ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,860 ดอลลาร์ในวันจันทร์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -16.57 เหรียญ หรือ -0.88% มาอยู่ที่ระดับ 1,863.83 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 24.2 เหรียญ หรือ 1.29% ปิดที่ 1,858.6 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 54.7 เซนต์ หรือ 2.45% ปิดที่ 21.82 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 6.1 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,075.9 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ขายสุทธิ 18.65 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 100.24 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก ANZ กล่าวว่า เฟดคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลเร็วกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มที่จะบรรเทาความรุนแรงลง ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น น่าจะยังช่วยสนับสนุนราคาทองคำอยู่บ้าง
- หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของ Kotak Securities ชี้ว่า ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่องและอัตราผลตอบแทยพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างดุดันเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันราคาทองคำ
- นักวิเคราะห์จาก FXStreet ชี้ว่า รายงานตัวเลขเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดมูลค่าของค่าเงินดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ โดยการประกาศตัวเลข CPI (Consumer Price Index) ของเดือนเมษายน ที่ประกาศในวันพุธ หากตัวเลขสะท้อนว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนมีนาคม ค่าเงินดอลลาร์จะได้รับแรงกดดัน จากการที่นักลงทุนเริ่มประเมินท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมิถุนายนใหม่ หากเกิดกรณีดังกล่าว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะปรับลดลง และหนุนราคาทองคำปรับขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม หากตลาดจะยังคงคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หากการประกาศตัวเลข CPI สูงกว่าที่คาดการณ์
- นักวิเคราะห์อาวุโสของ OANDA กล่าวว่า ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าทะลุ 104 จุด ส่งผลให้ราคาทองคำเข้าทดสอบแนวรับที่ระดับ 1,850 เหรียญ โดยแนวรับถัดไปของราคาทองคำจะอยู่ที่ระดับ 1,835 เหรียญ ซึ่งหากดัชนีดอลลาร์ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องภายในสัปดาห์นี้ จะส่งผลให้ราคาทองคำอาจถอยกลับสู่ระดับ 1,800 เหรียญ
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.04 จุด หรือ 0.04% มาอยู่ที่ระดับ 103.7 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.104% มาอยู่ที่ระดับ 3.034% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.575% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.459%
- Andy Haldane อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) ให้สัมภาษณ์กับ LBC เมื่อวันจันทร์ไว้ว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศอังกฤษอาจสูงถึง 10% ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ และอาจคงอยู่ได้นานหลายปี
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดในวันจันทร์ ขณะที่ดัชนี S&P500 ดิ่งหลุดจากระดับ 4,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นเป็นวงกว้าง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,245.70 จุด ร่วงลง 653.67 จุด หรือ -1.99%,
- ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,991.24 จุด ลดลง 132.10 จุด หรือ -3.20% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,623.25 จุด ลดลง 521.41 จุด หรือ -4.29%
- ประธานสมาคมธุรกิจสิงคโปร์-จีน (SCBA) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า ตลาดจีนยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่น่าดึงดูดสำหรับบริษัทสิงคโปร์ แม้จะเผชิญผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม โดยให้เหตุผลว่า ปัจจัยที่ทำให้จีนน่าดึงดูดมาจากเสถียรภาพทางการเมือง การส่งเสริมด้านการลงทุนที่เข้มแข็งจากรัฐบาล การวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 6% ในวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้และบางส่วนของกรุงปักกิ่งเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 6.68 ดอลลาร์ หรือ 6.1% ปิดที่ 103.09 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 6.45 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 105.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
- บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมทั้ง 7 หรือ G7 ได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะสั่งห้ามหรือยุติการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดในการกดดันให้รัสเซียยุติสงครามในยูเครน
- ประเทศจีนนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเกือบ 7% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน แม้ว่าความต้องการเชื้อเพลิงในประเทศจีนจะลดลงจากการล็อกดาวน์
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอารเบีย กล่าวโทษถึงเหตุผลที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับพุ่งสูง เกิดจากขาดการลงทุนในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน จนทำให้ความแตกต่างระหว่างระหว่างน้ำมันดิบ ต่างจากน้ำมันเชื้อเพลิงอย่าง น้ำมันดีเซล น้ำมันเจ็ม และน้ำมันแกสโซลีนถึง 60%
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- สหรัฐเปิดเผยว่าได้ออกมาตรการคว่ำบาตรสถานีโทรทัศน์ของรัสเซีย 3 แห่ง พร้อมทั้งออกคำสั่งห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันให้บริการด้านบัญชีและคำปรึกษาใด ๆ กับรัสเซีย นอกจากนี้ ยังคว่ำบาตรผู้บริหารของธนาคารก๊าซพรอมแบงก์ เพื่อลงโทษการที่รัสเซียใช้กำลังบุกโจมตียูเครน
- ญี่ปุ่นเตรียมยุติการพึ่งพาน้ำมันรัสเซียแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอ คิชิดะ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะทยอยยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะเดียวกันก็จะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติในโครงการน้ำมันและก๊าซในรัสเซียตะวันออกไกล เนื่องจากญี่ปุ่นต้องสร้างสมดุลระหว่างการบรรเทาแรงกดดันด้านต้นทุนค่าครองชีพและการลดพึ่งพานำมันจากรัสเซียเพื่อตอบโต้กรณีรัสเซียโจมตียูเครน
- รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าพลาตินัมและพาลาเดียมจากรัสเซียและเบลารุส ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ที่พุ่งเป้าตัดท่อน้ำเลี้ยงด้านการค้ามูลค่า 1.7 พันล้านปอนด์ (2.10 หมื่นล้านดอลลาร์) และเพื่อเป็นการกดดันประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ให้ยุติการทำสงครามในยูเครน
- รัสเซียเตรียมจัดพิธีสวนสนามเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทหารในวันนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 77 ปีของ “วันแห่งชัยชนะ (Victory Day)” ของรัสเซีย โดยทหารโซเวียตรัสเซียในขณะนั้นสามารถพิชิตกองทัพนาซีในวันดังกล่าวเมื่อปี 1945
- นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาให้คำมั่นว่า แคนาดาจะช่วยหาทางเลือกในการส่งออกธัญพืชให้กับยูเครน เพื่อช่วยรักษาความมั่นคงทางอาหารโลกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่รัสเซียรุกรานยูเครน
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- ศบค. รายงาน ยอดติดเชื้อโควิด 19 วันนี้ เพิ่มขึ้น 6,230 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 2,114,133 ราย (ตั้งแต่ 1 มค. 65) เสียชีวิต 53 ราย ส่งผลให้มียอดเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 มค. 65 รวม 7,498 ราย
- อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 30 เม.ย.-6 พ.ค. 65 พบว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% โดยสัดส่วนสายพันธุ์ย่อยของ BA.2 อยู่ที่ 97.6%
- เซี่ยงไฮ้รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำสุดในรอบกว่า 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเซี่ยงไฮ้จะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในเร็ว ๆ นี้ โดยมาตรการดังกล่าวจำกัดให้ประชาชนหลายล้านคนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านมานานกว่าหนึ่งเดือน
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาทต่อ ดอลลาร์
- กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.15-34.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.39 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.01-34.53 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นกรอบเป้าหมายดอกเบี้ย Fed funds 50bp สู่ 0.75-1.0% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 22 ปี และเฟดระบุว่าจะปรับลดขนาดงบดุลลง 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม และจะปรับลดในอัตรา 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest, Bloomberg