ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือนในวันอังคาร โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -9.72 เหรียญ หรือ -0.53% มาอยู่ที่ระดับ 1,811.19 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง -18.3 เหรียญ หรือ -1% ปิดที่ 1,813.5 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งวันที่ 13 พ.ค. 2565
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง -30.1 เซนต์ หรือ -1.42% ปิดที่ 20.954 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 4.93 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,063.94 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 4.42 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 88.28 ตัน
- นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสของ City Index กล่าวว่า ราคาทองคำเผชิญแรงกดดันจากการเทขาย ท่ามกลางบรรดานักลงทุนตัดสินใจนำเงินไปลงทุนในตลาดอื่นแทนหรือถือเงินสดแทน นอกจากนี้ยังระบุว่า ราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นแต่มีปริมาณการซื้อขายทองคำเบาบางในวันอังคารที่ผ่านมา บ่งชี้ว่านักลงทุนมีมุมมองเชิงลบ รีบขายทองคำทำกำไร
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 1.17 จุด หรือ 1.12% มาอยู่ที่ระดับ 105.32 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.307% มาอยู่ที่ระดับ 3.479% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.398% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.081%
- FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนประเมินโอกาส 97.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินรอบ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวันศุกร์ที่ผ่านมาที่คาดว่ามีโอกาสเพียง 4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% และเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานที่คาดมีโอกาส 93%
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีในวันอังคารขณะที่ Australian dollar และ ค่าเงินยูโร ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากตลาดเตรียมรับมือต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐฯในสัปดาห์นี้
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีอยู่ในระดับสูงกว่าอายุ 10 ปีและ 30 ปี ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน และโกลด์แมน แซคส์ ต่างก็คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันพุธนี้ หลังจากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของชาวอเมริกันปรับตัวสูงขึ้น
- ศูนยวิจัยกสิกรไทย คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 14-15 มิ.ย. นี้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ โดยเฟดจะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลัก ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะไม่ชะลอลงในระยะอันใกล้
- อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดกล่าวว่า "ผมคาดว่าตัวเลขคาดการณ์อัตราการว่างงานจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่ถ้าหากตัวเลขเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก นั่นก็จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดกังวลกับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง หรืออาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย"
- นาย Klaas Knot ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรปจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนตุลาคมและธันวาคม โดยหากยังคงเงื่อนไขเดิมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.ย.นี้ จากนั้นอาจปรับขึ้นอีก 0.5% ในระดับถัดไป โดยจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับเพิ่มปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรเมื่อวานนี้ เพื่อสกัดกั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไม่ให้พุ่งขึ้นเหนือระดับเพดานที่บีโอเจตั้งไว้ที่ 0.25% หลังจากอัตราผลตอบแทน JGB ดังกล่าวพุ่งขึ้นแตะ 0.255% ในวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 2016 หรือจุดสูงสุดรอบ 6 ปี
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ในวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยหากเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยนักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดซึ่งจะมีการแถลงในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,364.83 จุด ลดลง 151.91 จุด หรือ -0.50%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,735.48 จุด ลดลง 14.15 จุด หรือ -0.38%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,828.35 จุด เพิ่มขึ้น 19.12 จุด หรือ +0.18%
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมอร์แกน สแตนลีย์ออกโรงเตือนในวันจันทร์ว่า มีโอกาส 50% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงก็ตาม พร้อมเตือนว่านักลงทุนเสี่ยงเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -28.0 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ -34.3 ในเดือนพ.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -27.5 นอกจากนี้ ยังระบุว่าเศรษฐกิจเยอรมนียังคงเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย, สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน
- รัฐบาลจีนเปิดเผยว่า เศรษฐกิจและสังคมจีนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และทางการจีนจำเป็นต้องปรับปรุงกลไกการปรับตัวและความสามารถในการตรวจสอบในทุกระดับของรัฐบาล
