ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ โดยถูกกดดันจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และนักลงทุนขายสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียเปิดเผยว่า มีความคืบหน้าในการเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -22.21 เหรียญ หรือ -1.11% มาอยู่ที่ระดับ 1,972.9 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลง -6.0 เหรียญ หรือ -0.3% มาอยู่ที่ระดับ 1,976.6 เหรียญ
- สัญญาซื้อขายล่วงหน้าโลหะเงินเดือนพ.ค. ปรับตัวลดลง -33.7 เซนต์หรือ -1.3% มาอยู่ที่ระดับ 25.54 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 2.62 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,064.15 ตันภาพรวมเดือนมีนาคม ซื้อสุทธิ 35.13 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 88.49 ตัน
- ผู้จัดการของ SPI Asset Management กล่าวว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการซื้อขายทองคำที่สำคัญ แต่สิ่งที่จำกัดความเชื่อมั่นของตลาด หากสงครามไม่มีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น นั่นก็คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าที่ตลาดรับรู้
- นักวิเคราะห์จาก Fxstreets กล่าวว่า ราคาทองคำลงไปทดสอบแนวรับสำคัญต่ำกว่าระดับ 2,000 เหรียญ ขณะที่สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย โดยในระหว่างวัน ราคาทองคำปรับตัวต่ำสุดแถวบริเวณ 1,985 เหรียญ ซึ่งเป็นจุดแนวรับเดิมสู่แนวโน้มขาลงในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า
- ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท GoldSilver Central ชี้ว่า ปัจจุบัน ราคาทองคำกำลังเคลื่อนไหวในกรอบอยู่ในช่วงสะสมพลัง ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะกดดันราคาทองคำ ในขณะที่นักลงทุนยังคงรอความคืบหน้าของสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย
- หัวหน้านักวิเคราะห์จาก CMC Markets UK ชี้ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งกดดันราคาทองร่วงต่ำลง ถือเป็นจังหวะหยุดพักฐานของราคาทองคำที่ก่อนหน้านี่ ปัจจับสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครนทำให้การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคไม่สามารถใช้งานได้ และยังชี้ว่า นักลงทุนยังคงเผชิญความยากลำบากที่จะประเมินระดับราคาที่เหมาะสมของราคาทองคำ พาลาเดียม และตลาดอื่นๆ โดยที่มีปัจจัยความเสี่ยงมาจากข่าวพาดหัวรายวันที่เปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.49 จุด หรือ 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 99.0 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.049% มาอยู่ที่ระดับ 2.039%
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีรัสเซียวลาดิเมียร์ ปูติน แถลงสถานการณ์การเจรจากับยูเครนมีการพัฒนาการเชิงบวก จากข้อมูลแหล่งข่าวที่รายงานประธานาธิบดีปูติน โดยการเจรจามีขึ้นเกือบทุกวัน และประธานาธิบดีปูตินยังกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีเบลารุสในความช่วยเหลือฟื้นฟูแหล่งพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โนบิลล์
- รัสเซียเปิดฉากโจมตีทางอากาศฐานทัพยูเครน ในเมืองยาโวริฟทางตะวันตกของยูเครนใกล้ชายแดนโปแลนด์
- รัสเซียเรียกร้องให้อินเดียเพิ่มการลงทุนในภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศ พร้อมทั้งแสดงความต้องการที่จะขยายเครือข่ายการจำหน่ายของบริษัทรัสเซียออกไปยังอินเดีย
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐจะผลักดันให้สหรัฐยุติความสัมพันธ์ทางการค้าทั่วไปกับรัสเซีย จากผลพวงของกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครน เพื่อเปิดทางไปสู่การขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากรัสเซีย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสรายหนึ่งของคณะบริหารสหรัฐระบุว่า การถอดสถานะ “ความสัมพันธ์ทางการค้าทั่วไปถาวร” ของรัสเซียนั้นต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสเสียก่อน โดยทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างก็แสดงการสนับสนุนความเคลื่อนไหวดังกล่าว
- ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้ส่งสารแสดงความยินดีไปยังนายยุน ซอกยอล ที่คว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้
- นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า สถานการณ์ในยูเครนยังน่ากังวล พร้อมย้ำสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการสนับสนุนการเจรจาหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซีย นอกจากนี้จีนยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ซึ่งจีนมองว่าขัดต่อกฎหมาย และเรียกร้องให้หาทางเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตนี้
- รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจมอบเงินจำนวน 8.8 พันล้านเยน (75.3 ล้านดอลลาร์) จากทุนสำรองปีงบประมาณ 2564 เพื่อมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน หลังจากถูกรัสเซียบุกโจมตีเมื่อช่วงปลายเดือนก.พ. ด้านนายฮิโรคาสุ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวจะรวมถึงอาหาร น้ำ และที่พักพิงสำหรับผู้ประสบภัยในยูเครนและผู้ลี้ภัยสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
- รัฐบาลญี่ปุ่นจะอายัดทรัพย์สินธนาคารเบลารุส 3 แห่งที่ดำเนินการในญี่ปุ่นในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยเป็นมาตรการคว่ำบาตรเบลารุสชุดใหม่ โทษฐานที่ช่วยรัสเซียบุกยูเครน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สหภาพยุโรป (EU) ตัดสินใจตัดธนาคาร 3 แห่งออกจากระบบ SWIFT ได้แก่ ธนาคารเบลากรอพรอม (Belagroprombank), ธนาคารดาบราบิต (Bank Dabrabyt) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐเบลารุส (Development Bank of the Republic of Belarus) ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารของประเทศอื่น ๆ ได้อย่างปลอดภัย
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ โดยยังคงถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน ขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,944.19 จุด ลดลง 229.88 จุด หรือ -0.69%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,204.31 จุด ลดลง 55.21 จุด หรือ -1.30%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,843.81 จุด ลดลง 286.16 จุด หรือ -2.18%
- นักวิเคราะห์จาก Wells Fargo ชี้ว่า เงินเฟ้ออาจจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้บริโภค แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กดดันกำลังซื้อผู้บริโภคให้ชะลอตัวลง โดยเฉพาะการซื้อสินค้าคงทน
- สำนักงานสถิติเยอรมนีเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือนก.พ. ปรับตัวขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังปรับตัวขึ้นช้ากว่าในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2535 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 5.1% เทียบรายปี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และหากเทียบเป็นรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 0.9% สอดคล้องกับระดับคาดการณ์
- หุ้นจีนซึ่งซื้อขายในตลาดสหรัฐเผชิญการเทขาย ร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่ตุลาคมปี 2008 จากดัชนี Nasdaq Golden Dragon China Index ซึ่งประกอบด้วยบริษัทจีนที่จดทะเบียน ADR หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ในสหรัฐ ร่วงลงกว่า 10%
- นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า จีนจะเดินหน้าปรับกระบวนการรับมือกับโควิด-19 ให้อิงตามหลักวิทยาศาสตร์และมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยจะประเมินจากสถานการณ์การแพร่ระบาด, การพัฒนาใหม่ ๆ และลักษณะของเชื้อไวรัส นอกจากนี้นายหลี่ระบุในการแถลงข่าวว่า จีนจะป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเพื่อปกป้องชีวิต, สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชน เพื่อให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติ พร้อมสร้างหลักประกันถึงความมั่นคงของภาคอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน
- นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า รัฐบาลจีนตั้งเป้าสร้างตำแหน่งงานใหม่ให้ได้ถึง 13 ล้านตำแหน่งในปีนี้ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะชะงักงันด้านอุปทานน้ำมัน ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 3.31 ดอลลาร์ หรือ 3.1% ปิดที่ 109.33 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 5.5% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 3.34 ดอลลาร์ หรือ 3.1% ปิดที่ 112.67 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 4.6% ในรอบสัปดาห์นี้
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก UBS ชี้ว่า ปัจจุบัน เรากำลังจับตามองว่าจะมีปัจจัยใดที่จะลดทอนภาวะอุปทานน้ำมันชะงักงันที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันนี้ (Supply shock) ซึ่งเรามองหาปัจจัยดังต่อไปนี้
(1) การปล่อยน้ำมันออกจากคลังน้ำมันสำรองเชิงกลยุทธ์ ออกมาสู่ตลาดมากขึ้น
(2) การผลิตที่มากขึ้นของเชลล์ออยล์ในสหรัฐ
(3) ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทำการผลิตน้ำมันมากขึ้น
(4) การยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลาให้กลับมาส่งออกน้ำมันเข้าตลาดโลก
(5) การเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันในระดับสูง จนกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำลงและความต้องการใช้น้ำมันลดลง
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ ลดลงเล็กน้อย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,130 ราย ผู้ป่วยสะสม 983,520 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 3,206,955 ราย เสียชีวิต 69 ราย เสียชีวิตสะสม 23,778 ราย
- ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนซึ่งมีการกลายพันธุ์ในฮ่องกงและกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ BA.2.2 นั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นอย่างมาก และขณะนี้ได้มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ BA.2.2 ในออสเตรเลียแล้ว รายงานระบุว่า ฮ่องกงได้รับผลกระทบจากไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.2 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.พ.ปีนี้ โดยทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเพียง 224 ราย เป็น 2,287 รายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า โดยแนวโน้มผันผวนในกรอบกว้างและอาจอ่อนค่าลงต่อได้บ้าง จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากสงคราม และจับตาเฟดเคาะขึ้นดอกเบี้ย 16 มี.ค.นี้
- นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม. รังสิต แสดงความเห็นว่า ผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครนทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีได้รับความเสียหาย และ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็นสองประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ทำให้ประเทศนำเข้าข้าวสาลีอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ โมร็อกโก และเลบานอน มองหาประเทศส่งออกมาแทนที่รัสเซียและยูเครน เนื่องจากสงครามส่งผลให้ผลผลิตติดค้างในยูเครน และยังกล่าวอีกว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหยุดสงครามไม่ได้แต่จะสร้างปัญหา Stagflation ในหลายประเทศ ด้านรัสเซียซึ่งเป็นฝ่ายถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรนั้น คาดว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีปีนี้จะติดลบเป็นตัวเลขสองหลัก โดยสถาบันการเงินชั้นนำของโลกรวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินว่าจะติดลบราว 12-18%
- ธนาคารกรุงไทย ประเมินผลกระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนหลักต่อเศรษฐกิจไทยว่า หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อหนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงเกิน 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน มี.ค. เพียง 1 เดือน ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวใกล้เคียงกับมุมมองเดิมที่ 3.8% และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ หนุนราคาน้ำมันเพิ่มสูงต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. อาจทำให้เศรษฐกิจปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 3% แต่หากลากยาวถึง 6 เดือนหลังจากนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 3% ค่อนข้างสูง
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest , CNBC, Guardian, Bloomberg