ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการร่วงลงของตลาดหุ้นและข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 26.29 เหรียญ หรือ 1.45% มาอยู่ที่ระดับ 1,842.18 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 25.3 เหรียญ หรือ 1.39% ปิดที่ 1,841.2 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 36.4 เซนต์ หรือ 1.69% ปิดที่ 21.908 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 6.97 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,056.18 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ขายสุทธิ 38.37 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 80.52 ตัน
- นักวิเคราะห์อาวุโสการตลาดของ City Index กล่าวว่า มีการไหลออกของกองทุนทองคำ SPDR นับตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.เป็นต้นมา เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในทองคำ และหันมาถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นเงินสดแทน
- นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร ANZ กล่าวว่า ราคาทองคำปรับร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1,800 เหรียญในระยะสั้น และคาดว่าราคาทองคำจะทรงตัวใกล้แถวบริเวณ 1,820 เหรียญ ทั้งนี้ปัจจัยที่กดดันต่อราคาทองคำ ได้แก่ นโยบายการเงินแข็งกร้าวของเฟด และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น และสงครามในยูเครนเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาทองคำจะเคลื่อนตัวอยู่แถว 1,820 เหรียญ และมีโอกาสดีดกลับที่ระดับ 1,950 เหรียญ
- นักเศรษฐศาสตร์จาก TD Securities ชี้ว่า ราคาทองคำอาจจะยืนเหนือบริเวณระดับราคา 1,830 เหรียญได้ โดยที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มุ่งเน้นซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ได้ซื้อคืนทองคำกลับมาบางส่วน อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มเชิงลบ และภาพรวมปัจจัยลบยังกดดันราคาทองคำ ส่งผลให้แรงซื้อทองคำอาจไม่ต่อเนื่องยั่งยืน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.46 จุด หรือ -0.45% มาอยู่ที่ระดับ 102.9 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.14% มาอยู่ที่ระดับ 2.848% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.611% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.237%
- Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย.
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Westpac ระบุว่า ปัจจัย (1) ธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น และ (2) ท่าทีที่ผ่อนคลายลงของยุโรปที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย เป็นแรงหนุนค่าเงินยูโร ซึ่งอาจทำให้ระดับค่าเงินทรงตัวอยู่ในกรอบได้ ตลอดจนถึงเดือนมิถุนายน
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาด
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,253.13 จุด ลดลง 236.94 จุด หรือ -0.75%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,900.79 จุด ลดลง 22.89 จุด หรือ -0.58% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,388.50 จุด ลดลง 29.66 จุด หรือ -0.26%
- นักวิเคราะห์จาก UBS Wealth Management กล่าวว่า บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย และคาดว่าตลาดจะเผชิญกับความผันผวนต่อไปอีกจนถึงช่วงฤดูร้อน
- นางเจเนต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า การที่จีนบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น กำลังขัดขวางการไหลเวียนของสินค้าจนส่งผลกระทบต่อห่วงโซอุปทานทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวเป็นวงกว้างอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุผลให้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Standard Chartered ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลงเหลือ 4.1% สำหรับปี 2022 ลดลงจากที่เดิมคาดการณ์ที่ 5% และปรับลดประมาณการการเติบโตของจีนในไตรมาสที่ 2 ลดลงเหลือ 0.3% จากเดิมที่คาดการณ์ที่ 3.5% ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มการเงิน Goldman Sachs และ Citigroup ที่ปรับลดประมาณการการเติบโตของจีน ในช่วงก่อนหน้า
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 21,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ราย
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าอุปสงค์น้ำมันในจีนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น เมื่อนครเซี่ยงไฮ้ยุติการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 2.62 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 112.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.93 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 112.04 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จากความหวังของตลาดว่าจีนจะผ่อนคลายนโยบายการล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการเชื้อเพลิง ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับอุปทานทั่วโลกที่ตึงตัวมีมากกว่าความกลัวว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง
- สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากละตินอเมริกาในเดือนเมษายน ซึ่งสูงสุดในรอบ 7 เดือน ตามข้อมูลของศุลกากรสหรัฐฯ
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- สหภาพยุโรป อนุญาตประเทศสมาชิก สามารถซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้โดยไม่ละเมิดข้อตกลงการคว่ำบาตรรัสเซีย ถึงแม้คณะกรรมการสหภาพยุโรปจะยังไม่เห็นด้วยกับการให้บริษัทต่างๆเปิดบัญชีธนาคารในสกุลรูเบิลเพื่อใช้ชำระราคา แต่ยังไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน
- ประเทศจีนกำลังเจรจากับประเทศรัสเซีย ในการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของจีน ข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแผนแต่ไม่เปิดเผยชื่อ
- นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สนับสนุนให้รัฐบาลสหรัฐฯยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางกลุ่ม โดยเป็นสินค้ากลุ่มที่ไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากแต่กระทบต่อผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐฯ และขณะนี้กำลังมีการหารือภายในเกี่ยวกับการเก็บภาษีภายใต้มาตรา 301 ซึ่งอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยเรียกเก็บกับสินค้าจีนกว่าหลายแสนล้านดอลลาร์ โดยเธอมองว่า การลดภาษีนำเข้าอาจช่วยสกัดเงินเฟ้อได้ แต่ก็อาจจะไม่ถึงกับว่าเปลี่ยนแปลงไปเลยอย่างสิ้นเชิง
- นายยูริ บอริซอฟ รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียเริ่มต้นใช้อาวุธเลเซอร์ต้นแบบรุ่นใหม่ในยูเครน ซึ่งมีอานุภาพในการโจมตีเป้าหมายไกลระยะ 3 ไมล์
- นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) ต้องเตรียมพร้อมฟื้นฟูยูเครนอีกครั้งหลังสงคราม ด้วยการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อช่วยออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างใหม่มูลค่าหลายพันล้านยูโร
- เกาหลีเหนือพร้อมแล้วที่จะทำการทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง ข้อมูลจากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้ (NIS)
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- ศบค. รายงาน ยอดติดเชื้อโควิด 19 วันนี้ เพิ่มขึ้น 6,463 เสียชีวิต 41 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 2,177,943 ราย (ตั้งแต่ 1 มค. 65) และยอดเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 มค. 65 รวม 7,980ราย
- เซี่ยงไฮ้เริ่มอนุญาตให้ธุรกิจบางส่วนกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งรวมถึงห้างสรรสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา และร้านทำผม โดยกำชับให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ภายใต้การจัดการที่เป็นระเบียบและจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันเปิดเผยว่า บริษัทไต้หวันราวครึ่งหนึ่งที่เคยระงับการดำเนินการในจีนก่อนหน้านี้ เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังจีนผ่อนคลายมาตรการลง
- สิงคโปร์จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อกลับมาเปิดพรมแดนเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ถึงแม้จะมีไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นก็ตาม จากคำกล่าวของนายเอส อิสวารัน รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์
- เกาหลีเหนือได้เริ่มเพิ่มการผลิตเวชภัณฑ์ เช่น อุปกรณ์ฆ่าเชื้อและเครื่องวัดอุณหภูมิ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ รายงานจากสำนักข่าวเคซีเอ็นเอ (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือ
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.42 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.55 บาทต่อดอลลาร์
- ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจากนี้ไป อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน, การคว่ำบาตร สร้างแรงกดกันต่อภาวะอุปทาน และส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว จึงกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับตัวลง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น
- รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจระบบเปิด ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกประสบปัญหาและส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยต้องได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งการเงิน ที่ต่างมีความเชื่อมโยงกันหมด อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นร่วมกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต่างๆ สร้างดีมานด์ในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้น จึงทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยไม่ได้รุนแรงมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงว่า ในส่วนของ ธปท.เอง มีการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายการเงิน รวมถึงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างยืดหยุ่น ดังนั้น ธปท. ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest, ฺBloomberg