ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกขึ้นต่อในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอ่อนแอท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 4.46 เหรียญ หรือ 0.24% มาอยู่ที่ระดับ 1,846.44 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.9 ดอลลาร์ หรือ 0.05% ปิดที่ 1,842.1 ดอลลาร์/ออนซ์ และปิดตลาดในรอบสัปดาห์นี้ เพิ่มขึ้น 1.8% หลังจากร่วงลง 4 สัปดาห์ติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. 2561
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 23.4 เซนต์ หรือ 1.07% ปิดที่ 21.674 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 7.25 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,063.43 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ขายสุทธิ 31.12 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 87.77 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก OANDA มีมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำมากขึ้น พร้อมชี้ว่า ความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ กลายเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง และเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ โดยมองว่าราคาทองคำสามารถยืนอยู่เหนือระดับ 1,800 เหรียญได้ในสัปดาห์นี้
- นักวิเคราะห์จาก OANDA ประเมินราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทะลุเหนือระดับ 1,900 เหรียญได้หากดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลงมาก โดยประเมินว่า หากดัชนี้ตลาดหุ้นปรับตัวลเลงต่อไปอีก 5% ทำให้ค่าความผันผวนมากขึ้น และตลาดตราสารหนี้เกิดปัญหา จะกดดันให้เฟดลดความเข้มงวดนโยบายการเงินขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ซึ่งจะเป็นข่าวดีสำหรับราคาทองคำ
- นักวิเคราะห์ FXStreet กล่าวว่า ราคาทองคำพุ่งขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ในวันศุกร์นี้ โดยราคาทองคำได้เคลื่อนตัวแถวเส้นค่าเฉลี่ย DMA ราย 200 วันที่ระดับ 1838 เหรียญ โดยราคาทองคำยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์
- ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการของ GoldSilver Central กล่าวว่า ขณะนี้ราคาทองคำอยู่ในช่วงสะสมพลังเพื่อรอการเบรคทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยมีแนวต้านที่ 1,850 เหรียญ และแนวรับที่ 1,810 เหรียญ
- ผู้จัดการของ SPI Asset Management กล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยได้สร้างผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนต่อราคาทองคำ ขณะที่เฟดใช้นโยบายตึงเข้มด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงิน QE เป็นปัจจัยหลักที่กดดันราคาทองคำ เนื่องจากทองคำไม่มีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย จึงอาจมีความน่าสนใจน้อยลงสำหรับนักลงทุนเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟด แต่อย่างไรก็ตาม ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.22 จุด หรือ 0.21% มาอยู่ที่ระดับ 102.94 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.04% มาอยู่ที่ระดับ 2.808% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.616% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.192%
- Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย.
- ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปี ลง 0.15% สู่ระดับ 4.45% จากระดับ 4.6% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.10%
- อดีตรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า เงินเยนมีแนวโน้มทรุดตัวลงจนถึงระดับเดียวกับในปี 2533 เนื่องจากทิศทางนโยบายการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐมีความแตกต่างกันมากขึ้น เนื่องจากความแตกต่างระหว่างนโยบายคุมเข้มทางการเงินของเฟด และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของบีโอเจ ยังคงเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก และคาดว่าเงินเยนจะเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยนี้ต่อไปจนกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองประเทศจะหดแคบลง ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า เงินเยนจะอ่อนค่าลงสู่กรอบ 140-150 เยนต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้
- Madis Muller ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า ขณะนี้จำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับลดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่นาย Martins Kazaks กล่าวว่า เขาหวังว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม
- ธนาคารกลางอังกฤษเผชิญกับความยากลำบากที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดระดับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคาดว่า GDP ของอังกฤษจะตกต่ำในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีนี้
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์ หลังจากที่การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน สำหรับภาพรวมรายสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ยังคงปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2475 ซึ่งเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลบเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดภาวะฟองสบู่ดอทคอมในปี 2544
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,261.90 จุด เพิ่มขึ้น 8.77 จุด หรือ +0.03%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,901.36 จุด เพิ่มขึ้น 0.57 จุด หรือ +0.01%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,354.62 จุด ลดลง 33.88 จุด หรือ -0.30%
- เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จีนเผยคาดการณ์ว่า การบริโภคของจีนจะยังคงรักษาทิศทางการฟื้นตัว ขณะที่ทางการเริ่มสามารถควบคุมผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และบังคับใช้นโยบายสนับสนุน ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกของจีนในเดือนเม.ย. ที่ลดลง เมื่อเทียบรายปี สาเหตุหลักจากการระบาดของโรคโควิด โดยผลกระทบต่อการบริโภคนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เพราะการบริโภคของจีนยังคงมีความยืดหยุ่นและศักยภาพสูง รวมถึงพื้นฐานการพัฒนาอันดีในระยะยาวนั้นไม่ได้เปลียนแปลงไป
- สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนในเดือนเม.ย.ลดลง 11.1% จากปีก่อน แตะ 2.95 ล้านล้านหยวน ส่วนยอดค้าปลีกในช่วง 4 เดือนแรก ลดลง 0.2% จากปีก่อน
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของญี่ปุ่น ในเดือนเม.ย.ขยายตัว 2.1% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 7 ปี และสูงกว่าระดับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ที่ 2% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ โดยได้แรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.02 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 113.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 112.55 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นางแองเจลา วิลคินสัน จากสภาพลังงานโลก กล่าวว่า วิกฤตการณ์น้ำมันในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากวิกฤตการณ์น้ำมันในอดีต และผู้บริโภคจะต้องแบกรับผลกระทบ ในขณะที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ซึ่งหากพิจารณาถึงราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นในหลายพื้นที่ของโลก จะเห็นได้ว่าประชาชนครึ่งล่างของสังคมจำนวนมากไม่สามารถแบกรับราคาที่สูงได้แล้วในขณะนี้ และจะได้เห็นการโยกย้ายเงินครั้งใหญ่จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- รัสเซียรอดผิดนัดชำระหนี้ หลังจ่ายดอกเบี้ยยูโรบอนด์ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรัสเซียแถลงว่า รัฐบาลรัสเซียสามารถชำระดอกเบี้ยพันธบัตรยูโรบอนด์เต็มวงเงินจำนวน 2 ฉบับในวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
- ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เปิดเผยว่า กองกำลังรัสเซียได้ทำลายล้างภูมิภาคดอนบาสอย่างสมบูรณ์ พร้อมกล่าวหาว่า รัสเซียได้ทิ้งระเบิดอย่างไร้เหตุผลในขณะที่เพิ่มการรุกรานที่รุนแรงขึ้น
- นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯอาจร่วมหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายซัลลิแวนได้พูดคุยกับผู้อำนวยการสำนักงานกิจการต่างประเทศของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถึงความกังวลใจเกี่ยวกับการทดสอบหัวรบนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ โดยมองว่า จีนจะมีท่าทีเมินเฉยต่อเรื่องนี้ และจีนควรพิจารณาถึงทุกแนวทางเพื่อลดความเป็นไปได้ที่จะยั่วยุเกาหลีเหนือ ซึ่งการสนทนาในประเด็นดังกล่าวเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกเรื่องของไต้หวันรวมถึงประเด็นอื่น ๆ มาหารือกันด้วย
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ เดินทางถึงเกาหลีใต้ในวันศุกร์ที่ผ่านมา และมีกำหนดเข้าพบปะกับประธานาธิบดียุน ซอกยอลของเกาหลีใต้ โดยปธน.ยุน กล่าวว่า การเยือนของปธน.ไบเดนจะเป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐให้แน่นแฟ้นและครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความท้าทายหลายประการที่เกิดขึ้นในประชาคมโลก ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐและเกาหลีใต้จะเจรจาประเด็นเกาหลีเหนือเป็นวาระสำคัญในการประชุม
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมทั่วโลกมีจำนวน 500,097,001 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ระดับ 6,206,648 ราย โดยสหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (82,103,067) รองลงมาคืออินเดีย (43,036,928) บราซิล (30,161,205)
- ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยวันนี้ว่า พบยอดผู้ติดเชื้อรวม 4,099 ราย และมียอดผู้ป่วยสะสม 2,192,158 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) และเสียชีวิต 29 ราย
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.10-34.70 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.45 บาทต่อดอลลาร์
- รัฐบาลเผยต่างชาติลงทุนในไทย 4 เดือนแรกปีนี้ 3.6 หมื่นลบ. และการลงทุนของต่างชาติอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อาทิ บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นสำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการตรวจสอบ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาสินค้าประเภทเครื่องมือแพทย์ บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า บริการรับจ้างผลิตและประกอบรถยนต์ เป็นต้น
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest, Kitco