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอินเดียเปิดเผยว่า เงินเฟ้อที่อิงกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 7.04% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยชะลอตัวลงเล็กน้อย หลังแตะ 7.79% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี โดยได้แรงหนุนจากราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้นในระดับชะลอตัว
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคารเนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 2 ดอลลาร์ หรือ 1.65% ปิดที่ 118.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.10 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 121.17 ดอลลาร์/บาร์เรล
- หุ้นส่วนผู้จัดการของ SPI Asset Management กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลลบต่ออุปสงค์และราคาน้ำมันในขณะนี้ ได้แก่ (1) ประเด็นที่เกี่ยวกับกำลังการผลิตน้ำมันที่ลดลงในประเทศลิเบีย (2) จีนยังคงกำหนดมาตรการคุมเข้มโควิด-19 เพื่อชะลอการแพร่ระบาด (3) ความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของทั่วโลก
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- รัสเซีย เรียกร้องให้ กองกำลังยูเครนในโรงงานเคมีในเมืองเซเวโรดอนเนสก์วางอาวุธ ในขณะที่ยูเครนเรียกร้องชาติตะวันตกให้ส่งอาวุธเพิ่มขึ้น หลังจากรัสเซยโจมตีทางในโซนภาคตะวันออกของภูมิภาคดอนบาส
- รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นแสดงความหวังที่จะแบ่งปันข่าวกรองทางทหารอย่างราบรื่นกับเกาหลีใต้อีกครั้ง หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ข้อตกลงที่เกือบถึงขั้นยุติภายใต้รัฐบาลชุดที่แล้วควรนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อปฏิบัติการทางทหารที่ราบรื่นยิ่งขึ้น สำหรับข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองด้านการทหาร หรือ GSOMIA
- สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันของสหรัฐเห็นชอบร่วมกันในข้อเสนอที่จะเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐ มีอำนาจเพิ่มขึ้นในการสกัดการลงทุนจำนวนมหาศาลของบริษัทสหรัฐในประเทศจีน
- นักการทูตระดับสูงของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เกาหลีเหนือเตรียมการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์รอบใหม่เสร็จสิ้นแล้ว และรอเพียงการตัดสินใจของผู้นำระดับสูงของประเทศเท่านั้นที่จะยับยั้งไม่ให้การทดสอบเดินหน้าต่อไป
- สภาความมั่นคงแห่งชาติอิสราเอลประกาศยกระดับการเตือนภัยสำหรับพลเมืองที่จะเดินทางไปยังเมืองอิสตันบูลของตุรกี สู่ระดับสูงสุด เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ว่าจะมีการโจมตีจากอิหร่าน โดยการยกระดับคำเตือนดังกล่าวมีขึ้น หลังจากความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,263 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,490,760 ราย ไม่รวม ATK อีก 4,236 ราย สะสม 1,813,106 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 18 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,688 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,386 ราย
- รัฐวิกตอเรียได้เรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์ในระบบโรงพยาบาลทั่วทั้งรัฐเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสที่ 4 โดยเร็วที่สุด หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรัฐวิกตอเรียยังคงอยู่ในระดับสูง โดยรัฐวิกตอเรียมีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของออสเตรเลีย
- บริษัท โอเรียนสตาร์ กรุ๊ป (Orient Star Group) เปิดเผยว่า มาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ในเซี่ยงไฮ้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงการปิดทางหลวงด้วยนั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงรอบ5ปี3เดือนครั้งใหม่และอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์
- วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ โดยสาเหตุที่เชื่อว่า กนง.มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น เนื่องจาก
- (1) กนง.ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโต 3.3% จากเดิมคาด 3.2%
- (2) ความกังวลอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและนานกว่าคาด โดย กนง. ประเมินอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดทั้งปีนี้ ล่าสุด กนง.ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นสูงเป็น 6.2% จากเดิมคาด 4.9%
- (3) กนง.ระบุว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน จะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจช้าเกินไปเมื่อเทียบกับแนวโน้มของเงินเฟ้อ
- รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า EIC ปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 ขึ้นเป็น 2.9% จากเดิม 2.7% ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ ผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยและการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนของหลายประเทศทั่วโลก
- รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการดูแลราคาสินค้าว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์พยายามเข้าไปกำกับดูแลราคาสินค้า เพื่อให้ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ต้องดูแลในฝ่ายของผู้ผลิตและเกษตรกรด้วย ซึ่งจะเป็นลักษณะ “วิน-วิน โมเดล” ที่ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งภาคเกษตรกร ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภค
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest, RYT9