ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศระดมกำลังพลเพื่อยกระดับการทำสงครามกับยูเครน
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 9.21 เหรียญ หรือ 0.55% มาอยู่ที่ระดับ 1,673.75 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 4.6 เหรียญ หรือ 0.28% ปิดที่ 1,675.7 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 29.7 เซนต์ หรือ 1.55% ปิดที่ 19.48 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.16 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 952.16 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ขายสุทธิ 21.21 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 23.5 ตัน
- นักวิเคราะห์ของ Citi Research กล่าวว่า ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากที่กระแสเงินจะไหลกลับเข้ากองทุนทองคำ SPDR ได้อย่างยั่งยืนอีกครั้ง จนกว่าเฟดจะเปลี่ยนทิศทางจากนโยบายการเงินเข้มงวดมาเป็นทิศทางผ่อนคลาย หรือการมีความเห็นร่วมตรงกันว่าจะเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐฯ และทั่วโลก
- ผู้จัดการบริษัท High Ridge Futures ระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น มาจากการที่ประธานาธืบดีรัสเซีย ปูติน ระบุในลักษณะการยกระดับความขัดแย้งต่อยูเครน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าเป็นผลบวกต่อราคาทองคำ
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 1.32 จุด หรือ 1.18% มาอยู่ที่ระดับ 111.48 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.035% มาอยู่ที่ระดับ 3.532% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 4.051% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ -0.519%
- คณะกรรมการเฟด มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในการประชุมรอบเดือนกันยายนนี้ สู่ระดับ 3.00-3.25% เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สามครั้งติดต่อกัน ในขณะที่ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ แถลงยืนยันจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกจนกว่าเข้าสู่ระดับที่ “เข้มงวดอย่างเพียงพอ” และยังคงตอกย้ำคำพูดว่า จะมีความเจ็บปวด(ทางเศรษฐกิจ)ที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ มีตัวอย่างถ้อยคำแถลง ดังนี้
- “เราต้องควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ และเราหวังว่าจะมีวิธีควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่ให้เกิดความเจ็บปวด(ทางเศรษฐกิจ) ซึ่งเรามองว่าไม่มีวิธีดังกล่าว”
- “ดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง และตลาดแรงงานที่อ่อนตัว ล้วนเป็นความเจ็บปวดต่อสาธารณะที่เราต้องยอมรับ แต่นั้นไม่ใช่ความเจ็บปวดที่เทียบเท่าความเจ็บปวดจากความล้มเหลวในการฟื้นคืนเสถียรภาพของระดับราคา”
- “การกระทำที่ล่าช้าในการทำให้ปปรับลดเงินเฟ้อ จะทำให้นำไปสู่ความเจ็บปวดที่มากขึ้น”
- Fed Dot Plot ส่งสัญญาณแสดงเจตนาที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยจนเข้าสู่ระดับสุดท้าย (terminal rate) ที่ระดับ 4.4% ภายในสิ้นปีนี้ และระดับ 4.6% ในปี 2023 ซึ่งหมายถึง จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ
- เครื่องมือ Fed Watch Tool บ่งชี้ว่า ในรอบการประชุมเฟด 1-2 พฤศจิกายน มีความน่าจะเป็น 64.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และมีความน่าจะเป็น 35.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในขณะที่ตลาดไม่ได้มองถึงโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่อย่างใด
- ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อไป จากความผิดหวังที่เฟดส่งสัญญาณเป็นไปได้ต่ำที่เฟดจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน ในขณะที่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ระดับ 4.50% ในเดือนมีนาคม 2023 และจะปรับลงสู่ระดับ 4.00-4.25% ภายในสิ้นปี 2023
- ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบีอาจจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่จะจำกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อชะลออุปสงค์ และต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงจนยอมรับไม่ได้ โดยอีซีบีขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงเพิ่มขึ้น และแม้แต่การคาดการณ์ในระยะยาวก็กำลังเริ่มที่จะเคลื่อนตัวสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของอีซีบี
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียทั้งในปี 2565 และ 2566 เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารกลางใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน, ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามในยูเครน และการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- อดีตหัวหน้าฝ่ายสกุลเงินของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตรา (FX) ได้ทุกเวลาหากจำเป็น และไม่จำเป็นต้องรอการอนุญาตจากสหรัฐเพื่อสนับสนุนค่าเงินเยน
