• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2565

    6 พฤษภาคม 2565 | Gold News

ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันพฤหัสบดี จากที่ปรับเพิ่มมากกว่า 1% ท่ามกลางการกลับมาแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ซึ่งชดเชยความต้องการทองคำ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ออกมาน้อยกว่าที่คาดการณ์

  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -6.84 เหรียญ หรือ -0.36% มาอยู่ที่ระดับ 1,874.46 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 6.9 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 1,875.7 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 4.1 เซนต์ หรือ 0.18% ปิดที่ 22.443 ดอลลาร์/ออนซ์
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 4.06 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,084.98 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ขายสุทธิ 9.57 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 109.32 ตัน


  • นักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ Bloomberg Intelligence มีมุมมอง แนวโน้มราคาทองคำค่อนข้างเป็นบวก โดยประเมินว่าทองคำมีโอกาสทำจุดสูงสุดทะลุแนวต้านจิตวิทยาที่ 2,000 เหรียญได้หากตลาดมองเห็นว่ารอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจบลงแล้ว นอกจากนี้ การที่เฟดส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินเข้มงวดนำไปสู่การกรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลก และการร่วงหล่นของราคาหุ้น ส่งผลลบต่อราคาทองแดงและโลหะอุตสาหกรรม และเมื่อารอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจบลง เม็ดเงินจะไหลไปยังทองคำ ซึ่งในเวลาที่ปจจัยข้างต้นพร้อม ราคาทองคำจะสามารถทำจุดสูงสุดทะลุ 2,000 เหรียญได้


  • นักวิเคราะห์จาก FXstreet ชี้ ธนาคารกลางอังกฤษแสดงท่าทีนโยบายการเงินเข้มงวดจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของราคาทองคำ จากการที่ค่าเงินปอนด์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จะช่วยกดดันค่าเงินดอลลาร์ให้ปรับฐาน ส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของราคาทองคำ


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.11 จุด หรือ 0.11% มาอยู่ที่ระดับ 103.55 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวขึ้น 0.051% มาอยู่ที่ระดับ 3.052% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี  อยู่ที่ระดับ 2.731% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.321%


  • เครื่องมือ CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้ 85% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 16 มิถุนายน 2022 สวนทางกับประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ที่ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50%


  • นักเศรษฐศาสตร์จาก ING มองว่า ตลาดมีความคาดหวังการอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป (หรือ soft landing) ซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์ปรับตัวลง แต่หากต้องการให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ต้องทำให้ตลาดเกิดความมั่นใตว่า เฟดจะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดตามลำดับอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งนำไปสู่ soft landing เช่นกัน แต่ปัจจุบัน ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าจะเกิด soft landing เนื่องจาก ยังมีความเสี่ยงเงินเฟ้อพุ่งสูงและความเสี่ยงที่เฟดจะปรับทิศทางเร่งการขึ้นดอกเบี้ย จากการที่ Dot Plot ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ยังคงแสดงว่า เฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 3% ในปี 2023


  • ธนาคารกลางอังกฤษมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1% ในขณะที่กรรมการสามท่านลงมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50%


  • ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ เพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ 


  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศปรับตัวลดลงในเดือนเม.ย. เนื่องจากมูลค่าการแปลงสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลง ทั้งนี้ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเกาหลีใต้ ณ สิ้นเดือนเม.ย. อยู่ที่ระดับ 4.493 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 8.51 พันล้านดอลลาร์จากระดับของเดือนมี.ค. อันเนื่องมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยในเดือนเม.ย. ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 6.0%


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงกว่า 1,000 จุดในวันพฤหัสบดี โดยตลาดถูกกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,997.97 จุด ดิ่งลง 1,063.09 จุด หรือ -3.12%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,146.87 จุด ลดลง 153.30 จุด หรือ -3.56% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,317.69 จุด ร่วงลง 647.16 จุด หรือ -4.99%


  • ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับ 31.20 จุด


  • ผลสำรวจซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซินระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนหดตัวลงอย่างรุนแรงในเดือนเม.ย. เนื่องจากการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้ภาคบริการของจีนหยุดชะงัก ซึ่งเป็นเหตุให้จำนวนธุรกิจใหม่ ๆ และการจ้างงานปรับตัวลงอีก ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย.ของจีนร่วงลงสู่ระดับ 36.2 จากระดับ 42 ในเดือนมี.ค.


  • อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (IDC) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระดับโลกเปิดเผยข้อมูลบ่งชี้ว่า ยอดขายสมาร์ตโฟนในจีนลดลง 14.1% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 74.2 ล้านเครื่องในช่วงไตรมาส 1/2565 เนื่องจากการแพร่ระบาดอีกครั้งของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภค และเนื่องจากไม่มีการอัปเกรดผลิตภัณฑ์


  • สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศแรกของสหภาพยุโรป (EU) ที่อนุญาตให้ไบแนนซ์เปิดแพลตฟอร์มบริการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศ และในขณะนี้ไบแนนซ์ถูกกำกับดูแลโดยคณะกรรมการต่อต้านการฟอกเงินของรัฐบาลลิทัวเนีย และกำลังยื่นขอจดทะเบียนจากคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการเงินของสวีเดน


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี โดยตลาดยังคงได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ตลาดน้ำมันโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวมากขึ้น หลังสหภาพยุโรป (EU) ส่งสัญญาณเตรียมคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 45 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 108.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 76 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 110.90 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • นักวิเคราะห์ด้านน้ำมันดิบจากบริษัทเคปเลอร์ (Kpler) คาดการณ์ว่า หากสหภาพยุโรป (EU) ตัดสินใจระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียตามข้อเสนอของนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) จะส่งผลให้การผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลงอีก 10% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดน้ำมันโลกสูญเสียอุปทานน้ำมันมากถึง 2 เท่าจากเดิมที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากกรณีที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน


  • นักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ Bloomberg Intelligence มองราคาน้ำมันมีโอกาสพลิกกลับร่วงลงสู่ระดับ 50 เหรียญต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่ประมาณ 100 เหรียญต่อบาร์เรล โดยระดับราคา 50 เหรียญต่อบาร์เรล คือ ระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันของสหรัฐ และเป็นระดับราคาเฉลี่ยของราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2014 และหากยังมองว่า หากราคาน้ำมันปรับขึ้นไปสู่ระดับ 150 เหรียญต่อบาร์เรลจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (ทำให้อุปสงค์น้ำมันร่วงลง และราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในที่สุด)


  • สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารเจพีมอร์แกน (JPM) ปรับลดแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2565 ลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น, แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอยลง และความตึงเครียดทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ


  • นายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่า ยานพาหนะทุกคันขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ที่เดินทางเข้ายูเครนเพื่อส่งมอบอาวุธแก่กองทัพยูเครน ถือว่าเป็นเป้าหมายอันชอบธรรมสำหรับการทำลายล้าง


  • บริษัทก๊าซพรอม ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย เปิดเผยว่า การส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังจีน ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564


  • รัสเซียประกาศห้ามนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และรัฐมนตรีญี่ปุ่นหลายคนเดินทางเข้าประเทศเพื่อตอบโต้ต่อการที่ญี่ปุ่นออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียก่อนหน้านี้


ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19


  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,705 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,084,884 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 4,308,319 ราย เสียชีวิต 62 ราย เสียชีวิตสะสม 28,976 ราย


  • สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลฮ่องกงได้เริ่มแจกจ่ายชุดตรวจแบบทราบผลเร็ว (RAT) ฟรีให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้บ่อยขึ้น โดย ณ วันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลได้แจกจ่ายชุดตรวจ RAT ไปแล้วเกือบ 2 ล้านชุดผ่านช่องทางต่าง ๆ


  • บริษัทโนวาแวกซ์ อิงค์ ได้ยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ต่อหน่วยงานกำกับดูแลในอังกฤษ สำหรับใช้ในเด็กวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ อังกฤษได้อนุมัติใช้วัคซีนนูวาโซวิด (Nuvaxovid) ของโนวาแวกซ์ในกลุ่มผู้ใหญ่ไปเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนพุ่งสูงขึ้นมาก

 

ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.05 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาทต่อดอลลาร์


  • ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 105.15 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.65% และเพิ่มขึ้น 0.34% จากเดือน มี.ค.65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.71%


  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือน เม.ย.65 ดังนี้
    • ในเดือน เม.ย.65 ระดับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยภาคการค้าและการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ภาคการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น
    • จำนวนแรงงานโดยรวมทรงตัว ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนในภาคการค้าและการท่องเที่ยว
    • ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งภาวะปัจจุบัน และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพิ่มเติม



ที่มาจาก : ReutersFXstreet, Infoquest, RYT9

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com