ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์รัสเซียและยูเครน
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 8.82 เหรียญ หรือ 0.46% มาอยู่ที่ระดับ 1,932.51 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.7 เหรียญหรือ 0.76% ปิดที่ 1,937.8 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2565
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 27.7 เหรียญ หรือ 1.13% ปิดที่ 24.735 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 1,087.3 ตันภาพรวมเดือนเมษายน ขายสุทธิ 4.14 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 111.64 ตัน
- นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ตลาดยังคงจับตามาตรการคว่ำบาตรของบรรดาชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามในยูเครนที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยช่วยหนุนต่อราคาทองคำ
- ผู้อำนวยการของ GoldSilver Central กล่าวว่า ราคาทองคำเคลื่อนไหวไม่ผกผันและไม่สัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอย่างที่เคยเป็น เนื่องจากมีปัจจัยที่ยังคงสนับสนุนราคาทองคำให้ยังทรงตัวดีอยู่ ได้แก่ สงครามในยูเครนและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูง แต่ราคาทองคำไม่สามารถปรับขึ้นไปได้มากนัก เนื่องจากราคาทองคำยังถูกกดดันด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นสูง
- นักวิเคราะห์ UBS กล่าวว่า แม้ว่าจากเฟดส่งส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น แต่หากมองอีกด้านก็จะเห็นถึงเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกัน นอกจากนี้ เราจะเห็นความต้องการทองคำจริงที่สูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยทั้งความไม่แน่นอนและความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวลง
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.39 จุด หรือ 0.39% มาอยู่ที่ระดับ 99.86 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.099% มาอยู่ที่ระดับ 2.665% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.475% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.19%
- ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ เจมส์ บุลลาร์ด กล่าวว่า ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 พร้อมระบุต้องการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพฤษภาคม
- ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) พุ่งทะลุระดับสูงสุดใหม่ เนื่องจากการรายงานการประชุมของ FOMC ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของเฟดหลายคนเห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% และการปรับลดขนาดงบดุล
- นักเศรษฐศาสตร์ UBS คาดการณ์ สกุลเงินดอลลาร์ สกุลเงินปอนด์ และสกุลเงินออสเตรเลีย จะโดดเด่น จากการที่ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นมีแนวโน้มนโยบายการเงินเข้มงวด ในขณะที่สกุลเงินสวิสฟังก์ และสกุลเงินยูโร เป็นสกุลเงินที่มีได้รับความชื่นชอบน้อยที่สุด และประเมินว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากธนาคารกลางมีทิศทางนโยบายการเงินที่ตรงกันข้ามกัน
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Westpac คาด ดัชนีดอลลาร์จะสามารถยืนเหนือ 100 จุดได้ในไม่กี่วันข้างหน้า และอาจยืนได้บริเวณ 100.50-100.90 จากการที่รายงานการประชุมเฟดประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% อย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือมมากกว่า และมีความดุดันในการลดขนาดงบดุลธนาคารกลาง ทั้งนี้ ตลาดกำลังให้ความสนใจประเด็นการลดขนาดงบดุล ซึ่งทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนบนเส้นผลตอบแทนเริ่มปรับตัวอย่างมีนัยยะสำคัญในทิศทางที่ผลักดันดัชนีดอลลาร์สูงขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- แหล่งข่าวชี้ว่า ยุโรปออาจจะยังไม่สั่งห้ามการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียไปจนกว่าเดือนสิงหาคม ช้าไปหนึ่งเดือนกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้า โดยที่เยอรมันเป็นชาติที่แสดงความลังเลไม่เห็นด้วยเมื่อต้องตัดสินใจกีดกันพลังงานจากรัสเซีย นอกจากนี้ ออสเตรียและฮังการี ก็แสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน
- นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า รัสเซียควรถูกขับออกจากกลุ่ม G20 และสหรัฐจะคว่ำบาตรการประชุม G20 หากเจ้าหน้าที่รัสเซียเข้าร่วมด้วย
- รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของกลุ่ม G7 เตรียมร่วมการประชุมในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม หลังมีรายงานถึงความโหดร้ายที่กองทัพรัสเซียกระทำต่อชาวยูเครน ส่งผลให้นานาประเทศร่วมประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
- สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เตรียมลงมติถอดถอนรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนตามข้อเรียกร้องของสหรัฐในวันนี้ (7 เม.ย.) จากกรณีที่รัสเซียเข้าบุกโจมตียูเครนซึ่งถือเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ”
- นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีกำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันเร็ว ๆ นี้ โดยจะเป็นการแสดงการสนับสนุนไต้หวันครั้งสำคัญของสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้จีนออกมาแสดงความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น
- จีนหลีกเลี่ยงวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้สังหารหมู่พลเรือนชาวยูเครนในเมืองบูชา (Bucha) ใกล้กับกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เนื่องจากจีนยังคงหวังที่จะรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซียต่อไป
- ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนกล่าวว่า จะดำเนินการเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซียต่อไป แม้จะพบหลักฐานการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพรัสเซียก็ตาม
- นายจอห์น ลี หัวหน้าคณะรัฐมนตรีฮ่องกง ยื่นลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา พร้อมประกาศลงชิงตำแหน่งผู้นำฮ่องกงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ค. นี้
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อหุ้นที่ร่วงลงก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียน
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,583.57 จุด เพิ่มขึ้น 87.06 จุด หรือ +0.25%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,500.21 จุด เพิ่มขึ้น 19.06 จุด หรือ + 0.43% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,897.30 จุด เพิ่มขึ้น 8.48 จุด หรือ + 0.06%
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า สำนักงานพลังงานสากล (IEA) จะระบายน้ำมันจากคลังสำรองเพื่อสกัดราคาน้ำมัน รวมทั้งรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่พุ่งขึ้นสวนทางการคาดการณ์
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 96.03 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2565
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 49 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 100.58 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2565
- ญี่ปุ่นเตรียมระบายน้ำมัน 15 ล้านบาร์เรลจากคลังน้ำมันสำรองของรัฐและเอกชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือการระบายน้ำมันรอบที่ 2 กับสำนักงานพลังงานสากล (IEA)
- นายฟาตีห์ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยว่า IEA กำลังเดินหน้าระบายน้ำมัน 120 ล้านบาร์เรล เพื่อสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในตลาด หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน โดยปริมาณดังกล่าวรวมถึงน้ำมัน 60 ล้านบาร์เรลจากสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR)
- นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ชี้ว่า จากมุมมองตัวเลขปริมาณน้ำมันสำรองที่เปิดเผยว่าจะปล่อยสู่ตลาด ทำให้ความกังวลอุปทานน้ำมันตึงตัวเริ่มหายไป ซึ่งแสดงให้เห็นจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,140 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,609,613 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 3,833,048 ราย เสียชีวิต 89 ราย เสียชีวิตสะสม 25,877 ราย
- รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะยกเลิกคำสั่งห้ามชาวต่างชาติที่ไม่ได้มีถิ่นพำนักในญี่ปุ่นจาก 106 ชาติเข้าประเทศ รวมถึงอังกฤษ อินเดีย สหรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 เม.ย.นี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการจำกัดโรคโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.51 บาทต่อดอลลาร์ทรงตัว จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองแนวโน้มผันผวนในกรอบ Sideways ต่อ โดยมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ามาจากทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่าขึ้นจากแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดและความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้น นอกจากนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในฝั่งหุ้นที่อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยในระยะสั้นได้ แต่เรามองว่า ฟันด์โฟลว์ในฝั่งบอนด์อาจยังเป็นฝั่งซื้อสุทธิอยู่ ซึ่งอาจช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอาจอ่อนค่าไปมากได้
- ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯ ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก 3.8% เหลือ 3.1% หลังจากที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.6% ในปี 64 ด้วยปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าตั้งแต่ต้นปี โดยเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความผันผวนจากความไม่แน่นอน ทั้งจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่แพง และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่นำไปสู่ปัญหาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความกังวลต่อการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกไม่แค่เฉพาะประเทศไทย
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest, CNBC