ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 0.91 เหรียญ หรือ 0.05% มาอยู่ที่ระดับ 1,660.65 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.4 เหรียญ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,668.6 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 16.8 เซนต์ หรือ 0.89% ปิดที่ 18.712 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 0.29 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 941.15 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ขายสุทธิ 32.22 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 34.51 ตัน
- บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน AirGuide ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นยังคงกดดันราคาทองคำ โดยที่ตลาดยังคงมองหาความชัดเจนและเสถียรภาพของราคาซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในช่วงที่ผ่านมานี้ ทั้งนี้ บริษัทให้มุมมองราคาทองคำสามารถเคลื่อนตัวสู่ระดับ 1,680 เหรียญได้บนสมมุติฐานว่าไม่มีปัจจัยใหม่หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบ
- Wing Fung Precious Metals ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นทำให้นักลงทุนเข้าซื้อค่าเงินดอลลาร์ แทนที่การซื้อทองคำ ซึ่งมีเม็ดเงินไหลออกจากกองทุนอีทีเอฟทองคำอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -1.27 จุด หรือ -1.13% มาอยู่ที่ระดับ 111.75 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.047% มาอยู่ที่ระดับ 3.786% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 4.194% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ -0.408%
- ธนาคารกลางจีนเตือนให้ระวังการซื้อขายแบบเก็งกำไร และการเสี่ยงกับเงินหยวนแบบทางเดียวเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินหยวนดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์และหยุดสถิติการร่วงลง 8 วันติดต่อกัน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า "แถลงการณ์ดังกล่าว สะท้อนความวิตกเพิ่มเติมของธนาคารกลางจีนเกี่ยวกับการร่วงลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินหยวน แต่ธนาคารกลางจีนจะไม่เข้าปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากการร่วงลงเกิดขึ้นจากการแข็งค่าต่อเนื่องของดอลลาร์"
- ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนบริษัทพิมโค ระบุว่า เฟดอาจจะต้องปรับเงื่อนไขทางการเงินให้เข้มงวดกว่าที่ตลาดกำลังปรับตัวรับในขณะนี้ และมากกว่าที่เฟดเองคาดการณ์ไว้ โดยเฟดมองว่า อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.6% ภายในปลายปีหน้า แต่บริษัทพิมโคประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจะสูงถึง 5%
- ผู้ว่าการธนาคารกลางสโลวาเกีย และสมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบีต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า และขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.สู่ระดับที่จะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป พร้อมระบุว่า อีซีบีอาจจะเริ่มการหารือในปีนี้เรื่องการลดขนาดงบดุล แต่การหารือก็ไม่ได้หมายความเสมอไปว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดปริวรรตเงินตราและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,225.61 จุด ลดลง 458.13 จุด หรือ -1.54%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,640.47 จุด ลดลง 78.57 จุด หรือ -2.11% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,737.51 จุด ลดลง 314.13 จุด หรือ -2.84%
- ประธานเวิลด์แบงก์ เตือนเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation)
- และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เศรษฐกิจยุโรปจะเผชิญกับภาวะถดถอย
- ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงอย่างรุนแรง
- และผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้หดตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
- พร้อมแสดงความกังวล "สถานการณ์เหล่านี้จะสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา" และ"เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงราคาอาหาร ปุ๋ย และพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างมาก รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น การอ่อนค่าของสกุลเงิน และเม็ดเงินทุนที่ไหลออกนอกประเทศ
- นักเศรษฐศาสตร์จากจาก Citibank ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่สี่ของปีนี้จากระดับ 5% ลงเหลือ 4.6% พร้อมระบุว่า มาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่ยังคงเข้มงวดและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ ยังคงกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในสัปดาห์หน้า
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 92 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 81.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 83 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 88.49 ดอลลาร์/บาร์เรล
- แหล่งข่าวสี่แหล่งระบุตรงกันว่า จีนจะชะลอเพิ่มโควต้าของการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปสำหรับปีนี้ และเลื่อนแผนการเพิ่มโควตาไปเป็นปีหน้า สวนทางความคาดหวังของตลาดที่จะมีการเพิ่มการส่งออกในปีนี้ ทั้งนี้ ซึ่งจีนต้องพิจารณาระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกมากขึ้น เปรียบเทียบกับการที่ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในประเทศที่จะอยู่ในระดับต่ำและความท้าทายด้านการผลิต
- คาดการณ์ยุโรปจะเผยมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบถัดไปในการประชุมสหภาพยุโรป (EU Summit) ซึ่งจะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า
- นางเจนนี ลาร์สสัน โฆษกหน่วยยามชายฝั่งของสวีเดนเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบเหตุก๊าซรั่วไหลจุดที่ 4 จากท่อก๊าซนอร์ดสตรีม หลังจากตรวจพบเหตุก๊าซรั่วจากท่อดังกล่าว 3 จุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ การรั่วไหล 2 จุดจากทั้งหมด 4 จุดพบในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสวีเดน ขณะที่ รอยรั่วอีก 2 จุดที่เหลืออยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเดนมาร์ก
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จะจัดประชุมในวันนี้ ตามคำเรียกร้องของรัสเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับความเสียหายของท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม (Nord Stream) ของรัสเซียทั้งสองท่อซึ่งใช้ส่งก๊าซไปยังยุโรป และเป็นเหตุให้ก๊าซรั่วไหลสู่ทะเลบอลติก
- ประธานธนาคารโลกเตือนว่า การที่ทั่วโลกจะสามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งพารัสเซียนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานหลายปี โดยนับตั้งแต่รัสเซียส่งกองกำลังทหารรุกรานยูเครนในเดือนก.พ.นั้น ทั่วโลกก็ต้องประสบกับวิกฤตพลังงาน และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation)
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- นางแครีน ฌ็อง ปิแอร์ โฆษกประจำทำเนียบขาวเปิดเผยว่า สหรัฐเตรียมใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจที่ “รวดเร็วและรุนแรง” ต่อรัสเซีย หลังรัสเซียเริ่มรุกคืบปฏิบัติการผนวกดินแดนของยูเครนที่ยึดมาได้จากการสู้รบ
- รองประธานาธิบดีสหรัฐเดินทางไปยังกรุงโซลของเกาหลีใต้ และเขตปลอดทหาร ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในเมื่อวานนี้ หลังจากที่เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธและได้ตอกย้ำถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 839 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 4,681,309 ราย ยอดผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK) ระหว่างวันที่ 18-24 ก.ย.2565 จำนวน 81,258 ราย สะสม 8,117,241 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 9 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 11,066 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 32,764 ราย
- บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า การเดินทางในช่วงวันหยุดเนื่องในวันชาติของจีนนั้นมีแนวโน้มซบเซาแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปี เนื่องจากความหวั่นวิตกเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทางการเรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางและเก็บตัวอยู่ในถิ่นอาศัย ในขณะที่ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจกระทบการใช้จ่ายด้วย โดยวันหยุดของจีนเนื่องในวันชาติจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 – 7 ต.ค. ซึ่งเรียกว่าเป็นสัปดาห์ทอง (Golden Week)
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ 37.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.06 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.85-38.15 บาทต่อดอลลาร์
- นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบเป้าหมาย โดยยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 3/65 และกลับเข้ากรอบในปี 66 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะถึงจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่หากไม่เป็นไปตามคาด ก็พร้อมปรับการดำเนินนโยบายให้เหมาะสม
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 65 และ 2% ณ สิ้นปี 65 โดยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นหลัก แต่ในภาพรวมยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินภูมิภาค ไม่ได้อ่อนค่าผิดปกติ และการอ่อนค่าของเงินบาทก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในประเทศมากนัก
- โฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างใกล้ชิด
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews