ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -12.49 เหรียญ หรือ -0.69% มาอยู่ที่ระดับ 1,806.34 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 10.2 เหรียญ หรือ 0.56% ปิดที่ 1,807.3 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 38.6 เซนต์ หรือ 1.86% ปิดที่ 20.352 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 14.6 เหรียญ หรือ 1.6% ปิดที่ 895.3 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.32 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,050.31 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 18.05 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 74.65 ตัน
- นักวิเคราะห์อาวุโสการตลาดของ City Index กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น และสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง แต่ราคาทองคำในสกุลอื่นๆ อาจจะไม่ได้ปรับตัวลดลงไปมาก
- นักเศรษฐศาสตร์จาก TD Securities ชี้ว่า ราคาทองคำยังคงได้รับแรงกดดันแม้ว่าโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำไม่ค่อยมีสัมพันธ์กับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่กลับเพิ่มความสัมพันธ์กับค่าเงินดอลลาร์มากขึ้น ในขณะที่สภาพคล่องทั่วโลกลดลง เม็ดเงินลงทุนในทองคำ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.11 จุด หรือ 0.1% มาอยู่ที่ระดับ 104.6 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.022% มาอยู่ที่ระดับ 2.996% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.968% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.029%
- หัวหน้าธนาคารกลางระดับโลก กล่าวว่า การควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอยู่ทั่วโลกในขณะนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวการเติบโต อย่างไรก็ตาม ควรป้องกันภาวะเงินเฟ้อโดยเร็วเพื่อไม่ให้ราคาอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นไปจากเดิม
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,775.43 จุด ร่วงลง 253.88 จุด หรือ -0.82%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,785.38 จุด ลดลง 33.45 จุด หรือ -0.88% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,028.74 จุด ลดลง 149.16 จุด หรือ -1.33%
- เอสแอนด์พีได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของจีนสู่ระดับ 3.3% หลังจากที่ปรับลดลงสู่ระดับ 4.2% ในเดือนพ.ค. จาก 4.9% ที่คาดไว้ในเดือนมี.ค. ระบุว่า มาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ เอสแอนด์พีได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของจีนลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือน
- รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสิงคโปร์เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสิงคโปร์กำลังคลี่คลาย หลังอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องใกล้แตะระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือนพ.ค.ทรุดตัวลงมากที่สุดในรอบ 2 ปี เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้รับแรงกดดันจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิด-19 และภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนชนิดอื่น ๆ กระทบผู้ผลิต ซึ่งเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญความยากลำบากในการฟื้นตัว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้รายงานในวันนี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนปรับตัวขึ้นในเดือนพ.ค. จากเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังคงฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ทั้งนี้จากรายงานระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนเม.ย.ซึ่งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 7.1% ในเดือนพ.ค.ปีนี้
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและการชะลอตัวของดีมานด์พลังงาน ส่วนผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส เมื่อวานนี้ ที่ประชุมมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 648,000 บาร์เรล/วันในเดือนส.ค.
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 4.02 ดอลลาร์ หรือ 3.7% ปิดที่ 105.76 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.45 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 114.81 ดอลลาร์/บาร์เรล
- กลุ่มโอเปคพลัส คงตามแผนเดิม ตกลงปรับเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมสู่ระดับ 648,000 บาร์เรลต่อวัน เท่ากับระดับที่ได้ประกาศไว้ในการประชุมครั้งก่อนหน้า
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 24 มิ.ย. โดยระบุว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 452,000 บาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 525,000 บาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 569,000 บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- การเจรจาทางอ้อมระหว่างอิหร่านกับสหรัฐเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในกาตาร์สิ้นสุดลงเมื่อวันพุธ หลังไม่สามารถบรรลุความคืบหน้าสำคัญได้ ในขณะที่วิกฤติโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- นางแอฟริล เฮนส์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินยังคงต้องการยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของยูเครน แต่จากการที่กองกำลังของรัสเซียเริ่มอ่อนแรงลงจากการสู้รบนั้น มีแนวโน้มว่ารัสเซียจะยึดพื้นที่ของยูเครนได้ในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และสงครามดูยังคงยืดเยื้อต่อไป
- กองทหารยูเครนหลายร้อยนายได้เสร็จสิ้นการฝึกอบรมทางทหารในอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรวมถึงการใช้งานระบบยิงจรวดหลายลำกล้อง (MLRS) ที่ทางการอังกฤษจัดหาให้ เพื่อช่วยต่อต้านยุทธการระดมยิงปืนใหญ่ของรัสเซีย
- ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน มีกำหนดเดินทางออกจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นครั้งแรกหลังจากอยู่แต่ในประเทศนาน 893 วัน แม้ว่าเขาจะยังคงส่งเสริมนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ซึ่งทำให้จีนถูกโดดเดี่ยวทางการทูตท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ปธน.สีจะเดินทางข้ามพรมแดนไปยังฮ่องกงเพื่อร่วมฉลองโอกาสครบรอบ 25 ปีที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีน แม้ว่าจีนจะมีอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกง แต่พรมแดนระหว่างฮ่องกงและจีนได้ถูกปิดตั้งแต่ช่วงต้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- ทางการจีนยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการเดินทางของปธน.สีในฮ่องกง แต่คาดว่าปธน.สี จะเดินทางถึงฮ่องกงในช่วงบ่าย วันนี้ (30 มิ.ย.) และจะพักค้างคืนในเมืองเซินเจิ้นซึ่งอยู่ใกล้เคียง
- นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวในการประชุมซัมมิตของนาโต (NATO) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนว่า ความพยายามของจีนที่ต้องการท้าทายระเบียบโลกเป็นสิ่งที่ต้องยับยั้ง
- นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียจะตอบโต้ หากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ส่งกองกำลังและวางโครงสร้างพื้นฐานในประเทศฟินแลนด์และสวีเดนเมื่อสองประเทศนี้เข้าเป็นสมาชิกนาโต
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,354 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 4,525,269 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 16 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,966 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,664 ราย
- ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ระดับสูงของรัฐบาลฝรั่งเศสเปิดเผย ว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในประเทศฝรั่งเศสจากผลพวงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นมีแนวโน้มแตะจุดสูงสุดในช่วงสิ้นเดือนก.ค.นี้ ทั้งนี้ ฝรั่งเศสรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 124,724 คนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับ 77,967 คนเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ35.33 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.37 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.40 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับปรุงมาตรการทางการเงิน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และฐานะของสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง โดยลดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง แต่ยังเน้นมาตรการเฉพาะจุดเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง
- นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า เป้าหมายการทำนโยบายการเงินในขณะนี้ หลักๆ ยังเป็นการดูแลให้เศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ไม่เกิดการสะดุด แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนไป โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนขึ้น ทำให้ความจำเป็นของการใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เป็นวงกว้าง มีความจำเป็นลดลงอย่างชัดเจน โดยระบุว่า "การที่เราใช้ policy space หรือพื้นที่เชิงนโยบายไปค่อยข้างเยอะ ความจำเป็นในการสะสม policy space ก็จะมีความจำเป็นมากขึ้นในระยะต่อไป"
- ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนพ.ค. ขาดดุล 3,716 ล้านดอลลาร์ โดยยังขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเม.ย. ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3,057 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว เป็นผลจากอยู่ในช่วงฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย
- สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ระดับ 53 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ และโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
- นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย เสนอว่า แม้จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 4/64 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/65 แต่การเติบโตล่าช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่มีการฟื้นตัวได้เร็วกว่า
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest