ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ โดยดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงหนุนแรงซื้อสัญญาทองคำ เนื่องจากทำให้สัญญาทองคำมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้ช่วยหนุนสัญญาทองคำด้วย อย่างไรก็ตาม สัญญาทองคำยังคงปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 15.97 เหรียญ หรือ 0.94% มาอยู่ที่ระดับ 1,712.25 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 13.3 เหรียญ หรือ 0.78% ปิดที่ 1,722.6 เหรียญ แต่สัญญาทองคำยังคงร่วงลงเกือบ 1.6% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 21.5 เซนต์ หรือ 1.22% ปิดที่ 17.881 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 0.29 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 973.08 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ขายสุทธิ 0.29 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 2.58 ตัน
- นักยุทธศาสตร์การลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ของ TD Securities กล่าวว่า "ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พยายามจะบรรลุเป้าหมายด้านอัตราเงินเฟ้อต่อไป และทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงแม้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การทำเช่นนั้นก็จะไม่ส่งผลดีต่อราคาทอง"
- ค่าพรีเมียมทองคำของจีนปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับโควตาการนำเข้าทองคำ โดยที่ราคาทองในจีนมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง 25 เหรียญต่อออนซ์ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 และสูงกว่าสัปดาห์ห่อนหน้าที่อยู่ระดับ 8-16 เหรียญต่อออนซ์ ในขณะที่ความต้องการทองคำในอินเดียเริ่มฟื้นตัว หลังจากราคาทองคำปรับตัวลงในช่วงก่อนหน้า
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.03 จุด หรือ -0.03% มาอยู่ที่ระดับ 109.61 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.002% มาอยู่ที่ระดับ 3.195% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.396% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ -0.201%
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank ระบุว่า แม้ว่า รายงานการเติบโตของการจ้างงานจะชะลอลง สู่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่แข็งแกร่งสำหรับกับวัฎจักเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งควระลึกว่า การจ้างงานที่เพียง 75,000 ตำแหน่งต่อเดือนก็เพียงพอต่อสอดคล้องกับความต้องการงานของแรงงานวัยทำงาน
- นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank ระบุว่า จากการที่ ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมแจ็คสัน โฮล จนทำให้ตลาดระลึกว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อโดยไม่ชะลอ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่ เฟดจะใช้ข้ออ้างการชะลอตัวของการเติบโตของการจ้างงานในการลดการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงเหลือ 0.50% ในรอบการประชุมกันยายนนี้
- ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายในวันที่ 8 ก.ย.นี้ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบเน้นหนักในช่วงแรกมากขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับสูงสุดที่ 2% ภายในปลายไตรมาสแรก
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะดำเนินการ "ที่เหมาะสม" เท่าที่จำเป็นเพื่อจัดการกับการร่วงลงของเยนสู่ระดับต่ำสุดใหม่ในรอบ 24 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงโอกาสที่จะมีการแทรกแซงค่าเงินเพื่อจัดการกับความผันผวน
- หัวหน้าฝ่ายวิจัยสกุลเงินจี-10 ของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดกล่าวว่า "ก่อนหน้านี้เราเคยคาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจจะส่งผลให้เฟดหยุดพักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย. แต่นายพาวเวลล์ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่เป็นการจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าเป็นเรื่องที่ยากมากยิ่งขึ้นที่เฟดจะหยุดพักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" และ "เราคิดว่าตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐจำเป็นจะต้องชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ถึงจะสามารถสกัดกั้นเฟดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ได้"
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานในยุโรป หลังจากที่ปรับตัวขึ้นในช่วงแรกขานรับการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานอาจเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งลดแรงกดดันที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,318.44 จุด ลดลง 337.98 จุด หรือ -1.07%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,924.26 จุด ลดลง 42.59 จุด หรือ -1.07%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,630.86 จุด ลดลง 154.26 จุด หรือ -1.31%
- ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 3%, ดัชนี S&P500 ร่วง 3.3% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 4.2% โดยดัชนีทั้ง 3 ตัวปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว
- รายงาน การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐชะลอตัวลงในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับ 315,000 ตำแหน่ง ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 526,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง และเป็นการจ้างงานที่กระจายในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ
- ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในเดือนส.ค.ในอัตราที่ชะลอตัวที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า ภาคเอกชนมีความต้องการเงินทุนลดลงเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
- นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทมิตซูิชิ ยูเอฟเจ รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลทิงระบุว่า การปรับทบทวนตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองให้สูงขึ้น จะสอดคล้องกับมุมมองที่ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับแรงหนุนจากการร่วงลงของยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงนั้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่ซบเซาในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเป็นผลจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนก.ค., การพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาวัตถุดิบ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
- งานวิจัยซึ่งรวบรวมโดยเวริสก์ เมเพิลครอฟต์ ระบุว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบได้เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ขณะที่ประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ตลอดจนความวุ่นวายที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าทำสงครามในยูเครน
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสในวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.นี้
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 86.87 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงร่วงลงราว 6.6% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 66 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 93.02 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงร่วงลง 6.1% ในรอบสัปดาห์นี้
- กำหนดการประชุมโอเปคพลัส จัดขึ้นในวัจันทร์ที่ 5 ก.ย. โดยแหล่งข่าวระบุว่า โอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะคงกำลังการผลิตที่ระดับ 100,000 บาร์เรล/วัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ย. แม้มีสมาชิกหลายรายเรียกร้องให้มีการลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาด
- กระทรวงน้ำมันอิรักเปิดเผยว่า อิรักส่งออกน้ำมันดิบ 101.85 ล้านบาร์เรลในเดือนส.ค. ซึ่งทำรายได้ 9.78 พันล้านดอลลาร์ โดยราคาจำหน่ายน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในเดือนส.ค.อยู่ที่ 96.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จาก ANZ ระบุว่า ยังเป็นหนทางอีกยาวไกลที่จะเห็นกลุ่มโอเปคพลัสตกลงปรับกำลังการผลิต แต่ผู้ผลิตน้ำมันหลักอย่างซาอุดิอาระเบีย มีแนวโน้มที่จะเน้นย้ำถึงประเด็นความไม่สอดคล้องระหว่าง ราคาน้ำมันในปัจจุบัน กับสภาพปัจจัยพื้นฐานอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว
- รองประธานฝ่ายเทรดดิงของบริษัทบีโอเค ไฟแนนเชียลกล่าวว่า การที่จีนประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเขตส่งออกที่สำคัญ และการที่ดอลลาร์พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งมาก ถือเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กองทุนระบายการลงทุนในสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบออกมา
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า นางเจเนต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐจะเปิดฉากภารกิจสัญจรเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อประกาศความสำเร็จในการออกกฎหมายฉบับต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก่อนที่ศึกการเลือกตั้งกลางเทอมจะมีขึ้นในเดือนพ.ย. โดยเริ่มต้นตั้งแต่การกล่าวปราศรัยในเมืองดีทรอยต์วันที่ 8 ก.ย. เพื่อแถลงถึงผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ
- รัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 เห็นพ้องกันในการประชุมวันศุกร์ (2ก.ย.) เพื่อกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย โดยมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ธ.ค.2565 ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ก.พ.2566 อย่างไรก็ดี G7 ยังไม่ได้ระบุระดับราคาเพดานน้ำมันรัสเซียในการประชุมวันนี้ แต่จะมีการหารือในรายละเอียดต่อไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,360 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,659,902 ราย ยอดผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK) ระหว่างวันที่ 21-27 ส.ค.2565 จำนวน 173,234 ราย สะสม 7,701,375 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 22 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 10,724 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 32,422 ราย
- นายแพทย์แอนโทนี เฟาชี ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเตือนว่า สหรัฐควรเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูไข้หวัดใหญ่ที่ค่อนข้างรุนแรงและการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคโควิด-19 ในช่วงฤดูหนาวนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่นายแพทย์เฟาชีจะลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติ (NIAID) ของสหรัฐ
- จีนสั่งขยายเวลาจำกัดการทำกิจกรรมในที่สาธารณะ การรับประทานอาหารนอกบ้าน และการให้บริการของสถานบันเทิงในพื้นที่บางเขตของเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีน เพื่อพยายามควบคุมการพุ่งขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19
- สำนักสาธารณสุขแคนาดาอนุมัติการใช้งานวัคซีนสไปก์แวกซ์ (Spikevax) ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นปรับปรุงใหม่ของบริษัทโมเดอร์นาที่มุ่งป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมจากปี 2562 และไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ36.74 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.35-36.95 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์
- โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะนี้ว่า จากการชี้แจงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ค่าการตลาด ยังอยู่ในกรอบที่กระทรวงพลังงานติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งแนวทางการพิจารณาค่าการตลาดอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นั้นจะพิจารณาในภาพรวมของน้ำมันทุกชนิด
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest