ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,940 ดอลลาร์ในวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -33.7 เหรียญ หรือ -1.72% มาอยู่ที่ระดับ 1,923.36 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง -14.4 เหรียญ หรือ -0.74% ปิดที่ 1,939.8 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง -41.9 เซนต์ หรือ -1.64% ปิดที่ 25.196 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 1,093.18 ตันภาพรวมเดือนมีนาคม ซื้อสุทธิ 64.16 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 117.52 ตัน
- นักวิเคราะห์อาวุโสจาก OANDA กล่าวว่า ราคาทองคำปรับลดลง หลังจากที่ปรับขึ้นในวันศุกร์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำ
- นักวิเคราะห์จาก Commerzbank analysts ประเมินว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะยังคงปรับตัวสูงขึ้น นำไปสู่การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง เนื่องจากตลาดมีความคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้น ในขณะที่มองว่าราคาทองคำจะสามารถทรงตัวได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จากนักลงทุนในกองทุนทองคำ SPDR ยังคงเป็นแรงหนุน
- นักวิเคราะห์จาก Fxstreet ระบุว่า ราคาทองคำเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการปรับลดลงเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยทรงตัวแถวแนวรับสำคัญที่ระดับ 1,935 เหรียญ ซึ่งหากราคาทองคำหลุดลงไป จะเข้าสู่ระดับต่ำสุดที่บริเวณ 1,910 เหรียญในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า และราคาทองคำอาจต้องเผชิญแนวรับสำคัญที่ระดับ 1,895 เหรียญ
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปีต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2006 ที่อัตรา 2.55% และ 2.56% ตามลำดับ เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ในช่วงระยะเวลาสั้น สร้างความกังวลว่าเป็นการส่งสัญญาณการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.27 จุด หรือ 0.27% มาอยู่ที่ระดับ 99.06 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.011% มาอยู่ที่ระดับ 2.466%
- ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดมีกังวลในความเสี่ยงลดลงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาซานฟรานซิสโก แมรี ดาลี ชี้ว่า เธอต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.5% เป็นอย่างน้อย โดยให้เหตุผลว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในฉากทัศน์(Scenario) ที่สูงที่สุดที่เธอวางไว้ และระบุว่า อัตาดอกเบี้ยที่แท้จริง 0.50% หมายถึง อัตราดอกเบี้ยทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.50% (คาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวที่ 2.0%)
- อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเพิ่มความคาดหวังการปรับขึ้นดอกเบี้ย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของญี่ปุ่นปรับขึ้นทะลุระดับ 0.25% แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ จะเข้าแทรกแซงโดยการประกาศเข้าซื้อพันธบัตรไม่จำกัดมูลค่าใน 1 วัน ดำเนินการทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ไม่เพียงพอที่จะหยุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้นทะลุกรอบที่วางไว้ได้
- นักวิเคราะห์หลายคน มองว่า ธนาคารกลางจีนอาจจะปรับเปลี่ยนลดการใช้เครื่องมือปรับลดอัตราส่วนเงินทุนสำรองธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวมีประสิทธิภาพน้อยลงในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญในปัจจุับน และหันไปใช้เครื่องมืออื่น เช่น การให้กู้ยืมแบบเฉพาะเจาะจงรายอุตสาหกรรม และเครื่องมือควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง แทน
- นักเศรษศาสตร์จาก Danske Bank ปรับประมาณการค่าเงินยูโรปอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.05 ดอลลาร์ต่อยูโรในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ลดลงจากเดิมที่ 1.08 ดอลลาร์ต่อยูโร และมองว่าเหล่าบรรดาธนาคารกลางจะเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อของโลกที่ปรับสูงขึ้น แม้ว่าภาคการผลิตทั่วโลกจะชะลอตัวก็ตาม
- นักเศรษศาสตร์จาก Danske Bank ประเมิน ยังมีโอกาสที่ค่าเงินยูโรดอลลาร์แข็งค่าได้ถึงระดับ 1.20 ดอลลาร์ต่อยูโร โดยมีแรงหนุนจาก (1)จีนเริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกครั้ง และ (2) การลงทุนทั่วโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณชัดมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- ยูเครนเตรียมพร้อมการเจรจาแบบพบหน้ากับรัสเซียในวันนี้ และจะจัดการเจรจาขึ้นในประเทศตุรกี
- สำนักงาน Financial Times รายงานสัญญาณความคืบหน้าการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยระบุถึงร่างเอกสารการพักรบว่าในเอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงข้อเรียกร้อง 3 อย่างของรัสเซีย
- ในขณะที่ยูเครนระงับการอพยพจากความกังวลด้านความปลอดภัย หลังเจ้าหน้าที่ของยูเครนกล่าวอ้างว่า กองทัพรัสเซียกำลังวางแผนจู่โจมเส้นทางการอพยพ
- รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต ออกมายืนกรานว่า รัสเซียจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของโอเปคพลัสเสมอไป
- ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องให้ชาติตะวันตกส่งรถถัง, เครื่องบิน และขีปนาวุธให้ยูเครน เพื่อสกัดกองกำลังรัสเซีย ขณะที่รัฐบาลยูเครนระบุว่า กองกำลังรัสเซียพุ่งเป้าโจมตีคลังเชื้อเพลิงและคลังสำรองอาหารของประเทศ
- คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือประกาศว่า เกาหลีเหนือจะเดินหน้าพัฒนา “ขีดความสามารถด้านการโจมตีระดับเหนือชั้น” ซึ่งไม่มีอะไรสามารถแลกได้ โดยนายคิมระบุเพิ่มเติมว่าขีปนาวุธ ICBM จะช่วยขัดขวางการเคลื่อนไหวทางทหารจากสหรัฐ และในทางเทคนิคแล้ว สหรัฐยังคงอยู่ระหว่างการทำสงครามกับเกาหลีเหนือ หลังสงครามเกาหลีปี 2493 – 2496 สิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญาสงบศึก ไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพ
- ญี่ปุ่นเตรียมแก้ไขกฎหมายปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรทางการเงินของชาติตะวันตกด้วยสินทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซี หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน
- เจ้าหน้าที่ไต้หวันมองว่า สงครามในยูเครนซึ่งส่งผลให้รัสเซียถูกกีดกันออกจากระบบสกุลเงินโลก อาจกลายเป็นโอกาสสำหรับสกุลเงินหยวนของจีน ในการแข่งขันกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ รัสเซียแสดงความไว้ใจให้จีนช่วยคลี่คลายผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร และจะใช้เงินหยวนที่มีในคลังสำรองเงินตราต่างประเทศ หลังถูกคว่ำบาตรไม่ให้เข้าถึงเงินสำรองสกุลดอลลาร์สหรัฐและยูโร ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวัน ระบุว่า จีนต้องการหาทางขยายอิทธิพลเหนือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และสงครามก็อาจมีส่วนเร่งการใช้เงินหยวน ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายโดยใช้เงินหยวน หรือการออกธนบัตรใหม่ก็ตาม นี่คือโอกาสที่จีนต้องคว้าเอาไว้
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1% ขานรับแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นเทสลาที่พุ่งขึ้นกว่า 8% ขณะที่นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2564 และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในสัปดาห์นี้
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,955.89 จุด เพิ่มขึ้น 94.65 จุด หรือ +0.27%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,575.52 จุด เพิ่มขึ้น 32.46 จุด หรือ +0.71% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,354.90 จุด เพิ่มขึ้น 185.60 จุด หรือ +1.31%
- ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดนเสนอแผนงบประมาณปี 2023 โดยเสนอแผนจัดเก็บภาษีมากขึ้นกับกับผู้ร่ำรวยและภาษีนิติบุคคล แต่ปรับเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคง และด้านยุติธรรมมากขึ้น และทิศทางงบประมาณได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์จากประเด็นโควิด-19 และเปลี่ยนไปเป็นด้านการสนับสนุนนาโต และการลดอัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศ
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันจันทร์ หลังจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง -7.94 ดอลลาร์ หรือ -7% ปิดที่ 105.96 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ดิ่งลง -8.17 ดอลลาร์ หรือ -6.8% ปิดที่ 112.48 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ราคาน้ำมันได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้เนื่องจากโควิด-19 ระบาดในประเทศจีน และความหวังว่าอิหร่านจะสามารถช่วยให้ตลาดพลังงานทั่วโลกเอาชนะวิกฤติการขาดแคลนอุปทานได้ในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก FxStreet ตั้งข้อสังเกตว่า การที่กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน โจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย และวิกฤตสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ยังคงทำให้นักลงทุนน้ำมันมีความหวังอยู่
- น้ำมันร่วงลงกว่า 7% จากความกังวลการล็อคดาวน์ในประเทศจีน ซึ่งจีนเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศประมาณ 15 ล้านบาร์เรลต่อวันและนำเข้าถึง 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ปริมาณการส่งออกน้ำมันของสหรัฐอเมริกาปรับตัวสูงขึ้น หลังจากรัสเซียบุกยูเครน และน้ำมันดิบที่ใช้ในประเทศซึ่งปกติจะเก็บที่คลังเก็บน้ำมันเมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ถูกทดแทนนำไปส่งออกน้ำมันแทน
- นายโรเบิร์ต มอลลีย์ เจ้าหน้าที่ทูตพิเศษของสหรัฐประจำอิหร่านไม่มั่นใจว่าสหรัฐและอิหร่านจะสามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ได้ในระเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า ความล้มเหลวของความพยายามในการฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน อาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดสงครามระดับภูมิภาค หรือนำไปสู่การคว่ำบาตรที่รุนแรงจากชาติตะวันตก และจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นด้วย
- หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Fujitomi Securities ชี้ว่า ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์การโจมตีคลังน้ำมันของซาอุดิอารเบียโดยกลุ่มกบฎฮูตี และคาดว่าตลาดน้ำมันจะเป็นขาขึ้น เมื่อการประชุมของกลุ่มโอเปคพลัสในวันพฤหัสนี้ จะเปิดเผยแผนเพิ่มโควตากำลลังการผลิตน้ำมันอีก 432,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งแผนดังกล่าว ไม่ได้เพิ่มความเร็วในการผลิตน้ำมันไปมากไปกว่าช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลต่อมุมมองว่า โอเปคพลัสไม่ช่วยทำให้ตลาดน้ำมันคลายความตึงตัวของอุปทานมากนัก
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,678 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,351,963 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 3,575,398 ราย เสียชีวิต 78 ราย เสียชีวิตสะสม 24,958 ราย
- นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุความคืบหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 พบว่า คนที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 นั้นจะมีปริมาณไวรัสในช่องคอ มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ถึง 2 เท่า จึงเป็นหลักฐานอธิบายปรากฏการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญการกลับมาระบาดซ้ำมากขึ้นของโอมิครอน BA.2 ซึ่งตอนนี้เป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว
- บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าประกาศว่า ยาแอนติบอดี้ “เอวูเชลด์” (Evusheld) ของบริษัทได้รับการอนุมัติให้ใช้กับประชาชนทั่วไปในสหภาพยุโรป (EU) ได้แล้ว หลังจากผลการทดลองในเฟสที่ 3 บ่งชี้ว่า ยาดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงล้มป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีนัยสำคัญ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้อย่างน้อย 6 เดือน
- ประธานาธิบดีมูน แจอิน ของเกาหลีใต้ กล่าวว่า ประเทศได้ผ่านจุดสูงสุดในการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รอบที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ โอมิครอนมาถึงจุดสูงสุดแล้วและการระบาดจะค่อย ๆ ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ปธน.มูนกล่าวว่า สถานการณ์โอมิครอนในเกาหลีใต้ยังไม่ดีขึ้น โดยเตือนว่าจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในขณะนี้ พร้อมขอให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.77 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาทต่อดอลลาร์
- สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 44 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากที่สุด แม้จะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาเล็กน้อย ทั้งนี้ เป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในไตรมาสนี้ รวมถึงปัจจัยจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 40% ทำให้ต้นทุนการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์ในการจับจ่ายและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้ชะลอตัวลงในปลายไตรมาสนี้
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest , CNBC, Bloomberg