ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่สองในวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความคาดหวังที่ว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีความคืบหน้า นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -27.64 เหรียญ หรือ -1.4% มาอยู่ที่ระดับ 1,946.53 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง -24.2 เหรียญ หรือ -1.22% ปิดที่ 1,960.8 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง -86.2 เซนต์ หรือ -3.3% ปิดที่ 25.298 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 1,064.15 ตันภาพรวมเดือนมีนาคม ซื้อสุทธิ 35.13 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 88.49 ตัน
- นักกลยุทธ์ของ DailyFX กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เข้ากดดันทองคำ นอกจากผลตอบแทนอัตราพันธบัตรสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้นแล้ว ตลาดยังคงจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันพุธ ซึ่งเฟดอาจเริ่มตึงเข้มนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบสำหรับทองคำ
- ผู้อำนวยการที่ปรึกษาองค์กร AirGuide มองว่า หากประเด็นความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียไม่เกิดเหตุการณ์ใหม่เพิ่มเติม เราจะเห็นราคาทองคำไปสู่ระดับ 1,900 เหรียญในสัปดาห์ต่อๆไป
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank กล่าวว่า ราคาทองคำร่วงลงสู่ระดับ 1,965 เหรียญในเช้าวันจันทร์ หลังจากมีสัญญาณเชิงบวกจากการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งก่อให้เกิดความหวังที่เพิ่มขึ้นว่าสงครามใกล้จะยุติลง นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 มี.ค. ซึ่งไม่คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกดดันทองคำได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดหวังว่าสงครามในยูเครนน่าจะยุติลง จึงทำให้ความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองลดลง รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนทองคำเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจในขณะนี้
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในช่วงเปิดตลาดยุโรปเมื่อวานนี้ แต่ยังคงใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีเมื่อเทียบกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ท่ามกลางนักลงทุนให้ความสนใจกับการประชุมของเฟดในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามในยูเครนกระตุ้นให้ตลาดขายออกในวันศุกร์ ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นในวันจันทร์ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขยับกลับลงมา
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.02 จุด หรือ -0.02% มาอยู่ที่ระดับ 99.1 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.142% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2562 สูงสุดในรอบ 2 ปี
- การประชุมนโยบายการเงินของเฟดจะเริ่มในวันอังคารที่ 15 มี.ค. และจะมีการแถลงผลการประชุมในวันพุธที่ 16 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 17 มี.ค.ตามเวลาไทย
- รัสเซียประกาศจะใช้เงินหยวนและทองคำเป็น 1 ในสกุลเงินสำรองหลักของรัสเซีย พร้อมย้ำว่าเงินหยวนของจีนนั้นมีคุณสมบัติที่ดีมากที่จะกลายเป็น Reserved หลักของรัสเซียในอนาคต
- นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC กล่าวว่า ปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์มีราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น (Overvalued) แต่ราคาจะยังคงสูงต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยบวกจากช่วงเวลาที่ยังคงมีความไม่แน่นอนต่างๆ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นในระยะสั้น แต่เป็นการการพุ่งขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดย HSBC คาดว่า ค่าเงินดอลลาร์จะยังคงแข็งแกร่งในระยะสั้น
- นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC กล่าวว่า ในกรณีหากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รุนแรงขึ้น สกุลเงินที่เคยแข็งแกร่งของประเทศที่มีการผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาจจะกลับตัวเป็นขาลง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินเยน หรือค่าเงินยูโร
- นักเศรษฐศาสตร์ ING กล่าวว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนแอส่งผลกระทบให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครนจะไม่ยกระดับความรุนแรงขึ้น แต่ทุกสัญญาณล้วนชี้ว่า ค่าเงินดอลลาร์จะปรับขึ้นแตะระดับ 100 จุดในสัปดาห์นี้
- นักเศรษฐศาสตร์ ING ชี้ว่า ธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนจีนต่ำกว่าที่ ING ทำแบบจำลองคาดการณ์ไว้ เป็นการที่ธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณพร้อมจะให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเพื่อเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 15-16 มี.ค.นี้ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และยังเร่งตัวขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- การเจรจาสันติภาพรอบที่ 4 ระหว่างยูเครนและรัสเซียเมื่อวานนี้ได้เสร็จสิ้นลงโดยยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้ทั้งสองฝ่ายพักการเจรจาชั่วคราว ก่อนที่จะเริ่มการเจรจาครั้งใหม่ในวันนี้
- เจ้าหน้าที่จากสหรัฐและเจ้าหน้าที่จากจีนเข้าพบเจรจากันอย่างยาวนานกว่า 7 ชั่วโมงในประเด็นต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ประเด็นรัสเซีย-ยูเครน โดยทางสหรัฐชี้ว่า มีความกังวลว่าจีนจะให้การสนับสนุนรัสเซีย
- นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ประกาศเตือนว่า รัสเซียอาจใช้อาวุธเคมีหลังเข้าบุกโจมตียูเครน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถือเป็นอาชญากรรมสงคราม
- ยูเครนยังคงพยายามเจรจาเพื่อยุติการสู้รบ และการถอนกำลังทหารรัสเซียออก รวมถึงการรับประกันความปลอดภัยจากรัสเซีย
- นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ประชุมกับนายหยาง เจียฉือ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการต่างประเทศของคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยระบุในแถลงการณ์ว่า “ทั้งสองฝ่ายจะหารือในเรื่องความพยายามในการจัดการเรื่องการแข่งขันระหว่างสองประเทศ และหารือถึงผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีต่อความมั่นคงในภูมิภาคและระดับโลก”
- กระทรวงการคลังของรัสเซียได้อนุมัติกระบวนการชำระหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นการชั่วคราว แต่เตือนว่าการชำระหนี้อาจต้องชำระเป็นเงินรูเบิล หากมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัสเซีย
- ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี หารือวิกฤตยูเครนกับนายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โดยทั้งสองประเทศพยายามผลักดันข้อตกลงหยุดยิงท่ามกลางความขัดแย้งหลังรัสเซียบุกโจมตียูเครนเข้าสู่วันที่ 19 วัน
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยในวันจันทร์ ขณะที่ดัชนี Nasdaq ร่วงลงกว่า 2% เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ก่อนที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐจะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,945.24 จุด เพิ่มขึ้น 1.05 จุด หรือ +0.003%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,173.11 จุด ลดลง 31.20 จุด หรือ -0.74% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,581.22 จุด ลดลง 262.59 จุด หรือ -2.04%
- ทางการจีนสั่งล็อคดาวน์อาจส่งผลกระทบกว่าครึ่งต่อเศรษฐกิจจีน ทางการจีนสั่งล็อคดาวน์ประชาชนกว่า 17.5 ล้านคนในเมืองเสิ่นเจิ้นหลังมีระบาดของโควิดพึ่งสูง ทั้งนี้ผลกระทบจากการล็อคดาวน์ศูนย์กลางทางเทคโนโลยีอย่างเสิ่นเจิ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
- บริษัทโนมูระกล่าวว่า “เศรษฐกิจของจีนอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอีกครั้ง” พร้อมเสริมว่า สถานการณ์โควิดในจีนย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
- นักเศรษฐศาสตร์จาก EconPol Europe ประมาณการว่า หากเยอรมันยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของเยอรมันถึง 3%
- ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตไอโฟนให้กับบริษัทแอปเปิล อิงค์ ต้องระงับการเดินสายการผลิตในโรงงานที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นแหล่งผลิตโทรศัพท์ไอโฟน ตามคำสั่งล็อกดาวน์ เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ตามคำสั่งของรัฐบาลเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีน
- รัฐบาลญี่ปุ่นขอความร่วมมือให้ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีไม่ดำเนินธุรกรรมสินทรัพย์คริปโทฯ ของรัสเซียและเบลารุสที่ถูกอายัดทรัพย์สินตามมาตรการคว่ำบาตร
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ในวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่จีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 6.32 ดอลลาร์ หรือ 5.8% ปิดที่ 103.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 5.77 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 106.90 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2565
- นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังผลักดันการดึงซาอุดีอาระเบียเข้ามาร่วมแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานปัจจุบัน หลังมีรายงานว่านายจอห์นสันจะหาทางโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน โดยนายจอห์นสันจะเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียภายในสัปดาห์นี้
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,742 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,003,262 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 3,206,955 ราย เสียชีวิต 70 ราย เสียชีวิตสะสม 23,848 ราย
- จีนพบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศปีนี้ สูงกว่ายอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดของปี 2564 เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในหลายพื้นที่ ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ไปจนถึงเซินเจิ้น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) แถลงว่า จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจำนวน 1,436 รายในวันจันทร์ ส่งผลทำให้ยอดรวมแตะกว่า 9,000 ราย เมื่อเทียบระดับของปี 2564 ที่ 8,378 ราย
- ฝรั่งเศสจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสที่ 4 ให้ประชาชนกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นแล้วหนึ่งโดส เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า แม้ว่าเงินบาทมีโอกาสจะอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงได้ และเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัว sideways หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการเจรจาเพื่อยุติสงคราม ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดไม่ได้เร่งเทขายสินทรัพย์เสี่ยงรุนแรง แม้การเจรจาล่าสุดจะยังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มอาจจะยืดเยื้อออกไปอีก ได้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกให้ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวสาลีที่มีอัตราการขยายตัวของราคาพุ่งสูงอย่างมากสอดคล้องไปตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งบทบาทของรัสเซียและยูเครนที่เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ซึ่งรวมครองสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีราว 28.5% ของปริมาณการส่งออกข้าวสาลีโลก จึงมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของราคาข้าวสาลีในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest , CNBC, Bloomberg