ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 1.49 เหรียญ หรือ 0.08% มาอยู่ที่ระดับ 1,975.89 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 11.5 เหรียญ หรือ 0.58% ปิดที่ 1,986.4 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 45 เซนต์ หรือ 1.75% ปิดที่ 26.15 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 0.87 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,100.36 ตันภาพรวมเดือนเมษายน ซื้อสุทธิ 8.92 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 124.7 ตัน
- หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของ Exinity กล่าวว่า ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวสู่แนวโน้มขาขึ้นได้ต่อ ท่ามกลางตลาดรับรู้สัญญาณเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม จากมุมมองทางเทคนิค ราคาทองคำตลาดโลกมีโอกาสขึ้นทดสอบแนวต้านเล็กน้อย หากสามารถทะลุเหนือระดับ 2,000 เหรียญได้ โดยราคาทองคำจะสามารถรักษาระดับเหนือ 2,000 เหรียญได้ หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ผู้อำนวยการฝ่ายค้าโลหะของ High Ridge Futures ระบุว่า ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อ ช่วยหนุนความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.5 จุด หรือ 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 100.82 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.014% มาอยู่ที่ระดับ 2.857% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.454% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.403%
- ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในขณะนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากความไม่แน่นอนของวิกฤตสงครามในยูเครนและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ซึ่งทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และหนุนเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
- นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงในการประชุมรัฐสภาญี่ปุ่นว่า เงินเยนได้ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเตือนว่าอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยถ้อยแถลงของนายคุโรดะมีขึ้นหลังจากค่าเงินเยนร่วงแตะกรอบบน 126 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- รัสเซีย เผยว่า กองกำลังรัสเซียได้เปิดฉากโจมตีกองกำลังยูเครนครั้งใหญ่เมื่อคืนวันอาทิตย์ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายทางการทหารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ทั้งกองทัพอากาศ ขีปนาวุธ และระบบป้องกันทางอากาศ โดยโจมตีเมืองคาร์คิฟ แคว้นซาปอริซเซีย แคว้นโดเนตสก์ และแคว้นดนีปรอแปตร็อวสก์ รวมถึงท่าเรือในเมืองนิโคลาเยฟ นอกจากนี้ กองทัพอากาศรัสเซียได้ยิงถล่มพื้นที่กว่า 108 แห่งที่กองกำลังยูเครนรวมตัวกันอยู่หนาแน่น
- สหภาพยุโรป (EU) เตรียมจัดสรรเงินช่วยเหลือจำนวน 45 ล้านยูโร (ราว 48.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มอบให้กับโครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยูเครน ส่วนอีก 5 ล้านยูโร (5.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะมอบให้กับมอลโดวา ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนที่อ้าแขนรับผู้ลี้ภัยสงครามหลายแสนราย นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา
- เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี Mario Draghi ของอิตาลีกล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) สามารถลดการใช้พลังงานจากรัสเซียได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
- เดนีส ชมีฮาล นายกรัฐมนตรียูเครน และบรรดาเจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงของยูเครน เตรียมเดินทางเยือนสหรัฐในสัปดาห์นี้ ในระหว่างการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงเน็ตฟลิกซ์ และเทสลา
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,411.69 จุด ลดลง 39.54 จุด หรือ -0.11%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,391.69 จุด ลดลง 0.90 จุด หรือ -0.02% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,332.36 จุด ลดลง 18.72 จุด หรือ -0.14%
- นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยแสดงความเห็นว่า สถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มักจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
- หัวหน้านักเศรษศาสตร์จาก ING ชี้ว่า ผลกระทบจากการสั่งล็อคดาวน์ของจีนยังคงมีอยู่ต่อไป ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการขนส่งสินค้าของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่รวมถึงเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับภาคบริการ และการดำเนินงานของโรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงานเช่นกัน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของเศรษฐกิจจีน(GDP) ในไตรมาสที่หนึ่ง เติบโต 4.8% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์เติบโต 4.4% ทั้งนี้ การผลิตภายอุตสาหกรรมเติบโต 5% ฒากกว่าที่คาดการณ์ที่ 4.5% อย่างไร ภาคค้าปลีกหดตัวลง 3.5% โดยเป็นการหดตัวที่รุนแรงกว่าที่คาดว่าจะหดตัวลง 1.6%
