ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 20 ดอลลาร์ในคืนวันพุธ ตลาดทองคำนิวยอร์กปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะแถลงมติการประชุม แต่สามารถดีดกลับได้หลังจากคณะกรรมการเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นไปตามที่ตลาดคาด
- ราคาทองคำตลาดโลก เช้านี้ ปรับตัวขึ้น 7.95 เหรียญ หรือ 0.41% มาอยู่ที่ระดับ 1,925.77 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ปิดปรับตัวลดลง -20.5 เหรียญ หรือ -1.06% ปิดที่ 1,909.2 เหรียญ ในขณะที่เช้านี้ ปรับตัวขึ้น 7.2 เหรียญ หรือ 0.38% มาอยู่ที่ระดับ 1,926.9 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ปิดปรับตัวลดลง -44.8 เซนต์ หรือ -1.78% ปิดที่ 24.71 เหรียญ ในขณะที่เช้านี้ ปรับตัวขึ้น 15.7 เซนต์หรือ 0.63% มาอยู่ที่ระดับ 25.093 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 8.7 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,070.53 ตันภาพรวมเดือนมีนาคม ซื้อสุทธิ 41.51 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 94.87 ตัน
- นักยุทธศาสตร์จาก Commerzbank กล่าวว่า ราคาทองคำยังอยู่ในช่วงขาลง ความสนใจเริ่มหันไปสู่การการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หากนายเจอโรม พาวเวลล์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในอนาคต ส่งผลให้ราคาทองคำปรับลดลงกว่าเดิมอีกได้
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- เฟดอนุมัติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% และส่งสัญญาณพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งในปีนี้ ในทุกการประชุมที่เหลือในปี ซึ่งอนุมัติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ ณ สิ้นปี ของสมาชิดอยู่ที่ระดับ 1.90%
- สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ โดยคาดการณ์ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้น 4.3%, 2.7%, 2.3% ในปี 2022, 2023 ,2024 ตามลำดับ เพิ่มจากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.6%, 2.3% และ 2.1% ตามลำดับ
- สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือ การเติบโต 2.8% ในปี 2022 ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่การเติบโต 4.0%
- ประธานเฟด พาวเวลล์ กล่าว จะสามารถสรุปรายละเอียดการลดขนาดงบดุลสหรัฐในเดือนพฤษภาคมนี้ และส่งสัญญาณว่า การลดขนาดงบดุลจะมีคววามคล้ายกับที่เฟดเคยดำเนินการในช่วงปี 2017-2019 แต่การขนาดงบดุลจะมีความรวดเร็วกว่าครั้งก่อน
- ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสตามที่คาด และคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2% ภายในสิ้นปีนี้
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.52 จุด หรือ -0.53% มาอยู่ที่ระดับ 98.48 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.057% มาอยู่ที่ระดับ 2.192%
- ธนาคาร ABN AMRO คาดการณ์ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 7 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.75%-2.00% ในสิ้นปี จากการที่คาดว่าเฟดจะให้น้ำหนักกับปัจจัยความเสี่ยงเงินเฟ้อมากกว่าความเสี่ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ธนาคาร ABN AMRO คาดการณ์ เฟดจะเริ่มลดขนาดงบดุลธนาคารดลางในเดือนพฤษภาคม โดยเริ่มลดขนาดงบดุลด้วยอัตรา 15,000 เหรียญต่อเดือน และจะพุ่งขึ้นไปถึงการลดอัตรา 100,000 ล้านเหรียญต่อเดือน ในเดือนกันยายนปีนี้ ซึ่งเป็นระดับความเร็วสูงสุดที่เฟดสามารถลดขนาดงบดุลได้
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวว่า “การเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครน - รัสเซีย ดูมีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่จำเป็นต้องใช้เวลามากกว่านี้” ขณะที่ เจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเครนกล่าวว่า “การเจรจากับรัสเซียเป็นเรื่องยากมาก แต่ก็มีที่ว่างสำหรับประนีประนอมอย่างแน่นอน” สะท้อนทิศทางภาวะสงครามเป็นไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้นตามที่นักลงทุนคาดหวังไว้
- นายปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุว่า ชาติตะวันตกจะไม่ได้ตามที่ต้องการในความพยายามที่จะกำจัดรัสเซียออกไป ทั้งนี้ รัสเซียพร้อมเจรจาหาจุดตรงกลางระหว่างยูเครน แต่รัสเซียก็ต้องการเป้าหมายเรื่องการทหาร ซึ่งกำลังเป็นไปตามแผน
- ปริมาณการส่งก๊าซไปยังยุโรปผ่านทางท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 (Nord Stream 1) ยังคงทรงตัว ขณะที่ปริมาณการส่งก๊าซผ่านทางยูเครนลดลงพุธที่ 16 มี.ค. หลังจากที่ท่อส่งก๊าซยามาล-ยุโรป จากเยอรมนีไปยังโปแลนด์นั้นยังคงถูกระงับเป็นวันที่ 2
- รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เปิดเผยว่า สวิตเซอร์แลนด์จะยกระดับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเบลารุส โดยอ้างว่าเบลารุสช่วยสนับสนุนรัสเซียในการรุกรานยูเครน ทั้งนี้ การคว่ำบาตรดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ผ่านมา โดยจะเน้นที่การคว่ำบาตรทางการเงินและการค้า และรวมไปถึงการห้ามส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ซึ่งใช้ได้ทั้งวัตถุประสงค์ด้านการทหารและด้านพลเรือน
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 500 จุดในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,063.10 จุด เพิ่มขึ้น 518.76 จุด หรือ +1.55%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,357.86 จุด เพิ่มขึ้น 95.41 จุด หรือ + 2.24% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,436.55 จุด เพิ่มขึ้น 487.93 จุด หรือ +3.77%
- ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือนก.พ.สูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าดีดตัวขึ้น และเพิ่มความเปราะบางต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
- นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมเริ่มใช้แผนยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติฉบับใหม่ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียยังคงมีผลให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- นักวิเคราะห์จาก Citi ประมาณการว่า การระบาดของโควิด-19 ในจีนล่าสุดจะส่งผลกระทบให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 1 ลดลง 0.5 -0.8% โดยภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วน 16.7% เศรษฐกิจจีน
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics เตือนภาคการบริโภคสหรัฐอาจชะลอตัวลงต่อไป จากการที่รายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 จากการที่รัฐบาลถอนนโยบายกระตุ้นทางการคลัง , ราคาสินค้าทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้น การเติบโตของการบริโภคหลังหักเงินเฟ้อจะยังคงชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะตอนนี้ที่อัตราการออมเงินต่ำลงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างพวกสินค้าคงทน ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเริ่มใช้นโยบการเงินเข้มงวดซ้ำเติม
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.40 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 95.04 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.89 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 98.02 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงาน สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 บาร์เรล ช่วยลดความกังวลว่าปริมาณน้ำมันสำรองในสหรัฐจะอยู่ในระดับต่ำ
- ประธานสมาคม Lipow Oil Associates ชี้ว่า กลุ่มโรงกลั่นสามารถรักษาระดับการใช้กำลังการผลิตในระดับสูงได้ จากการที่การกลั่นมีอัตรากำไรที่ดี และคาดว่าจะสามารถส่งออกน้ำมันดีเซลได้จำนวนมากไปยังตลาด เพื่อชดเชยส่วนที่หายไปของรัสเซีย
- สำนักงานพลังงานสากล(IEA) ชี้ว่า ตลาดน้ำมันอาจสูญเสียอุปทานน้ำมันกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในส่วนของน้ำมันรัสเซีย ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งอุปทานลดลงมากกว่าอุปสงค์ที่จะลดลง ซึ่งคาดว่าอุปสงค์จะลดลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวพุ่งสูงขึ้น
- นักกลยุทธ์จาก UBS คาด ราคาน้ำมันอาจะปรับสูงขึ้นถึง 125 เหรียญต่อบาร์เรลภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่จะค่อยๆปรับลดลงสู่ระดับ 105 เหรียญต่อบาร์เรลในสิ้นปี โดยให้เหตุผลว่า การผลิตและการส่งออกน้ำมันของรัสเซียจะยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรและการเลือกนำเข้าน้ำมันของชาติต่างๆ ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันโลกยังคงตึงตัวต่อไป ซึ่งคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นในครึ่งหลังของเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าอุปสงค์น้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับความต้องการใช้น้ำมัน 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,456 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,052,663 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 3,256,356 ราย เสียชีวิต 77 ราย เสียชีวิตสะสม 23,995 ราย
- คณะกรรมาธิการสุขภาพแห่งชาติของจีน รายงาน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 1,860 คน ลดลงจากวานนี้ ที่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 3,507 คน ส่งผลให้จีนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 1,000 คน เป็นวันที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่กว่า 122,000 คนและมีผู้เสียชีวิต 4,636 คน
- ฮ่องกงยังคงพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10,000 คนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่กว่า 760,000 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และประกาศเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งคณะผู้บริหาร ออกไปอีกครั้ง จากกำหนดการณ์เดิม ซึ่งถูกเลื่อนจากวันที่ 27 มีนาคม ออกไปเป็นวันที่ 8 พฤษภาคม
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.45 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 65 ลงเหลือ 3.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% โดยประเมินว่า ความไม่แน่นอนต่อภาพแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย และปรับประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ยจากที่เคยคาดไว้ในปี 65 ที่ 2.3% เพิ่มเป็น 4.2% จากต้นทุนราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ประเมิน ทุกๆ 10% ของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลเพิ่มเติมประมาณ 0.3%-0.5% ของ GDP หรือเทียบเท่ากับการนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนถึง 1 – 1.6 ล้านคน
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest , Bloomberg, Guardian, Kitco