ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 2.58 เหรียญ หรือ 0.14% มาอยู่ที่ระดับ 1,852.35 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 1,069.81 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ขายสุทธิ 24.74 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 94.15 ตัน
- นักวิเคราะห์อาวุโสการตลาดของ City Index กล่าวว่า เนื่องจากวันหยุด Memorial Day ของสหรัฐฯ ทำให้ปริมาณการซื้อขายทองคำค่อนข้างเบาบาง และยังไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ ส่งผลให้ราคาทองคำทรงตัวอยู่แถวบริเวณ 1,850 เหรียญ จนกว่าจะมีปัจจัยเร่งตัวใหม่เข้ามากระทบต่อราคาทองคำ
- นักวิเคราะห์อาวุโสการตลาดของ City Index ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวของราคาค่อนข้างปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือเงินสดจากการที่ตลาดหุ้นตกต่ำ ในขณะที่การล็อคดาวน์ของจีนกำลังลดทอนอุปสงค์ นอกจากนี้ โดยปกติแล้ว เดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นเดือนที่ทองคำมักมีปรับตัวต่ำลง แต่สำหรับปีนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนหนึ่งเดือน
- นักวิเคราะห์ทางเทคนิคของรอยเตอร์ กล่าวว่า ราคาทองคำตลาดโลก มีโอกาสขึ้นทดสอบแนวต้านที่ระดับ 1,867 เหรียญ และหากเบรคทะลุแนวต้านดังกล่าวไปได้ จะเผชิญแนวต้านถัดไปแถวบริเวณ 1,887-1,892 เหรียญ
- นักวิเคราะห์จาก Fxstreet กล่าวว่า ราคาทองคำทำสูงสุดใหม่ในช่วงต้นสัปดาห์เหนือระดับ 1,860 เหรียญ ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าใกล้ระดับต่ำสุดในเดือนนี้ ช่วยสนับสนุนให้ทองคำเผชิญแรงซื้อมากขึ้น อย่างไรก็ดี สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน และอาจจะเป็นอุปสรรคต่อราคาทองคำ
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank ชี้ว่า ทองคำจะสามารถฟื้นตัวปรับเพิ่มขึ้นได้ จากอัตราเงินเฟ้อในยุโรปที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.24 จุด หรือ -0.24% มาอยู่ที่ระดับ 101.43 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.06% มาอยู่ที่ระดับ 2.812% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.581% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.231%
- Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 97% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย.
- สมาชิกสภาผู้ว่าการเฟด คริสโตเฟอร์ วอล์เลอร์ กล่าวสนับสนุนปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในอีกหลายการประชุม ไปจนกว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2.0% และหากเงินเฟ้อยังยืดเยื้อ ก็สามารถขึ้นดอกเบี้ย 0.50% นำมาพิจารณาได้อีก
- สมาชิกสภาผู้ว่าการเฟด คริสโตเฟอร์ วอล์เลอร์ ชี้ว่า การปรับลดขนาดงบดุลของเฟด เทียบเท่ากับการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จำนวนสองครั้ง
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ตลาดหุ้นสหรัฐปิดทำการเมื่อวานนี้ เนื่องจากวันหยุด Memorial Day โดยตลาดจะกลับมาเปิดทำการซื้อขายอีกครั้งในวันนี้
- สำหรับภาวะการซื้อขายตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 6.2% ขณะที่ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น 6.6% และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 6.8% โดยได้แรงหนุนจากรายงานการประชุมเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยรายงานระบุว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี หากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลง
- กระทรวงการคลังเยอรมนีเปิดเผยว่า เยอรมนีตกลงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศเพื่ออนุมัติกองทุนพิเศษด้านกลาโหมวงเงิน 1 แสนล้านยูโร (1.0735 แสนล้านดอลลาร์) ตามที่มีการเสนอขอ หลังจากรัสเซียใช้ปฏิบัติการทางทหารบุกโจมตียูเครน
- สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (CCPIT) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทซึ่งลงทุนโดยต่างชาติ (FIE) ในจีนมองว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของจีนยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยบริษัทส่วนใหญ่ยังคงรักษาระดับหรือขยายขนาดธุรกิจได้ในไตรมาสแรก
- ผลสำรวจโดยธนาคารกลางเกาหลีใต้ ระบุว่า นักการเงินเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดต่อระบบการเงินของเกาหลีใต้ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อนั้นเกิดจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและภาวะชะงักงันด้านห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นกว่า 2% ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากผู้นำกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) มีมติระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงของรัสเซียในการทำสงครามยูเครน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 2.33 ดอลลาร์ หรือ 2.02% แตะที่ระดับ 117.40 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.76 ดอลลาร์ หรือ 2.311% ปิดที่ 122.19 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ผู้นำกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) มีมติระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 โดยมีเป้าหมายเพื่อตัดแหล่งการเงินขนาดใหญ่ที่รัสเซียใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงคราม เงื่อนไขภายใต้มติดังกล่าวระบุว่า รัสเซียยังสามารถขนส่งน้ำมันผ่านทางท่อส่ง Druzhba ให้กับฮังการี, สาธารณรัฐเชก และสโลวาเกีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียในครั้งนี้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศที่ไม่ติดทะเล ไม่สามารถรับน้ำมันทางเรือขนส่งน้ำมันได้
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ระบุว่า เงื่อนไขสำหรับภูมิภาคดอนบาสนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากใจเกินบรรยาย ขณะที่กองกำลังยูเครนพยายามยืนหยัดต่อสู้กองทัพรัสเซียที่ยังคงบุกโจมตี
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนและความมั่นคงทางอาหารของโลกกับปธน.เอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส และนายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี สำหรับประเด็นการเจรจาสันติภาพระหว่างคณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครนนั้น ปธน.ปูตินยืนยันว่ารัสเซียพร้อมที่จะกลับมาเริ่มการเจรจาที่เคยระงับไว้
- ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกีเปิดเผยว่า การเจรจากับฟินแลนด์และสวีเดนเรื่องที่ทั้งสองประเทศสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) นั้น ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ และตุรกีไม่สามารถตอบตกลงให้ประเทศที่ “สนับสนุนการก่อการร้าย” เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต
ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3,955 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 4,450,457 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 21 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,321 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,019 ราย
- ฮ่องกงเตรียมผ่อนปรนข้อบังคับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเข้าเมือง ในขณะที่รัฐบาลฮ่องกงเริ่มต้นผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางบางส่วน
- เซี่ยงไฮ้จะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันพุธที่ 1 มิ.ย.นี้ โดยจะอนุญาตให้รถยนต์ซึ่งรวมถึงรถแท็กซี่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้ และอนุญาตให้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางออกจากบ้านได้
- นครเซี่ยงไฮ้ ประกาศมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์, อนุญาตให้ผู้ผลิตทุกรายสามารถกลับมาดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป, เร่งอนุมัติโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์และสนับสนุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ ๆ, สนับสนุนการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมรถไฟ, ท่าเรือ, สนามบิน และพลังงาน และสนับสนุนบริษัทต่างชาติให้เขามาตั้งสำนักงานใหญ่และศูนย์วิจัยในเซี่ยงไฮ้
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.09 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.15 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.15 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.08-34.37 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯบ่งชี้ถึงการชะลอความร้อนแรง อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 3-4 พฤษภาคม โดยระบุว่าผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 50bp มีความเหมาะสมสำหรับการประชุมเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด
- ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลต่อระดับราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพอย่างใกล้ชิด
- ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2565 ว่า ได้รับปัจจัยปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest, CNBC