ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนในวันจันทร์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -34.35 เหรียญ หรือ -1.78% มาอยู่ที่ระดับ 1,899.95 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง -38.3 เหรียญ หรือ -1.98% ปิดที่ 1,896 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2565
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง -58.9 เซนต์ หรือ -2.43% ปิดที่ 23.67 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.9 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,101.23 ตันภาพรวมเดือนเมษายน ซื้อสุทธิ 9.79 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 125.57 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก Julius Baer ชี้ว่า ปัจจุบันความกลัวการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นปัจจัยที่เหนือกว่าปัจจัยอื่น ซึ่งเราคิดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อใกล้จะผ่อนคลายลง ซึ่งจะลดความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
- นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Kitco กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีประเด็นใหม่ๆ ที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนในการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และราคาทองคำกำลังเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนัก
- นักวิเคราะห์จาก Saxo Bank ระบุว่า แม้ผลประกอบการของราคาทองคำในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาจะดูไม่ค่อยดีนัก แต่ราคาทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนเพื่อป้องกันแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมถึงความผันผวนในหุ้นและพันธบัตรสหรัฐฯ
- นักกลุยทธ์จาก Commerzbank คาดราคาทองคำสิ้นปีอยู่ที่ระดับ 1,900 เหรียญ แต่ปรับเพิ่มประมาณการราคาสำหรับปี 2023 อยู่ที่ 2,000 เหรียญ โดยระบุว่า เราไม่คาดหวังว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงแรงจากการที่เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงในระยะยาว ช่วยลดผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.48 จุด หรือ 0.47% มาอยู่ที่ระดับ 101.7 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.073% มาอยู่ที่ระดับ 2.818% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.628% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.19%
- นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC คาดการณ์ ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งค่าเงินดอลลาร์จะได้รับประโยชน์ในยามที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการใช้นโยบายการเงินเข้มงวด ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และรายได้ที่แท้จริงที่ปรับตัวลดลง
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- กระทรวงกลาโหมอังกฤษเปิดเผยทางทวิตเตอร์ของกระทรวงว่า รัสเซียมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการโจมตีบางพื้นที่ของยูเครน นับตั้งแต่เปลี่ยนไปทุ่มกำลังกับการยึดครองภูมิภาคดอนบาสอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ยังไม่มีการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์และการรบที่เพียงพอ ทำให้รัสเซียยังไม่มีความคืบหน้าที่สำคัญ
- สำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้ตอบรับคำเชิญของนายนาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ในการเดินทางเยือนอิสราเอลในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากผู้นำทั้งสองได้หารือทางโทรศัพท์เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของอิหร่าน ในการถอนกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) จากรายชื่อองค์กรก่อการร้ายของสหรัฐ
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อในช่วงท้ายตลาด ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1% หลังจากราคาหุ้นทวิตเตอร์ทะยานขึ้นกว่า 5% ขานรับข่าวนายอีลอน มัสก์ บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,049.46 จุด เพิ่มขึ้น 238.06 จุด หรือ +0.70%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,296.12 จุด เพิ่มขึ้น 24.34 จุด หรือ +0.57% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,004.85 จุด เพิ่มขึ้น 165.56 จุด หรือ +1.29%
- Ifo สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าของครัวเรือนเยอรมนีพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นหลังรัสเซียบุกยูเครน ก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อรายปีของเยอรมนีแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีเมื่อเดือนมี.ค. นอกจากนี้ 46% ของบริษัทในการสำรวจนี้ต้องการลดการลงทุนเนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และ 1 ใน 4 ของบริษัทเยอรมนีคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาที่พุ่งขึ้นรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
- นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปปี 2022 ลงเหลือ 2.7% จากเดิมคาดเติบโต 3.0% และปรับสำหรับปี 2023 ลงเหลือ 1.3% จากเดิมคาดการณ์เติบโต 2.3%
- ผลสำรวจของแกลลัป โพล ชี้ว่า จากการสำรวจชาวสหรัฐฯ ความพึงพอใจกับผลการทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของการดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้แกลลัประบุว่า คะแนนนิยมที่ต่ำของปธน.ไบเดนเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อโอกาสที่พรรคเดโมแครตจะรักษาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาเอาไว้ได้
- ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เปิดเผยวันนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์ในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นผลจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาอาหารและบริการ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์ พุ่งขึ้น 2.9% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2555 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมี.ค.อาจเพิ่มขึ้น 2.4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสิงคโปร์เดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นแตะระดับ 5.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2555 เมื่อเทียบกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 4.7%
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การที่จีนล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานาน และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง -3.53 ดอลลาร์ หรือ -3.5% ปิดที่ 98.54 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง -4.33 ดอลลาร์ หรือ -4.1% ปิดที่ 102.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
- รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ว่า สหภาพยุโรปเตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ที่เรียกว่า “การคว่ำบาตรอันชาญฉลาด (Smart Sanctions)” ต่อรัสเซีย ด้วยการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย นอกจากนี้รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “เรากำลังพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งที่ 6 และหนึ่งในมาตรการที่เรากำลังพิจารณาอยู่คือการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันบางรูปแบบ เมื่อเราทำการคว่ำบาตร เราต้องทำในแบบที่จะเพิ่มแรงกดดันให้กับรัสเซียมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ลดความเสียหายที่เราได้รับให้เหลือน้อยที่สุด”
- นักวิเคราะห์จาก City Index ชี้ว่า จีนยังไม่มีทีท่าว่าจะยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ในทางตรงกันข้าม กลับเพิ่มมาตรการควบคุมโควิด ซึ่งกระทบความต้องการใช้น้ำมันให้ลดลง
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,816 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,971,249 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 4,194,684 ราย เสียชีวิต 120 ราย เสียชีวิตสะสม 28,019 ราย
- การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีนย่ำแย่ลง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงปักกิ่งเพิ่มสูงขึ้นและทำให้ทางการจีนตัดสินใจล็อกดาวน์พื้นที่บางแห่งในกรุงปักกิ่ง และถือเป็นการใช้มาตรการที่เข็มงวดต่อปักกิ่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายของจีนกำลังพยายามเลี่ยงที่จะไม่ให้เกิดวิกฤติแบบที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจ
- เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้เปิดเผยในวันนี้ว่า เซี่ยงไฮ้ซึ่งศูนย์กลางการเงินของจีน รายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รายจำนวน 51 รายในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 39 รายในวันเสาร์ และทำสถิติการเสียชีวิตรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเซี่ยงไฮ้
- คณะบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐเตรียมผลักดันการออกงบประมาณฉบับใหม่เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อสภาคองเกรสกลับมาเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง ทั้งนี้ การนิ่งเฉยของสภาคองเกรสเริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศ ตั้งแต่กรณีที่ชาวสหรัฐฯไม่มีประกันต้องแบกรับภาระค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษาและค่าฉีดวัคซีนแบบกะทันหัน ไปจนถึงกรณีที่รัฐต่าง ๆ ได้รับโมโนโคลนัลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) น้อยลงเพื่อบีบให้คนออกจากโรงพยาบาล
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ34.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.04 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาทต่อดอลลาร์
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในไตรมาส 4 ปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขึ้นไปแตะที่ระดับ 90.1% ปรับตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า พร้อมชี้ว่า “สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เกินระดับ 90% เป็นครั้งแรก และถือว่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยจากข้อมูลของ Bank for International Settlements (BIS) ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน”
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest