ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -7.8 เหรียญ หรือ -0.46% มาอยู่ที่ระดับ 1,701.45 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 9.7 เหรียญ หรือ 0.56% ปิดที่ 1,712.9 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 2.7 เซนต์ หรือ 0.15% ปิดที่ 17.908 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.03 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 971.05 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ขายสุทธิ 2.32 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 4.61 ตัน
- นักวิเคราะห์ของบริษัท OANDA กล่าวว่า ราคาทองอาจจะได้รับแรงหนุนให้อยู่สูงกว่า 1,700 เหรียญในช่วงนี้ แต่เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับความนิยม และธนาคารกลางหลายแห่งไม่ได้ชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นราคาทองจึงอาจจะยังคงได้รับแรงกดดันในทางลบ และมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาทองจะดิ่งลงสู่ระดับต่ำกว่า 1,680 เหรียญ
- นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า ทองคำได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นของวิกฤติพลังงานในยุโรป อย่างไรก็ตาม ทองคำยังคงปรับตัวขึ้นได้ยาก จากประเด็นทิศทางของเฟดที่ใช้นโยบายการเงินเข้มงวด
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.71 จุด หรือ 0.65% มาอยู่ที่ระดับ 110.32 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.122% มาอยู่ที่ระดับ 3.353% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.509% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ -0.156%
- ธนาคารโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงสู่ 0.97 ดอลลาร์ และจะยังคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เพราะว่าวิกฤติก๊าซธรรมชาติจะส่งผลให้อุปสงค์ดิ่งลง และจะส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นและเป็นเวลานานขึ้น ในขณะที่บริษัทแคปิตัล อิโคโนมิคส์คาดว่า ยูโรอาจจะดิ่งลงสู่ 0.90 ดอลลาร์ในปีหน้า หรือร่วงลงราว 9% จากระดับปัจจุบัน
- นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า ถ้าหากอีซีบีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า การทำเช่นนั้นก็อาจจะช่วยสกัดกั้นการดิ่งลงของยูโรได้ โดยนายจอร์จ ซาราเวลอส หัวหน้าฝ่ายวิจัยสกุลเงินของธนาคารดอยช์ แบงก์กล่าวว่า "อีซีบีอาจจะช่วยชะลอความเร็วในการดิ่งลงของยูโรได้ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยให้ยูโรแข็งค่าขึ้นได้อย่างยั่งยืนหรือไม่"
- ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวว่า บีโออีควรเตรียมพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับลดความเป็นไปได้ที่บีโออีอาจจะมีความจำเป็นต้องกดดันเศรษฐกิจเป็นเวลานานเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง
- นักวิเคราะห์ของเมย์แบงก์กล่าวว่า "นโยบายของจีนรังแต่จะตอกย้ำความอ่อนแอของเศรษฐกิจ และตราบใดที่นโยบายโควิดเป็นศูนย์ยังดำเนินต่อไป และภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ธนาคารกลางจีนก็ต้องผ่อนคลายนโยบายต่อไป สิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินหยวน"
- จีนกำหนดค่ากลางเงินหยวนมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ติดต่อกันเป็นวันที่ 10 พร้อมอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สำรองเงินตราต่างประเทศลดน้อยลง ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนที่สุดในการรักษาเสถียรภาพเงินหยวนที่กำลังอ่อนค่าลง
- เอชเอสบีซี โฮลดิงส์ สถาบันการเงินขนาดใหญ่รายล่าสุดได้ปรับลดคาดการณ์ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น หลังจากเยนเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยประมาณการว่า เยนจะอ่อนค่าลงทะลุระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หลังแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี แม้พวกเขายังคงมีมุมมองเชิงบวกก็ตาม
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคบริการสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการที่จีนล็อกดาวน์เมืองสำคัญเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,145.30 จุด ลดลง 173.14 จุด หรือ -0.55%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,908.19 จุด ลดลง 16.07 จุด หรือ -0.41% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,544.91 จุด ลดลง 85.96 จุด หรือ -0.74%
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุว่า "การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังเปลี่ยนแปลงไปในช่วงนี้ โดยเมื่อไม่กี่เดือนก่อนเคยมีการคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่หลังจากนั้นก็มีการคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะถดถอยเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้หันมาคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะถดถอยอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ยูโรดิ่งลงไปอีกมาก"
- โรยัล แบงก์ ออฟ แคนาดา ระบุว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนว่าทิศทางเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วกว่าคาด ขณะที่กิจกรรมภาคธุรกิจและภาคบริการของเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ เข้าสู่ภาวะหดตัวในเดือนส.ค.
- การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนก.ค. แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นอีกครั้งก็ตาม แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากการที่เยนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีทำให้เกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภค
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมิซูโฮ รีเสิร์ช แอนด์ เทคโนโลยีส์กล่าวว่า ภาคครัวเรือนกำลังได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่เยนอ่อนค่าลงอีก ซึ่งกำลังฉุดการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลร่วงลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีโอกาสมากขึ้นที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะแตะระดับ 3% ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้
- รายงานภายในที่จัดเตรียมสำหรับรัฐบาลรัสเซียระบุว่า รัสเซียอาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยาวนานและรุนแรงมากขึ้นจากการคว่ำบาตรของสหรัฐและยุโรป และมีแนวโน้มที่ชาติอื่น ๆ จะเข้าร่วมด้วย ซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างมากแก่หลายภาคส่วนที่รัสเซียพึ่งพามานานหลายปีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
- ธนาคารดอยซ์แบงก์คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอินเดีย ซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการในวันจันทร์หน้า (12 ก.ย.) จะปรับตัวขึ้นแตะ 6.9% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนส.ค. ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะแตะระดับ 6%
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ระบุในเอกสารการวิจัยที่เผยแพร่ในวันนี้ว่า เกาหลีใต้มีแนวโน้มเผชิญภาวะขาดดุลการค้าต่อไปอีกสักระยะ โดยได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และราคาน้ำมันแพง โดยเกือบ 80% ของการขาดดุลการค้าทั้งหมดในปีนี้เป็นผลมาจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยในวันอังคาร ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลง 3% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจีนยังคงล็อกดาวน์เมืองสำคัญนั้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1 เซนต์ ปิดที่ 86.88 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 2.91 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 92.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
- หัวหน้านักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์จาก ING ระบุว่า การตัดสินใจปรับลดโควต้ากำลังการผลิตปริมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก และความเป็นจริงแล้ว ประเทศสมาชิกก็ยังผลิตได้ต่ำกว่าระดับโควตาที่กำหนดอยู่มาก
- นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานจาก Janus Henderson Investors ระบุว่า การเคลื่อนไหวของโอเปคพลัสครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า โอเปคพลัสกำลังเฝ้าดูอุปสงค์น้ำมันอย่างใกล้ชิดและพยายามควบคุมอุปทานน้ำมันเพื่อควบคุมระดับราคาขั้นต่ำของน้ำมัน
- รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติของอินเดียเปิดเผยว่า อินเดียจะประเมินว่าควรสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่ม G7 ในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียหรือไม่ และไม่เป็นที่แน่ชัดว่าข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลต่อตลาดพลังงานอย่างไรบ้าง
- นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียจะระงับการจัดส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ให้กับยุโรปไปจนกว่าชาติตะวันตกจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้กับรัสเซียและบริษัทรัสเซีย ซึ่งเพิ่มความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก หลังจากราคาพลังงานในภูมิภาคพุ่งสูงขึ้น
- เยอรมนีวางแผนเตรียมความพร้อมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เตาจากจำนวน 3 เตาที่เหลืออยู่ภายในประเทศ เพื่อใช้รับมือกับปัญหาขาดแคลนพลังงานจากผลพวงของกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครน
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เผยว่า นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ “อยู่ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของยุโรปเสมอมา” และยูเครนตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับนางทรัสส์ต่อไป
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,605 ราย ทำให้ในการระบาดรอบใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.65 มีผู้ติดเชื้อแล้ว 2,447,149 ราย ขณะเดียวกันมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 10,766 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
- เมืองกุ้ยหยาง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลกุ้ยโจว ประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ส่วนใหญ่เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 132 รายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ก.ย.) ซึ่งเพิ่มขึ้น 28 รายจากวันอาทิตย์ โดยกุ้ยหยางมีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 6.1 ล้านคน และเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตรถยนต์หลายแห่งซึ่งรวมถึงบริษัทจีลี ออโตโมบิล โฮลดิ้งส์
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.48 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเสนอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในวันที่ 13 กันยายน 2565 นี้ เป็นวาระปกติเพื่อพิจารณา จากนั้นจึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป สำหรับการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในครั้งนี้มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็นการปรับขึ้น 5.02%
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest