ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -31.98 เหรียญ หรือ -1.73% มาอยู่ที่ระดับ 1,821.92 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง -29.1 เหรียญ หรือ -1.57% ปิดที่ 1,824.6 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง -80.2 เซนต์ หรือ -3.72% ปิดที่ 20.773 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 5.8 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,060.82 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ขายสุทธิ 33.73 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 85.16 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก WisdomTree ระบุว่า ทองคำจะได้รับแรงหนุนจากสภาวะเงินเฟ้อสูง แต่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ เป็นเหตุผลที่กดดันราคาทองคำไม่ให้ปรับตัวขึ้น
- นักวิเคราะห์ของ Fxstreet กล่าววว่า ราคาทองคำเข้าทดสอบต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย DMA ราย 200 วัน ที่ระดับ 1,836 เหรียญในวันพุธที่ผ่านมา ก่อนที่ราคาทองคำจะสามารถรีบาวน์กลับขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของราคาทองคำยังคงอยู่ในลักษณะขาลงอยู่ ซึ่งการปรับขึ้นของราคาทองคำในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมายังคงดูห่างไกล
- นักวิเคราะห์อาวุโสการตลาดของ City Index กล่าวว่า แม้ว่าทองคำจะถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ แต่ทองคำไม่มีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย และอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะสั้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้มีกระแสเงินไหลเข้าทองคำมากขึ้น ทำให้ราคาทองคำเกิดการแกว่งตัวขึ้นเหนือระดับ 1,830 เหรียญ ในเมื่อวานนี้
- ผู้อำนวยการของ GoldSilver Central กล่าวว่า ตลาดรับรู้ว่าหากจีนยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์ลง อาจช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำมากขึ้นในระยะสั้น
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.82 จุด หรือ 0.79% มาอยู่ที่ระดับ 104.74 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.136% มาอยู่ที่ระดับ 2.855% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.578% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.277%
- FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย.
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Westpac ชี้ว่า ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายทางการเงินของเฟด ภาวะเศรษฐกิจในยุโรป และการล็อกดาวน์ในประเทศจีน ได้บั่นทอนคาดหวังของการเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดว่า ดัชนีดอลลาร์จะพุ่งขึ้นจากระดับ 104 จุดสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ 107 จุด
- นักเศรษฐศาสตร์จาก ING ชี้ว่า ค่าเงินดอลลาร์กำลังใกล้ทำจุดสูงสุดใหม่ โดยที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆบ่งชี้ว่า ค่าเงินหยวนจะถึงจุดต่ำสุด และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงสูง ส่งผลให้เฟดยังมีท่าทีการใช้นโยบายการเงินเข้มงวด จึงทำให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ยังคงมีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง
- นาย ปีเตอร์ คาซิมิร์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติสโลวาเกีย และ สมาชิกของธนาคารกลางยุโรป ได้ขึ้นทวีตเมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ในวันพฤหัสบดี ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดอาจจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,730.30 จุด ลดลง 103.81 จุด หรือ -0.33%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,930.08 จุด ลดลง 5.10 จุด หรือ -0.13% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,370.96 จุด เพิ่มขึ้น 6.73 จุด หรือ +0.06%
- นักเศรษฐศาสตร์จาก UOB Group ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของจีนเร่งตัวในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ปรับตัวขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.8% และเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.5% ในขณะที่ดัชนี้ราคาผู้ผลิต (PPI) ทรงตัวที่ระดับ 8.0% เมื่อเทัยบกับปีก่อนหน้า สูงกว่าที่ตลาดการณ์เล็กน้อยที่ 7.8% และชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.3%
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า อุปทานน้ำมันทั่วโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวหลังจากยูเครนปิดเส้นทางหลักในการขนส่งก๊าซไปยังยุโรป อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการที่จีนล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานาน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 42 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 106.13 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 6 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 107.45 ดอลลาร์/บาร์เรล
- องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ปรับลดการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2565 โดยเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ในประเทศจีนและอัตราเงินเฟ้อที่สูง ซึ่งเป็นการกดดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวลดลง
- นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร OCBC ของสิงค์โปร์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันอยู่ภายใต้แรงกดดันในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับตลาดการเงินทั่วโลก และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 20 ปี ความกังวลด้านอัตราเงินเฟ้อและภาวะถดถอยที่อาจเกิดขึ้น การล็อกดาวน์โควิด-19 ในจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก โดยความกังวลภาวะถดถอยดังกล่าว กำลังส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลง
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศอายัดทรัพย์ธนาคารสเบอร์แบงก์ (Sberbank) และธนาคารอัลฟา แบงก์ (Alfa Bank) สองสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ตามรอยสหรัฐและประเทศในยุโรป เพื่อกดดันที่รัสเซียรุกรานยูเครน
- บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแสดงความผิดหวังกับสหรัฐมากขึ้น หลังจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนไม่มีความคืบหน้าในการผลักดันข้อตกลงการค้า ซึ่งความผิดหวังดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของปธน.ไบเดนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศเอเชียในการประชุมสุดยอดซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,779 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,137,581 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 4,353,366 ราย เสียชีวิต 56 ราย เสียชีวิตสะสม 29,311 ราย
- องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.4 ไม่ถึง 700 ราย ในอย่างน้อย 16 ประเทศ และพบสายพันธุ์ย่อย BA.5 แล้วกว่า 300 ราย ใน 17 ประเทศเป็นอย่างน้อย โดยมีอัตราการตรวจพบสูงในประเทศแอฟริกาใต้
- เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแอฟริกาใต้ได้ออกมาเตือนประชาชนถึงการระบาดระลอกที่ 5 ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5
- นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้สั่งให้ทุกเมืองดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ หลังมีรายงานเป็นครั้งแรกว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 บริเวณพรมแดนของประเทศ
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.73 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ5ปีครั้งใหม่และอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.71 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 34.65-34.80 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นการเคลื่อนไหวตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค และยังเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าในปัจจุบันปัจจัยภายนอกมีความผันผวนค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest,