ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -6.19 เหรียญ หรือ -0.33% มาอยู่ที่ระดับ 1,846.42 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง -3.7 เหรียญ หรือ -0.2% ปิดที่ 1,852.8 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง -27.7 เซนต์ หรือ -1.25% ปิดที่ 21.817 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 1,065.39 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 2.97 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 89.73 ตัน
- นักกลยุทธ์จาก RJO Futures ชี้ว่า ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ส่งสัญญาณจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาทองคำอ่อนตัวลง เสมือนว่า สภาวะเปิดรับความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ ประกอบกับส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นอีกเล็กน้อย
- นักวิเคราะห์อาวุโสการตลาดของ City Index กล่าวว่า ตลาดให้ความสนใจรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันศุกร์ และเราจะเห็นทิศทางการเคลื่อนตัวของราคาทองคำที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงมีมุมมองเชิงบวกจากการที่กองทุนทองคำ SPDR ในวันพุธที่ผ่านมา มีการไหลเข้าซื้ออย่างแข็งแกร่งในรอบเดือน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.97 จุด หรือ 0.95% มาอยู่ที่ระดับ 103.29 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.06% มาอยู่ที่ระดับ 3.046% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.831% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.215%
- Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 96% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน มิ.ย.
- ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB กล่าวว่าจะยุติมาตรการซื้อพันธบัตรในวันที่ 1 กรกฎาคม และปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ภายในเดือนเดียวกัน และจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน และอาจพิจารณาปรับดอกเบี้ยที่มากขึ้น หากภาพเงินเฟ้อยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น
- นักเศรษฐศาสตร์จาก UOB ชี้ว่า ธนาคารกลางอังกฤษอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมวันที่ 16 มิถุนายนนี้ จากผลการโหวตครั้งล่าสุดโดยคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน ชี้ว่า มีผู้ที่เห็นด้วยกับนโยบายทางการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปน้อยกว่าที่เคยคาดไว้
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เตือนว่า ควรให้ความสนใจมากขึ้นต่อผลกระทบจากสกุลเงินวอนที่อ่อนค่าลงที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อ พร้อมกับกล่าวย้ำว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับอัตราเงินเฟ้อ
- โกลด์แมน แซคส์ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มของสกุลเงินเยน แม้ว่าเงินเยนอาจจะร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันข้างหน้าก็ตาม อย่างไรก็ตาม ยังมีสองปัจจัยที่จะทำให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ได้แก่ (1)การที่เศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางชะลอตัวลง หรือ (2)การที่ธนาคารกลางปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินหรือเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา โดยปัจจัยหลังนั้นจะเกิดจากการที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นดีดตัวขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูง และจากการเปิดประเทศของญี่ปุ่น
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับสูงและผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังเป็นปัจจัยกดดันตลาด
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,272.79 จุด ร่วงลง 638.11 จุด หรือ -1.94%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,017.82 จุด ลดลง 97.95 จุด หรือ -2.38% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,754.23 จุด ดิ่งลง 332.04 จุด หรือ -2.75%
- สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวลง 15% ในปีนี้ และหดตัวลง 3% ในปีหน้า เนื่องจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกบังคับใช้กับรัสเซีย รวมทั้งการที่บริษัทต่างชาติพากันถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย, ปัญหาบุคลากรคุณภาพแห่ออกนอกประเทศ และการส่งออกทรุดตัวลง โดยจะลบล้างการเติบโตตลอด 15 ปีของรัสเซียจนหมดสิ้น
- ผลสำรวจที่จัดทำโดยสมาคมผู้บริหารบริษัทของญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า ผู้จัดการบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 74% ระบุว่า เงินเยนที่อ่อนค่าส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
- นางเอมี โคลบูชาร์ วุฒิสมาชิกสหรัฐ และสมาชิกสภาจากทั้งสองพรรคการเมืองเผยว่า ได้คะแนนเสียงจากวุฒิสภาสหรัฐมากพอที่จะผ่านร่างกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แล้วได้แก่ เฟซบุ๊กของเมตา, แอปเปิล, กูเกิลของอัลฟาเบท และแอมะซอนดอตคอม พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการลงคะแนนเสียงร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อห้ามบริษัทเทคโนโลยีดังกล่าวหยุดกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนผ่านผลการค้นหาข้อมูล และช่องทางอื่น ๆ
- โพสสำรวจรอยเตอร์ ระบุว่า ทำเนียบขาว คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภครายเดือนของสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภครายปีจะอยู่ที่ 8.3%
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี โดยตลาดถูกกดดันจากรายงานข่าวที่ว่า นครเซี่ยงไฮ้ประกาศล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วนพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง -60 เซนต์ หรือ -0.5% ปิดที่ 121.51 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง -51 เซนต์ หรือ -0.4% ปิดที่ 123.07 ดอลลาร์/บาร์เรล
- หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ของ ING กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะเห็นราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเร็วๆ นี้ เนื่องจากอุปทานน้ำมันยังคงตึงตัว ท่ามกลางความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้
- นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ OANDA กล่าวว่า ราคาน้ำมันยังคงทรงตัว แม้ว่าเซี่ยงไฮ้จะสั่งล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด 19 อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้อุปสงค์น้ำมันในตลาดลดลง
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐสั่งระงับสิทธิพิเศษด้านการส่งออกของบริษัท 3 แห่งในสหรัฐเป็นเวลา 180 วัน ซึ่งได้แก่บริษัทควิกซิลเวอร์ แมนูแฟคเจอริง, บริษัทแรพิด คัท และบริษัทยูเอส โปรโตไทป์ หลังจากทั้ง 3 บริษัทได้ทำการส่งออกดาวเทียม จรวด และเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศให้กับจีน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
- เมลานี โจลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดาประกาศว่า แคนาดากำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และเคมีของรัสเซีย
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- เซี่ยงไฮ้ประกาศว่าจะล็อกดาวน์เขตหมินหัง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 11 มิ.ย.เพื่อปูพรมตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นการใช้มาตรการควบคุมการเดินทางครั้งสำคัญเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ประกาศยุติมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ส่วนใหญ่ในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,836 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 4,479,888 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตรายใหม่ 24 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,588 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,286 ราย
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าสุดในรอบ3สัปดาห์” และ"อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.49 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาทต่อดอลลาร์
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยรายงานดัชนีเดือนพ.ค. อยู่ที่ 84.3 ลดลงจาก 86.2 ในเดือนเม.ย.
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังไม่ใช่คำตอบชัดเจนในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เป็นเพียงการสกัดกั้นในเชิงจิตวิทยา แต่การชะลอเงินเฟ้อได้ดีที่สุด คือการใช้นโยบายด้านการคลังในการดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกัน รัฐบาลใช้นโยบายเงินบาทอ่อนจะช่วยส่งเสริมการส่งออก และการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนพ.ค. 65 ลดลง โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 35.2 ลดลงจากระดับ 35.4 ในเดือนเม.ย. 65
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือของปี 65 ซึ่งได้แก่ เดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสที่ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50%
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest