ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่สองในวันพุธ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯยังคงเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯในวันศุกร์นี้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 0.36 เหรียญ หรือ 0.02% มาอยู่ที่ระดับ 1,852.34 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 4.4 เหรียญ หรือ 0.24% ปิดที่ 1,856.5 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 8.4 เซนต์ หรือ 0.38% ปิดที่ 22.094 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 2.33 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,065.39 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 2.97 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 89.73 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก OANDA ระบุว่า ทองคำได้รับแรงหนุนจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากความกังวลมากขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ท่ามกลางแนวโน้มเปิดรับความเสี่ยงที่กำลังลดลง
- นักวิเคราะห์จาก Capital Markets กล่าวว่า ราคาทองคำพยายามดีดกลับอย่างมากในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกเล็กน้อยเกี่ยวกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับเพิ่มขึ้น
- นักวิเคราะห์ของ Standard Chartered ระบุว่า สินค้าโภคภัณฑ์จำพวกแพลตตินั่ม และซิลเวอร์เผชิญแรงเทขายอย่างรวดเร็วจากกองทุน ETF เนื่องมาจากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจชะลอการเติบโต และความเสี่ยงสู่ภาวะถดถอย เริ่มส่งผล กระทบต่อความต้องการของนักลงทุน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.13 จุด หรือ 0.13% มาอยู่ที่ระดับ 102.57 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.055% มาอยู่ที่ระดับ 3.034% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.793% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.241%
- Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 96% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน มิ.ย.
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองการคาดการณ์ GDPNow tracker แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ซึ่งเข้าเกณฑ์การประเมินว่า เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Scotiabank คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% และจะปรับนโยบายทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในสหรัฐฯ และนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดของเฟด จะกดดันค่าเงินยูโรให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.06 จุดในสัปดาห์หน้า
- นักเศรษฐศาสตร์จาก UOB ชี้ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ (9 มิ.ย.) โดยคาดว่าการปรับนโยบายทางการเงินจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
- ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repo rate) 0.50% สู่ระดับ 4.90% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสองเดือนติดต่อกัน โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเปิดเผยว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะพิจารณาการใช้นโยบายใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับแรงกดดันที่เกิดจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543
- เงินเยนร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ติดต่อกันเป็นวันที่สอง อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและญี่ปุ่นปรับตัวกว้างขึ้น
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่ามีการขยายตัว 0.7% ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของเกาหลีใต้ขยายตัว 3.0% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าขยายตัว 3.1%
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอย จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นเหนือระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 3%
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,910.90 จุด ลดลง 269.24 จุด หรือ -0.81%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,115.77 จุด ลดลง 44.91 จุด หรือ -1.08% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,086.27 จุด ลดลง 88.96 จุด หรือ -0.73%
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า สินเชื่อเพื่อการบริโภคในสหรัฐพุ่งขึ้นสูงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในเดือนเม.ย. ในขณะที่ชาวสหรัฐยังคงใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดสูงสุดรอบ 40 ปี ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อการบริโภคในสหรัฐพุ่งขึ้น 38,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. หลังจากทะยานขึ้น 47,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. และอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์สำหรับเดือนเม.ย.