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงาน อัตราว่างงานในพื้นที่เขตเมืองของจีนอยู่ที่ 5.8% ในเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.5% ในเดือนก.พ. ส่วนอัตราว่างงานในกลุ่มคนอายุ 25-59 ปีซึ่งเป็นกำลังหลักของตลาดแรงงานจีนอยู่ที่ 5.2%
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงาน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีนในไตรมาสแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีก่อนหน้า แตะ 10.49 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.65 ล้านล้านดอลลาร์) ซึ่งช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม รายงานระบุว่า การขยายตัวดังกล่าวชะลอตัวลงจากในช่วงสองเดือนแรกของปี 2565 ที่เพิ่มขึ้น 12.2% เฉพาะในเดือนมี.ค. ยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 0.61% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนขยายตัว 4.8% ในไตรมาส 1/2565 เมื่อเทียบเป็นรายปี
- ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยชาร์เตอร์ เมเนจเมนท์ อินสทิทิวท์ (CMI) เปิดเผยว่า นายจ้างชาวอังกฤษกำลังเสนอเพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงานเฉลี่ยปีละ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อมาก โดย CMI ระบุเพิ่มเติมว่า ธุรกิจต่าง ๆ มีความกังวลในการเพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงานเนื่องจากต้นทุนพุ่งทะยานขึ้น และบางส่วนกังวลว่าอีกไม่นานความต้องการของผู้บริโภคจะชะลอตัวลง
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุระดับ 108 ดอลลาร์ในวันจันทร์ (18 เม.ย.) หลังมีรายงานว่าบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศระงับการผลิตเนื่องจากการประท้วงของคนงาน โดยข่าวดังกล่าวส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันตึงตัวในตลาดโลก
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 1.26 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 108.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 1.46 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 113.16 ดอลลาร์/บาร์เรล
- บริษัทเนชั่นแนล ออยล์ คอร์ปอเรชั่น (NOC) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลลิเบียได้ระงับการกลั่นน้ำมันเนื่องจากการประท้วงของคนงาน นอกจากนี้ NOC ได้ประกาศภาวะสุดวิสัย (Force Majeure) ด้านการส่งมอบน้ำมันดิบจากแหล่งอัล-ชารารา (Al-Sharara) และท่าส่งออกน้ำมัน Zueitina
- นักวิเคราะห์จาก OANDA ระบุว่า ในตอนนี้ภาวะอุปทานน้ำมันของโลกค่อนข้างตึงตัว หากมีผลกระทบให้เกิดการติดขัดใดๆแม้เพียงเล็กน้อยในตลาดน้ำมัน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก
- นักวิเคราะห์จาก Price Futures Group ชี้ว่า ปัจจุบันยังมีความสับสนเกี่ยวกับการกลับมาเปิดเศรษฐกิจของจีนหรือ reopening โดยเราได้รับรู้ส้ญญาณที่ค่อนข้างผสมทั้งด้านบวกและด้านลบ และสะท้อนออกมาในความผันผวนของราคาน้ำมัน
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,891 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,840,409 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 4,063,844 ราย เสียชีวิต 129 ราย เสียชีวิตสะสม 27,135 ราย
- เกาหลีใต้ยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับตัวสู่การใช้ชีวิตตามปกติ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศเริ่มบรรเทาลง และยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงแตะระดับต่ำกว่า 50,000 รายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 เดือน
- กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียพุ่งขึ้นเกือบสองเท่าในวันจันทร์ที่ผ่านมา และทำสถิติมากกว่า 2,000 รายเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งเดือน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 43,044,280 ราย ส่วนรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดียรายงานผู้เสียชีวิตใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
- มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของจีน ส่งผลให้บริษัทค้าปลีกญี่ปุ่นต้องระงับการดำเนินงานในเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ผู้ผลิตในญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบ
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.71 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.66 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.65-33.80 บาทต่อดอลลาร์
- ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 65 และ 66 ลงเหลือ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อ ในปี 65 และ 66 เพิ่มเป็น 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ ซึ่งการปรับ GDP ลดลงจากเดิมนั้นเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นสำคัญ
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest, CNBC