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นโดยไม่มีการกำหนดล่วงหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ก่อนที่คณะกรรมการ BOJ จะแถลงผลการประชุมนโยบายการเงินในวันพรุ่งนี้
- รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า นายมาซาโยชิ อามามิยะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่มีแนวคิดแบบสายพิราบ จะได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% และยืนยันว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,183.78 จุด ร่วงลง 522.45 จุด หรือ -1.70%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,789.93 จุด ลดลง 66.00 จุด หรือ -1.71% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,220.19 จุด ร่วงลง 204.86 จุด หรือ -1.79%
- หอการค้ายุโรปออกรายงานเตือนว่า บริษัทต่าง ๆ ของยุโรปเริ่มขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในประเทศจีน และปรับลดมุมมองที่เคยยกให้จีนเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่จีนใช้นโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขาดความยืดหยุ่นและไม่มีความต่อเนื่อง
- รองประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่ผ่านมาจากยูโรโซนบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมาก และปัจจัยเสี่ยงในช่วงขาลงต่อเศรษฐกิจก็รุนแรงขึ้น
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2566 ลงสู่ 2.3% จาก 2.6% ที่คาดการณ์เอาไว้ในเดือนก.ค. เนื่องจากวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นว่า การเดินหน้าคุมเข้มทางการเงินในสหรัฐและประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ จะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
- กรมศุลกากรเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าในช่วง 20 วันแรกของเดือนก.ย. แตะที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์ ท่ามกลางการส่งออกที่อ่อนแอ หลังจากมียอดเกินดุลการค้าที่ 1.17 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 1 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 82.94 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. 2565
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 79 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 89.83 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2565
- หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ของ ING ระบุว่า การที่รัสเซียประกาศระดมกำลังพลเคลื่อนไหว จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์พลังงานจากรัสเซีย(ซึ่งสร้างความกังวลต่ออุปทานน้ำมันที่อาจตึงตัวขึ้น) ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวอาจหมายถึง การเพิ่มความแข็งกร้าวของรัสเซียที่มีต่อชาติตะวันตก
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐวางแผนพบปะกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ในวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ย. นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เนื่องจากทั้งสองประเทศพิจารณาที่จะรื้อฟื้นความเป็นพันธมิตรอันยาวนานระหว่างสองฝ่าย หลังความสัมพันธ์ถดถอยลงไปตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศระดมกำลังพลบางส่วนในรัสเซีย พร้อมระบุว่าจะใช้ทุกวิถีทางในการปกป้องรัสเซีย และจะผนวกทุกดินแดนที่ทหารรัสเซียยึดครองสำเร็จ โดยคำประกาศดังกล่าวถือเป็นการยกระดับการทำสงครามกับยูเครน ขณะที่ปฏิบัติการรุกรานยูเครนล่วงเข้าสู่เดือนที่ 7
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 806 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,676,338 ราย ยอดผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK) ระหว่างวันที่ 11-17 ก.ย.2565 จำนวน 95,966 ราย สะสม 8,035,983 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 15 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 10,985 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 32,683 ราย
- องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปปรับตัวลดลง แต่การแพร่ระบาดใหญ่ยังไม่สิ้นสุด พร้อมกับเตือนให้ประเทศต่าง ๆ เตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ 37.22 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากระดับเปิดเมื่อวานที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์
- นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยธปท.รายงานว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงนี้ยังคงปกติ และเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้เกิดจากปัจจัยภายนอก คือการที่ดอลลาร์แข็งค่าเร็ว ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเร็วไปด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังจะนัดหารือกับธปท. เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า และประเมินว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะหารือกันเมื่อใด
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews, Bloomberg, CNBC