- บริษัทที่ปรึกษาด้านแรงงานของสหรัฐเปิดเผยว่า บริษัทเทคโนโลยีและบริษัทคริปโทเคอร์เรนซีในสหรัฐได้ปรับลดการจ้างงานในเดือนพ.ค.ลงมากกว่าในช่วง 4 เดือนก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและดีมานด์ที่ชะลอตัวลง
- สำนักงานสถิติสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวในไตรมาสแรกปีนี้ในอัตราที่สูงกว่าไตรมาสก่อนอย่างมาก แม้ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครนก็ตาม โดยเศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบรายไตรมาส และเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นการทบทวนปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ออกมาในกลางเดือนพ.ค.ที่ขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบรายไตรมาส และ 5.1% เมื่อเทียบรายปี
- สำนักงานสถิติสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า การจ้างงานในยูโรโซนในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายไตรมาส และ 2.9% เมื่อเทียบรายปี
- บริษัทฟิทช์ เรทติงส์เปิดเผยว่า สัดส่วนของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มียอดขาดดุลงบประมาณ และยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 4% ของจีดีพี หรือสูงกว่านั้น มีแนวโน้มจะพุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ขณะที่การพุ่งขึ้นของราคาที่มีสาเหตุมาจากสงครามของรัสเซียในยูเครนได้ซ้ำเติมผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 สัปดาห์ในวันพุธ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันเบนซินลดลงอย่างเหนือความคาดหมาย ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการเชื้อเพลิงในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากที่จีนประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.70 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 122.11 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2565
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 3.01 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 123.58 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2565
- นักวิเคราะห์ของ UBS ระบุ แม้ว่าสถาบัน API ได้รายงานข้อมูลสินค้าคงคลังของสินค้าประเภทน้ำมันดิบ น้ำมันเบนซินและน้ำมันดิน ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น แต่จะเห็นว่าราคาน้ำมันยังคงปรับตัวสูง เนื่องมาจากได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์และการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนของจีน
- นายมาร์โค โคลาโนวิค หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดโลกของบริษัทเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูงถึงระดับ 150 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับราคาน้ำมันที่สูงขนาดนั้นได้
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- คณะกรรมการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือยูเครนเพิ่มอีก 1.49 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยจ่ายเงินเดือนรัฐบาลและนักสังคมสงเคราะห์ โดยขยายวงเงินช่วยเหลือแก่ยูเครนเพิ่มเป็นกว่า 4 พันล้านดอลลาร์แล้ว
- แม้สหภาพยุโรป (EU) จะสนับสนุนให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม แต่ขั้นตอนดังกล่าวกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะที่ยูเครนกำลังเผชิญกับสงครามอยู่ในขณะนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ซึ่งก็รอมาเป็นเวลานานแล้ว
- สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า ทหารชาวยูเครนกว่า 1,000 นายที่ยอมจำนนในเมืองมาริอูโพลทางตอนใต้ของยูเครนนั้น ได้ถูกส่งตัวไปยังรัสเซียเพื่อทำการสอบสวน โดยหากข่าวดังกล่าวได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง ก็จะส่งผลให้การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนเผชิญกับความยุ่งยากมากขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,185 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมจนถึงวันนี้ 4,477,052 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิต 23 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,564 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,262 ราย
- คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) แถลงในวันนี้ว่า จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจำนวน 44 รายในวันอังคาร
- ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์นิวซีแลนด์ยกระดับการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ตามแนวพรมแดน ในขณะที่เตรียมพร้อมรับมือการระบาดเพิ่มเติมของเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธ์ย่อย ซึ่งปัจจุบันแพร่กระจายไปทั่วโลก
- สหรัฐทิ้งวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 82.1 ล้านโดส นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563 จนถึงกลางเดือนพ.ค. 2565 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 11% ของปริมาณวัคซีนที่รัฐบาลกลางสหรัฐแจกจ่าย เนื่องจากมีวัคซีนปริมาณมากที่ต้องจัดการ
- วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทโนวาแวกซ์ อิงค์ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐให้ใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปแล้ว ซึ่งจะเปิดทางให้มีการจำหน่ายวัคซีนดังกล่าวในสหรัฐได้อย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.60 บาทต่อดอลลาร์
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 8 มิถุนายน 2565 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยกรรมการเสียงข้างน้อย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 และ 2023 จะอยู่ที่ 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ และประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.3% ในปี 2022 และ 4.2% ในปี 2023
- เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่า ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุด หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยปรับลดลง และเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงปี 66 แต่อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง จาก 2 ปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลก และ 2.การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศ
- SCB EIC คาด กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ หลังเงินเฟ้อเร่งตัวและเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest