ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -3.52 เหรียญ หรือ -0.21% มาอยู่ที่ระดับ 1,708.73 เหรียญ
- นักวิเคราะห์จาก City Index ระบุว่า จากการที่การประชุมเฟดกำลังจะเกิดขึ้นในสองสัปดาห์ข้างหน้า (20-21 ก.ย.) และเข้าใกล้ช่วงเวลาที่ห้ามเจ้าหน้าที่เฟดให้ความเห็น (Blackout period, 10-22 ก.ย.) ดังนั้น ห่ากมีเจ้าหน้าที่เฟดให้ความเห็นใดๆในสัปดาห์นี้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน จากความสามารถในการบ่งชี้ทิศทางนโยบายเฟด (เนื่องจากเป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย คนสุดท้าย) ทั้งนี้ หากมีเจ้าหน้าที่เฟดรายใด ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จะกดดันราคาทองคำต่อไป
- นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยจากการที่ข้อมูลบ่งชี้ว่า แรงงานสหรัฐเริ่มกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ลดความตึงตัวของตลาดแรงงาน และช่วยเฟดในการควบคุมเงินเฟ้อและ ยังมีโอกาสที่ลดความจำเป็นของเฟดในการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.01 จุด หรือ -0.01% มาอยู่ที่ระดับ 109.6 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.04% มาอยู่ที่ระดับ 3.231% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.463% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ -0.232%
- รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 30 จาก 61 รายคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซิง 0.75% สู่ 1.25% ในการประชุมวันที่ 8 ก.ย. โดยปรับขึ้นจากระดับ 0.50% ในปัจจุบัน และมีนักเศรษฐศาสตร์ 27 รายในโพลล์ที่คาดว่า อีซีบีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซิง 0.50% ในสัปดาห์นี้
- ยูโรร่วงลงเข้าใกล้จุดต่ำสุดรอบ 20 ปีเมื่อวานนี้ จากกรณีรัสเซียปิดการส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่งสำคัญสู่ยุโรปอย่างไม่มีกำหนดสิ้นสุดและปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่า อาจจะเกิดภาวะขาดแคลนพลังงาน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูง และปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
- สกุลเงินเยนแข็งค่าขึ้นสู่กรอบล่าง 140 เยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อเงินเยน หลังร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา
- ธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลียกล่าวว่า "ปัจจัยทุกอย่างบ่งชี้ว่ายูโรจะอ่อนค่าลง" , "เราได้เห็นข่าวในทางลบหลายข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจยุโรป และคิดว่ายูโรอาจจะอ่อนค่าลงต่อไปในสัปดาห์นี้"
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- เจพีมอร์แกน ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2022 ลงสู่ 3.0% จาก 3.2% และปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2023 ลงสู่ 4.6% จาก 5.1% ที่คาดไว้ก่อนหน้า เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวยาวนาน และการแพร่ระบาดอีกครั้งในระดับภูมิภาคของโรคโควิด-19
- ผลสำรวจภาคธุรกิจพบว่า กิจกรรมภาคบริการของญี่ปุ่นหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนในเดือนส.ค. ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นอีกครั้งกระทบอุปสงค์
- สภาการลงทุนพลาตินัมโลก (WPIC) เปิดเผยว่า การที่จีนนำเข้าพลาตินัมจำนวนมากเกินคาดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อาจจะส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลน เนื่องจากอุปทานจากเหมืองและการรีไซเคิลโลหะพลาตินัมลดลงอย่างมาก
- นักเศรษฐศาสตร์หลายรายออกโรงเตือนว่า เอเชียมีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน หากสหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่บางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบมากกว่าประทศอื่น ๆ รวมถึง สิงคโปร์ และไทย
- นักวิเคราะห์คาดว่า วิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยของจีนจะทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากผู้ซื้อบ้านยังคงมีความไม่ไว้วางใจ โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ราคาบ้านจะร่วงลงอีกในปี 2565 และยอดขายอสังหาริมทรัพย์จะลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยราคาบ้านใหม่จะลดลง 1.4% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์ได้ประเมินไว้ว่า ราคาบ้านจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ ขณะที่ยอดขายอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มจะร่วงลง 24.5% มากกว่าผลสำรวจเมื่อเดือนพ.ค. ซึ่งมองว่าจะลดลง 10%
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- โอเปคพลัส ลงมติลดกำลังการผลิตน้ำมัน 100,000 บาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป พร้อมระบุ โอเปคพลัสอาจมีการจัดประชุมล่วงหน้าในเวลาใดก็ได้ ก่อนการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 5 ตุลาคม
- นักวิเคราะห์จาก OANDA ระบุว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคพลัส เป็นข้อความเชิงสัญลักษณ์ที่กลุ่มโอเปคพลัสต้องการส่งไปยังตลาดมากกว่าสิ่งอื่นใด
- ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30% ในวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากรัสเซียแจ้งปิดการซ่อมท่อก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม 1 อย่างไม่มีกำหนด
- นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศสระบุว่า ความพยายามของกลุ่มประเทศ G7 ในการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลกจึงจะประสบความสำเร็จ
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- นายเปาโล เจนติโลนี กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า EU พร้อมที่จะตอบโต้การตัดสินใจของรัสเซียที่ระงับการส่งก๊าซให้กับ EU
- คณะรัฐมนตรีในกลุ่มชาติยุโรปจะหารือกันถึงมาตรการแทรกแซงฉุกเฉินเพื่อควบคุมต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ตั้งแต่การจำกัดราคาน้ำมันไปจนถึงการระงับการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ด้านพลังงาน เนื่องจากยุโรปเร่งรับมือวิกฤตพลังงานที่เลวร้ายลงยิ่งขึ้น
- นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินเปิดเผยว่า รัสเซียจะใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรง หากสหภาพยุโรป (EU) ใช้มาตรการระงับการออกวีซ่าให้กับพลเมืองรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- นายมาห์มุด อับบัสซาเดห์ เมชคินี สมาชิกกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายต่างประเทศแห่งรัฐสภาอิหร่าน เรียกร้องให้ชาติตะวันตกเร่งบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ไม่เช่นนั้นอิหร่านจะพิจารณา “ทางเลือกอื่น”
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,062 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,660,964 ราย ยอดผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK) ระหว่างวันที่ 28 ส.ค. - 3 ก.ย.2565 จำนวน 131,139 ราย สะสม 7,832,514 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 22 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 10,746 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 32,444 ราย
- เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีของจีนประกาศว่าจะเริ่มใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบบเป็นขั้นเป็นตอนในวันนี้ ในขณะที่เมืองเฉิงตู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ประกาศขยายเวลาใช้มาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่จีนกำลังเผชิญกับการระบาดครั้งใหม่
- ทางการไต้หวันเปิดเผยว่า ไต้หวันจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากสหรัฐ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ยุโรป และบรรดาชาติพันธมิตรทางการทูต เดินทางเข้าประเทศโดยปลอดวีซ่าได้อีกครั้ง เริ่มตั้งแต่วันจันทร์หน้า (12 ก.ย.) หลังไต้หวันผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างต่อเนื่องตามแนวทาง “โมเดลไต้หวันใหม่”
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ 36.51 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.56 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.40-36.60 บาทต่อดอลลาร์
- กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อไทย ประจำเดือนสิงหาคม อยู่ที่ +7.86% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อยที่ +7.9%เมื่อเทียบรายปี แต่เร่งขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ +7.61% เมื่อเทียบรายปี
- นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันเดินหน้าจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดมีผลบังคับใช้ได้ช่วงต้นปี 2566 หลังศึกษาอัตราการจัดเก็บทางบกที่เหมาะสม โดยจะส่งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนตุลาคมนี้
- KKP Research ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปี 65 เป็น 3.4% และปรับตัวเลข GDP ลงเหลือ 3.6% จาก 3.9% ในปี 66 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้จะเจอกับทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยภาคการท่องเที่ยวยังสามารถฟื้นตัวได้จากฐานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ และคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 10.2 ล้านคนในปี 65 และ 18.5 ล้านคนในปี 66 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกหลักที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่าในปี 66 สัญญาณเศรษฐกิจโลกจะเริ่มมีการชะลอตัวลงที่ชัดเจนขึ้นและโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยจะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี 66 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวลงในปี 66
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค.65 อยู่ที่ 107.46 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 7.86% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.65 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.05% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 6.14% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนส.ค.65 อยู่ที่ 103.59 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 3.15% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก.ค.65 จะเพิ่มขึ้น 0.09% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.16%
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest