ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,700 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -32.63 เหรียญ หรือ -1.92% มาอยู่ที่ระดับ 1,664.79 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 31.8 เหรียญ หรือ 1.86% ปิดที่ 1,677.3 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 30 เซนต์ หรือ 1.53% ปิดที่ 19.269 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 1.45 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 962.01 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ขายสุทธิ 11.36 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 13.65 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า แรงเทขายออกจากองทุนอีทีเอฟทองคำ บ่งชี้ว่า นักลงทุนทองคำไม่ต้องการถือครองทองคำ ในช่วงเวลาระยะสั้นนี้
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.2 จุด หรือ 0.18% มาอยู่ที่ระดับ 109.8 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.047% มาอยู่ที่ระดับ 3.453% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.867% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ -0.414%
- ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในสมาชิกสภากรรมการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของอีซีบีอาจแตะระดับที่เป็นกลาง หรือระดับ Neutral ภายในปลายปีนี้ ที่ระดับอัตราดอกเบี้ย 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.75%
- นักกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทโคลัมเบีย เธรดนีดเดิลกล่าวว่า "ตลาดแรงงานสหรัฐจำเป็นจะต้องอ่อนแอลง ถึงจะสามารถทำให้คุณเชื่อมั่นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานมากพอในตอนนี้ที่จะทำให้คาดการณ์แบบนั้นได้"
- ผู้จัดการลงทุนของบริษัทฮาร์เบอร์ แคปิตัลกล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่ออกมาในวันอังคารทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นจะพุ่งขึ้นเหนือ 4% ก่อนสิ้นปีนี้ และเขาคาดการณ์ว่า ภาวะเงินเฟ้อในภาคบริการอาจจะส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น โดยเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ก่อนสิ้นปีนี้ และอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในปี 2023 จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
- หัวหน้านักกลยุทธ์ตราสารหนี้จาก บริษัทบีเอ็มโอ แคปิตัล กล่าวว่า โอกาสที่เพิ่มสูงขึ้นที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอาจจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะว่านักลงทุนจะเข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้บอนด์ยิลด์ร่วงลง
- ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารชั้นนำระดับโลกราว 20 รายให้คำมั่นว่าจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านการเงินของฮ่องกงในเดือนพ.ย.ปีนี้ แม้ว่ามาตรการกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมที่รัฐบาลฮ่องกงคาดหวังว่าจะช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินของเอเชีย
- หัวหน้าคณะกรรมการวิจัยด้านการเงินของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของญี่ปุ่น เตือนว่า การที่ญี่ปุ่นพยายามเข้าแทรกแซงตลาดเพียงฝ่ายเดียวเพื่อยับยั้งไม่ให้สกุลเงินเยนอ่อนค่าลงนั้น จะได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการที่ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานเตือนว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,961.82 จุด ลดลง 173.27 จุด หรือ -0.56%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,901.35 จุด ลดลง 44.66 จุด หรือ -1.13% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,552.36 จุด ลดลง 167.32 จุด หรือ -1.43%
- ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเงินกว่า 2 แสนล้านหยวน (2.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในโครงการปล่อยเงินกู้ใหม่ (Relending Program) เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นมาตรการล่าสุดที่ทางการจีนนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
- ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือนเดียวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนส.ค. เนื่องจากยอดนำเข้าพุ่งขึ้นมากจากต้นทุนพลังงานสูง และการร่วงลงของค่าเงินเยน ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเปราะบางต่อแรงกดดันด้านราคาจากภายนอก ทั้งนี้ ยอดนำเข้าพุ่งขึ้นพุ่งขึ้น 49.9% ในเดือนส.ค.เนื่องจากต้นทุนน้ำมันดิบ, ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ยอดส่งออกลดลง 1.2% และยอดขาดดุลการค้าในเดือนส.ค.เป็นการขาดดุลเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานว่า อัตราว่างงานเดือนส.ค.ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 3.5% จากระดับ 3.4% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 48 ปี
- นายชู คยองโฮ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกาหลีใต้คาดว่า อัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้จะแตะระดับสูงสุดในเดือนหน้า แม้เงินวอนจะอ่อนค่าลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ตาม
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 3.38 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 85.10 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ BRENT ส่งมอบเดือนพ.ย. ดิ่งลง 3.26 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 90.84 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพุธว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังเชิงพาณิชย์ของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล สู่ 429.6 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ย. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 833,000 บาร์เรล โดยการพุ่งขึ้นในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐระบายน้ำมันดิบ 8.4 ล้านบาร์เรลออกจากคลังสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) และการระบายน้ำมันดังกล่าวมีกำหนดจะสิ้นสุดลงในเดือนต.ค.
