ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยถ่วงตลาด โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้น และไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น ๆ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -0.69 เหรียญ หรือ -0.04% มาอยู่ที่ระดับ 1,808.75 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 5.8 เหรียญ หรือ 0.32% ปิดที่ 1,801.5 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 และปรับตัวลง 1.6% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 68.5 เซนต์ หรือ 3.37% ปิดที่ 19.667 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 24 ดอลลาร์ หรือ 2.68% ปิดที่ 871.3 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 8.41 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,041.9 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 8.41 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 66.24 ตัน
- อินเดียเปิดเผยในวันนี้ว่า รัฐบาลได้ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าทองคำจาก 7.5% เป็น 12.5% เนื่องจากอินเดียพยายามที่จะลดความต้องการทองคำ และลดยอดขาดดุลการค้า ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินเดียตอบสนองความต้องการทองคำส่วนใหญ่ผ่านทางการนำเข้า ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินรูปีที่ร่วงลงทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงการซื้อขายช่วงเช้าในวันศุกร์ที่ผ่านมา และการปรับขึ้นภาษีจะทำให้ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น และลดความต้องการทองคำในอินเดีย ซึ่งอาจถ่วงราคาทองคำโลกลงด้วย
- นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ชี้ว่า นักลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ ยังคงเทขาย ราคาทองจะยังคงฟื้นตัวได้ยาก หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางเป็นการกลับเข้ามาซื้อกองทุนทองคำ ของเหล่านักลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ
- นักวิเคราะห์จาก FX Street ชี้ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรร่วงหล่นลง จากความกลัวเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย ช่วยลดความคาดหวังที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูง และหนุนราคาทองคำให้สามารถยืนเหนือระดับ 1,800 เหรียญได้อีกครั้ง
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์เช้านี้ ปรับตัวลดลง -0.03 จุด หรือ -0.03% มาอยู่ที่ระดับ 104.85 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.015% มาอยู่ที่ระดับ 2.889% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2.839% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.05%
- ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะซื้อพันธบัตรของอิตาลี, สเปน, โปรตุเกส และกรีซ โดยใช้เงินที่ได้รับจากพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนของเยอรมนี, ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมค่าสเปรด หรือส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศกลุ่มนี้ เพื่อสกัดกั้นความเสี่ยงที่จะเกิดการแบ่งแยกของตลาด (fragmentation) ในยูโรโซน
- อีซีบีได้แบ่งประเทศสมาชิกยูโรโซนออกเป็น 3 กลุ่มสำหรับมาตรการการซื้อพันธบัตร ซึ่งได้แก่กลุ่มผู้บริจาค, กลุ่มผู้รับเงิน และกลุ่มเป็นกลาง โดยขึ้นอยู่กับขนาดและความเร็วในการพุ่งขึ้นของค่าสเปรดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยค่าสเปรดนี้วัดจากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของประเทศนั้นกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นอย่างมากในวันศุกร์ ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อหุ้นในวันแรกของช่วงครึ่งปีหลังก่อนวันหยุดยาวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยตลาดจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 4 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,097.26 จุด เพิ่มขึ้น 321.83 จุด หรือ +1.05%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,825.33 จุด เพิ่มขึ้น 39.95 จุด หรือ +1.06%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,127.85 จุด เพิ่มขึ้น 99.11 จุด หรือ +0.90%
- อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในเดือนมิ.ย. ขณะที่แรงกดดันด้านราคาขยายตัวในวงกว้าง และอัตราเงินเฟ้ออาจแตะจุดสูงสุดในอีกหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งจะสนับสนุนเหตุผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนนี้ ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป พุ่งขึ้นสู่ระดับ 8.6% จาก 8.1% สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 8.4% และมีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงาน ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.6% จาก 4.4% ทั้งนี้ เดิมคาดการณ์ว่า อีซีบีจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้ โดยจะเริ่มที่ 0.25% ก่อน แต่ข้อมูลข้างต้น อาจสนับสนุนเหตุผลสำหรับการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนก.ย.
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นในไตรมาส 2/2565 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 เนื่องจากผลกระทบของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัดที่เกิดจากการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ประจำไตรมาส 2 ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น อยู่ที่ระดับ 9 ลดลงจากระดับ 14 ในไตรมาส 1 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 13
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวในตลาดโลกนั้น ยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคา
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2.67 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 108.43 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 0.8% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 2.6 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 111.63 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 2.3% ในรอบสัปดาห์ผ่านมา
- สหภาพแรงงานของสมาคมพลังงานและก๊าซธรรมชาติแห่งชาตินอร์เวย์ เตรียมประท้วงหยุดงานในสัปดาห์นี้ ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติหดตัวลงเทียบเท่ากับปริมาณน้ำมันกว่า 292,000บาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 13% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศนอร์เวย์
- สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนจะจัดสรรเงินอุดหนุนโรงกลั่นน้ำมัน และยกเลิกการปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ หากราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงกว่า 130 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวสุนทรพจน์เมื่อเดินทางมาถึงฮ่องกง ก่อนวันครบรอบ 25 ปีที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีน โดยย้ำถึงอนาคตของฮ่องกง ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นแฟ้น ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำฮ่องกงคนใหม่ของนายจอห์น ลี
- ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวในระหว่างการเยือนฮ่องกงว่า ฮ่องกงสามารถใช้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน เพื่อสร้างความสำเร็จในการวิจัยขั้นพื้นฐาน การบ่มเพาะผู้มีความสามารถ และการพัฒนาในภาคนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
- ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปิดตัวระบบส่งกำลังไฟฟ้าไปยังโรมาเนียว่า เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่สามารถช่วยให้ยุโรปลดการพึ่งพาไฮโดรคาร์บอนของรัสเซียได้
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียได้ลงนามกฤษฎีกาเพื่อจัดตั้งบริษัทดำเนินงานใหม่สำหรับพัฒนาโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวซาคาลิน 2 ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่น 2 แห่ง ทั้งนี้ บริษัทมิตซุยแอนด์โค และมิตซูบิชิ คอร์ปอาจถูกบังคับให้ถอนตัวจากโครงการดังกล่าว
- กระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินของยูเครนเผยว่า กองทัพรัสเซียยิงขีปนาวุธใส่อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งใกล้กับท่าเรือโอเดสซา ในทะเลดำเมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 ราย และบาดเจ็บ 30 ราย
- สถานทูตจีนในนิวซีแลนด์ออกแถลงการณ์ตอบโต้ หลังจากที่นางจาร์ซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแผ่ขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคแปซิฟิก โดยแย้งว่า ความเห็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและเป็นการชี้นำไปในทางที่ผิด
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,995 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,308,665 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 4,532,100 ราย เสียชีวิต 18 ราย เสียชีวิตสะสม 30,718 ราย
- รัสเซียเตรียมประกาศยุติมาตรการทั้งหมดที่ใช้ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการบังคับสวมหน้ากากอนามัย หลังตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.59 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ35.30-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.70 บาทต่อดอลลาร์
- รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรด้านพืชของไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟิ้นตัว และรัฐบาลเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าพืชไปต่างประเทศของไทยเป็นที่ต้องการของทั่วโลก
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 65 ทางการไทยทยอยผ่อนคลายเงื่อนไขการเปิดรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ และได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวต่างชาติ จากข้อมูล Destination Insights with Google (หลังประเทศไทยกลับมาเปิดโครงการ Test & Go ในวันที่ 1 ก.พ. 65) พบว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 20 อันดับแรกของการค้นหาจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของโลก
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมิ.ย. 65 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.5 จากระดับ 49.3 ในเดือนพ.ค. 65 จากการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ นำโดยด้านการลงทุน ผลประกอบการ และต้นทุน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยความเชื่อมั่นของเกือบทุกธุรกิจในภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตยานยนต์ที่ความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นมากจากทุกองค์ประกอบ ตามสถานการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิตยานยนต์ที่มีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest