ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่าเฟดไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 1.93 เหรียญ หรือ 0.11% มาอยู่ที่ระดับ 1,816.31 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 3 เหรียญ หรือ 0.16% ปิดที่ 1,815.9 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 20.6 เซนต์ หรือ 0.95% ปิดที่ 21.544 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 1,049.21 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ขายสุทธิ 45.34 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 73.55 ตัน
- นักกลุยทธ์จาก TD Securities ประเมินว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลงต่อ จากการที่ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ออกมาส่งสัญญาณ พร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าระดับปกติ (Neutral rate) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับมีการเทขายสินทรัพย์โดยทั่ว ทำให้กดดันราคาทองคำ นอกจากนี้ การถือครองทองคำของกองทุน ETF SPDR ปรับลดต่ำลง 9 วันต่อเนื่อง
- นักกลยุทธ์ด้านค่าเงินของ DailyFX กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองคำอยู่ในช่วงสะสมพลังเพื่อรอการเบรคไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่ภาพรวมราคาทองคำยังคงอยู่ในทิศทางขาลง โดยจะมีแนวรับที่ระดับ 1,750 เหรียญ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนตัวของราคาทองคำได้แก่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมุมมองนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์
- นักวิเคราะห์ของ FXStreet กล่าวว่า ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และมีโอกาสเข้าทดสอบต่ำกว่าระดับ 1,800 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำจะฟื้นตัวอีกครั้งหากผ่านแนวต้านที่ระดับ 1,821 เหรียญไปได้ และราคาทองคำจะเผชิญความท้าทายที่เส้นค่าเฉลี่ย DMA ราย 200 วัน แถวระดับ 1,836 เหรียญอีกครั้ง
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.36 จุด หรือ -0.35% มาอยู่ที่ระดับ 103.83 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.002% มาอยู่ที่ระดับ 2.884% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.667% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.217%
- ประธานเฟดสาขา ฟิลาเดเฟีย แพททริก ฮาร์เกอร์ ระบุว่า เขาคาดหวังเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทั้ง 2 ครั้งถัดไป และหลังจากนั้นจะปรับเหลือขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปจนกว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลง นอกจากนี้เขายังประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะเติบโตได้ 3% และตลาดแรงงานจะยังคงตึงตัวตลอดทั้งปี 2022
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 1,100 จุดในวันพุธ ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทค้าปลีก นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,490.07 จุด ลดลง 1,164.52 จุด หรือ -3.57%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,923.68 จุด ลดลง 165.17 จุด หรือ -4.04% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,418.15 จุด ลดลง 566.37 จุด หรือ -4.73%
- อัตราเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรสูงที่สุดในรอบ 40 ปี โดยรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งสะท้อนเงินเฟ้อเดือนเมษายนสูงถึงระดับ 9% เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 7% เป็นผลจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับพุ่งสูงขึ้น
- สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยว่า การเดินทางทางอากาศฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ยกเว้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในปีที่ผ่านมา การเดินทางระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 25% ของปี 2562 ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 42% โดยมีอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างยิ่งในบางตลาดตั้งแต่สหรัฐ ยุโรป ลาตินอเมริกา โดยทั้งหมดแตะที่ประมาณ 60% ในทางตรงกันข้าม การเดินทางทางอากาศในเอเชียเมื่อปีที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณ 13% ของในปี 2562 โดยปัจจัยหนึ่งเกิดจากการที่จีนยังคงยึดมั่นต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยนครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งคุมเข้มการบังคับใช้มาตรการจำกัดต่อภาคธุรกิจและในการเดินทาง
- จีนเผชิญความยากลำบากที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้ประสบความสำเร็จแบบเดียวกับที่เคยกลับมาฟื้นตัว หลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกเมื่อสองปีก่อน เนื่องจากระดับการส่งออกที่ไม่มั่นคงและทางเลือกต่าง ๆ ในการฟื้นฟูการลงทุนและการบริโภคอ่อนแรงลง
- สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2565 หดตัวลง 1% เมื่อเทียบกัยปีห่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดทั่วประเทศ นอกจากนี้ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และราคานำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นยังได้เพิ่มแรงกดดันต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพุธ หลังมีรายงานว่าโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐเร่งเพิ่มการผลิตเพื่อรับมือกับสต็อกที่ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ทรุดตัวลงอย่างหนักเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเงินเฟ้อ
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 2.81 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 109.59 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 2.82 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 109.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เจ้าหน้าที่รัฐบาลเวเนซุเอลาเผยว่า สหรัฐจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อเวเนซุเอลา เพื่อเปิดทางไปสู่การเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่สหรัฐหนุนหลัง การผ่อนคลายดังกล่าวครอบคลุมถึงการออกใบอนุญาตแบบจำกัด (Narrow license) ซึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐออกให้กับบริษัทเชฟรอน เพื่อเปิดทางสู่การเจรจาทำธุรกิจต่อไปในเวเนซุเอลา โดยเชฟรอนนั้นเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐเพียงรายเดียวที่ยังทำธุรกิจอยู่ในเวเนซุเอลา
- ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการของ SPI Asset Management กล่าวว่า เซี่ยงไฮ้บรรลุเป้าหมายปลอดผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนติดต่อกัน 3 วัน และเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในวันจันทร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จีนยังคงใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ซึ่งอาจจำกัดต่อความต้องการน้ำมันและส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลเสียต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- ฟินแลนด์และสวีเดนสมัครเข้าร่วม NATO อย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธ โดยการตัดสินใจเข้าร่วมนาโตของทั้งสองประเทศ เกิดขึ้นจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งได้จุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดต่อความมั่นคงในยุโรปในรอบหลายทศวรรษ
- เลขาธิการกระทรงการคลังของสหรัญ เจเนท เยลเลน ระบุว่า ยังไม่มีกฎหมายใดในสหรัฐที่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซีย
- สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เกาหลีเหนือเตรียมทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ในอีก 48-96 ชั่วโมงข้างหน้า ซึ่งตรงกับกำหนดการของปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐในการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชีย
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,305 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,171,480 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 4,394,915 ราย เสียชีวิต 42 ราย เสียชีวิตสะสม 29,637 ราย
- สถานทูตจีนและสถานกงศุลจีนเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังจีนจากเมืองลอสแองเจลิส นิวยอร์ก และซานฟรานซิสโก ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR ก่อนเดินทาง 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ผู้เดินทางยังคงต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR 2 ครั้งภายใน 48 หรือ 24 ชั่วโมงของเที่ยวบิน โดยขึ้นอยู่กับสนามบินที่เดินทาง และยังต้องตรวจแอนติเจนอีก 1 ครั้ง
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐ ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนใช้งานในกรณีฉุกเฉิน (EUA) ให้กับวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทคเข็มบูสเตอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกแล้วอย่างน้อย 5 เดือน
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า ความผันผวนในตลาดยังคงมีอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อและกดดันเงินบาท จนกว่าตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าได้ โดยแนวต้านของเงินบาทในระยะสั้นจะอยู่ในโซน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์
- วิจัยกรุงศรี ระบุว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผย GDP ไตรมาสแรกของไทยปี 2565 ขยายตัว 2.2% (YoY) และเติบโตต่อเนื่องจาก 1.8% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน โดยปัจจัยหนุนสำคัญมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกภาคบริการ จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ผนวกกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาครัฐ
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2/65 โดยคาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนที่เริ่มคลี่คลายจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ทยอยลดลงและอัตราการได้รับวัคซีนของประชากรในระดับสูง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัว ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวจากการทยอยเปิดประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะจากเพื่อนบ้านในเอเชีย
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.2 ในเดือนมีนาคม โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest, CNBC