- นักวิเคราะห์ของบริษัทไพรซ์ ฟิวเจอร์ส กรุ๊ป ระบุว่า ตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐ บ่งชี้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ SPR ยุติการระบายน้ำมันออกจากคลัง สต็อกน้ำมันในคลังเชิงพาณิชย์ของสหรัฐก็จะดิ่งลงอย่างรุนแรง และปัจจัยนี้ก็มีส่วนช่วยหนุนราคาน้ำมันในช่วงนี้
- การนำเข้าน้ำมันดิบของเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก ยังคงมีแนวโน้มซบเซาแบบต่อเนื่องในเดือนก.ย. เนื่องจากอุปสงค์ที่ไม่แน่นอนท่ามกลางราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูง
- องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอในจีนจะส่งผลให้การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกหยุดชะงักลงในไตรมาส 4 ของปีนี้ ก่อนที่อุปสงค์น้ำมันจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2023
- ซาอุดีอาระเบียขึ้นแท่นเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของอินเดีย แซงหน้ารัสเซียเพียงเล็กน้อย ขณะที่อิรักยังคงครองตำแหน่งซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอินเดียในเดือนส.ค.
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะเรียกร้องให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูหนาวนี้ หลังเคยเรียกร้องคล้ายกันนี้มาแล้วเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤติพลังงานในประเทศยังคงดำเนินอยู่
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จะขยายโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้อพยพจากยูเครนต่ออีก 6 เดือน หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
- คณะกรรมการประจำวุฒิสภาสหรัฐได้อนุมัติร่างกฎหมายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการสนับสนุนของสหรัฐต่อไต้หวัน โดยรวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ท่ามกลางแรงกดดันของจีนที่เพิ่มขึ้นต่อไต้หวัน
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 837 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 4,672,146 ราย ยอดผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK) ระหว่างวันที่ 4-10 ก.ย.2565 จำนวน 107,503 ราย สะสม 7,940,017 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 12 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 10,905 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 32,603 ราย
- องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า โรคโควิด-19 จะระบาดอีกหลายระลอกในอนาคต ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- สำนักวิทยาศาสตร์สุขภาพ (HSA) ของสิงคโปร์ อนุมัติการใช้งานชั่วคราวแก่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดสายพันธุ์คู่ 1 ตัว สำหรับฉีดเป็นโดสกระตุ้น ซึ่งเป็นวัคซีนแบบต้านเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์คู่ที่ได้รับอนุมัติตัวแรกในประเทศ ทั้งนี้ วัคซีนสไปก์แวกซ์ ที่ผลิตโดยโมเดอร์นา บรรจุสององค์ประกอบที่มุ่งป้องกันเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ดั้งเดิม และเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยบีเอ.1 (BA.1) โดยได้รับอนุมัติใช้งานเป็นวัคซีนโดสกระตุ้นในกลุ่มคนอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งฉีดวัคซีนชุดเบื้องต้นมาแล้ว
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ 36.98 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี และอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.05 บาทต่อดอลลาร์
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย คือการที่เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสต่อกัน ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ติดลบไปแล้ว 2 ไตรมาส และมีแนวโน้มขยายตัวติดลบต่อเนื่อง และหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงและเร็ว ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยที่ 1% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์ได้ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าในขณะที่ไทยยังนำเข้าน้ำมันในราคาแพง และยังไม่สามารถลดปริมาณการนำเข้าได้ อาจทำให้ไทยขาดดุลการค้า ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อ GDP และทำให้การส่งออกของไทยไม่โดดเด่น
ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest