ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงกว่าคาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -3.55 เหรียญ หรือ -0.21% มาอยู่ที่ระดับ 1,697.54 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 8.3 ดอลลาร์ หรือ 0.48% ปิดที่ 1,709.1 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 7.8 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 19.569 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.32 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 960.56 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ขายสุทธิ 12.81 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 15.1 ตัน
- นักลงทุนทองคำจับตาการประกาศรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐ (Retail Sale)ในคืนวันพฤหัสบดีนี้ และรายงานความเชื่อมั่นบริโภคสำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan Consumer Sentiment Index) ในวันศุกร์นี้
- นักวิเคราะห์จาก CMC Markets ระบุว่า ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงมาเล็กน้อยส่งผลช่วยให้ราคาทองเริ่มฟื้นตัวบ้าง แต่ด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตราสหรัฐที่สูงยังคงกดดันให้ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวได้สูงมากนักในระยะสั้น
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.37 จุด หรือ -0.33% มาอยู่ที่ระดับ 109.61 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.004% มาอยู่ที่ระดับ 3.406% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.788% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ -0.382%
- นักวิเคราะห์จากโนมูระ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 1% เต็มในการประชุมนโยบายในวันที่ 20-21 ก.ย. เนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉินจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในช่วงขาขึ้น และยังคาดว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% ทั้งในการประชุมในเดือนพ.ย.และธ.ค.
- นักกลยุทธ์ค่าเงินจาก Deutsche Bank ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนของสหรัฐในปัจจุบัน สะท้อนถึง ตลาดมองระดับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่ที่ระดับ 4.25% ในสิ้นปีนี้ (หมายถึงการปรับขึ้น 0.75%, 0.75% และ 0.25% ตามลำดับในการประชุมสามครั้งที่เหลือของปีนี้) รวมถึงความเป็นไปได้ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.50% ในข่วงต้นปี 2023
- นักกลยุทธ์ค่าเงินจาก Deutsche Bank ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงร้อนแรง และหากยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าตลาดแรงงานเริ่มอ่อนตัวลง และหากเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาอยู่ ช่วงเวลาที่เฟดจะกลับนโยบายการเงินเป็นทิศทางผ่อนคลายก็จะถูกเลื่อนให้ล่าช้าออกไปอีก
- รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ 40 จาก 47 รายคาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 2.25% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 22 ก.ย. หลังจากบีโออีเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 1.75% ในเดือนส.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 27 ปี
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ดำเนินการตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Rate Check) ด้วยการสอบถามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในตลาดปริวรรตเงินตราเกี่ยวกับการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสัญญาณล่วงหน้าที่บ่งชี้ว่าจะมีการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราโดยตรง
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ โดยตลาดฟื้นตัวจากแรงช้อนซื้อหลังจากดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 1,200 จุดในวันอังคาร นอกจากนี้ การชะลอตัวของดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดปิดในแดนบวก
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,135.09 จุด เพิ่มขึ้น 30.12 จุด หรือ + 0.10%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,946.01 จุด เพิ่มขึ้น 13.32 จุด หรือ +0.34% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,719.68 จุด เพิ่มขึ้น 86.10 จุด หรือ +0.74%
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากมูดี้ส์ อนาลิติกส์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนส.ค.บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อลามทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว จากข้อมูล ภาวะเงินเฟ้อปรากฎในราคาสินค้าและบริการในวงกว้างในเดือนส.ค. แม้ว่าราคาพลังงานดิ่งลง 5% ประกอบกับราคาค่าเช่าบ้านเพิ่มขึ้น 0.7% ขณะที่ราคาอาหาร รถยนต์ใหม่ และราคาการให้บริการทางการแพทย์ต่างก็ดีดตัวขึ้น 0.8%
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวว่า การควบคุมเงินเฟ้อจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้น ถึงแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับเดือนสิงหาคมบ่งชี้ถึงความคืบหน้ามากขึ้นในการทำให้เงินเฟ้อลดลงในเศรษฐกิจสหรัฐ
- นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน ระบุ เศรษฐกิจโลกอาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ จากข้อมูลบ่งชี้ถึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจสามารถชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft landing) โดยที่ข้อมูลล่าสุดจากประเทศชั้นนำต่างๆกำลังบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อ และแรงกดดันด้านค่าจ้างกำลังลดลง สถานะการลงทุนก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็มีเสถียรภาพ
- นักวิเคราะห์จาก JP Morgan มีมุมมองเชิงบวกต่อจีน โดยที่มาตรการควบคุมโควิด-19 ในจีนจะผ่อนคลายลง และมาตรการกระตุ้นทางการคลังจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
- กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน เปิดเผยว่า รายได้รวมภาคการท่องเที่ยวจีนในช่วงหยุดยาวเทศกาลไหว้พระจันทร์ ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ทั้งนี้ รายได้รวมในภาคการท่องเที่ยวจีนตลอดช่วงหยุดยาว 3 วันแตะที่ 2.868 หมื่นล้านหยวน (4.16 พันล้านดอลลาร์) คิดเป็นเพียง 60.6% ของรายได้การท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดในปี 2562 นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังลดลง 22.8% จากปีที่แล้ว
- นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า จีนและเจ้าหนี้รายอื่น ๆ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการป้องกันปัญหาหนี้สินท่วมในตลาดเกิดใหม่ และปกป้องไม่ให้ประเทศที่มีรายได้น้อยล้มละลายจากภาวะหนี้สิน
- นักวิเคราะห์จาก JP Morgan คาดว่า รัฐบาลยุโรปจะดำเนินการเพื่อปกป้องผู้บริโภคจากภาวะเงินเฟ้อจากพลังงาน เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นมากหลังจากรัสเซียยุติการจ่ายก๊าซ
- รัฐบาลฝรั่งเศสปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2566 แต่รัฐบาลยังคงเป้าหมายการลดยอดขาดดุลงบประมาณ ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสคาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 1% ในปี 2566 จากระดับของปี 2565 ซึ่งประมาณการไว้ที่ 2.5% โดยตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดนี้ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.4%
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.17 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 88.48 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 93 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 94.10 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นักวิเคราะห์จาก OANDA ระบุว่า จากการที่จีนใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ จะจำกัดการฟื้นตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ในขณะที่ทางสหรีฐยังคงเป็นประเด็นที่ไม่แน่นอน ซึ่งหากภาพรวมอุปสงค์อ่อนแอ ราคาน้ำมันอาจปรับตัวลงต่อ
- สหภาพยุโรป (EU) เตรียมเปิดแผนการหักกำไรส่วนเกินของบริษัทพลังงานและออกมาตรการลดการใช้ไฟฟ้าทั่ว EU เมื่อวานนี้ ภายใต้ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องประชาชนและธุรกิจจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- กองทัพยูเครนตั้งเป้าหมายที่จะยึดคืนดินแดนทั้งหมดที่เคยถูกรัสเซียยึดไปในช่วงก่อนหน้านี้ หลังจากที่กองทัพยูเครนสามารถโจมตีกองทัพรัสเซียจนถอยร่นในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,321 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,671,309 ราย ยอดผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK) ระหว่างวันที่ 4-10 ก.ย.2565 จำนวน 107,503 ราย สะสม 7,940,017 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 13 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 10,893 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 32,591 ราย
- จีนรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำกว่า 1,000 รายติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ขณะที่ทางการจีนยังคงเดินหน้าใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนหน้า ทั้งนี้ จีนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 958 รายในวันอังคาร หลังพบ 915 รายในวันจันทร์ โดยรวมถึง 18 รายในกรุงปักกิ่ง ซึ่งพบการแพร่ระบาดมากขึ้นในวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยผู้ติดเชื้อในกรุงปักกิ่งทั้งหมดได้ถูกแยกกักตัวแล้ว ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันทั่วประเทศปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ 3,424 ราย
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาทต่อดอลลาร์
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอแนะต่อรัฐ 4 เรื่อง ได้แก่
- 1. เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขั้นค่าแรงขั้นต่ำ อาทิ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ใผู้ประกอบการ SMEs และสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน
- 2. อำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตมากขึ้น
- 3. ภาครัฐควรเตรียมมาตรการรับมือเพื่อป้องกันผลกระทบกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งควรมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้ง
- 4. สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจากภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ให้เข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐได้ง่ายขึ้น
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, Bangkokbiznews