร็วขึ้นมากกว่ากำหนดเดิมในเดือนต.ค.
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.68 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์
- ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบเบื้องต้นต่อประเทศไทย จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สิ่งแรกคือ เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งแม้ไทยจะมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี แต่ในระยะสั้นก็ได้รับผลกระทบทำให้เงินบาทผันผวน ส่วนที่สอง คือ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และส่วนที่สาม ระบบการชำระเงินของไทย ที่คาดว่าจะไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องติดตามทิศทางระบบการชำระเงินของโลกว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีที่ชาติตะวันตกจะตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) มากน้องเพียงใด คาดกนง.รอบหน้าปรับประมาณการ
- รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 65 ชะลอลงบ้าง โดยการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนปรับลดลงจากความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงจากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test&Go ชั่วคราว ขณะที่การส่งออกสินค้าปรับลดลงบ้าง หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางด้านการซื้อสินค้าและบริการ
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest , CNBC, ฺBloomberg