ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ และปรับตัวขึ้นในรอบสัปดาห์นี้ โดยได้แรงหนุนจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา แต่สัญญาทองปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในไตรมาส 3 นับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 1.68 เหรียญ หรือ 0.1% มาอยู่ที่ระดับ 1,661.88 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 3.4 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,672 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. และปรับตัวขึ้น 1% ในรอบสัปดาห์นี้ แต่สัญญาทองคำร่วงลง 3.1% ในเดือนก.ย.เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และร่วงลง 7.5% ในไตรมาส 3
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 32.7 เซนต์ หรือ 1.75% ปิดที่ 19.039 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.45 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 939.7 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ขายสุทธิ 33.67 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 35.96 ตัน
- นักวิเคราะห์จากบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ TD ระบุว่า นักลงทุนในตลาดอัตราดอกเบี้ยกำลังปรับตัวรับการคาดการณ์ที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานานระยะหนึ่ง ส่วนราคาทองอาจจะยังคงร่วงลงไปอีกในขั้นตอนต่อไปในวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- นักวิเคราะห์จาก Citi Index ระบุว่า ราคาทองคำรองหมดกำลังในการปรับตัวขึ้น ซึ่งชะลอตัวลงในช่วงระดับราคาทองคำที่ซื้อขายหนาแน่นในช่วงก่อนหน้าบริเวณ 1,660-1,680 เหรียญ ทั้งนี้ หากค่าเงินดอลลาร์ยังไม่ปรับตัวลงอีกครั้ง ทิศทางขาขึ้นของราคาทองคำจะยังคงถูกจำกัด
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.42 จุด หรือ 0.38% มาอยู่ที่ระดับ 112.17 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.015% มาอยู่ที่ระดับ 3.801% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 4.221% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ -0.42%
- ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก แมรี ดาลี เชื่อว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่กรอบ 4.5-5% และจะคงไว้ที่ระดับดังกล่าวไปจนถึงปลายปีหน้าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ แต่เธอก็อาจสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่านั้น ถ้าหากเงินเฟ้อไม่ลดลงตามที่คาดไว้
- ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repo rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% สู่ระดับ 5.90% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันในปีนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ โดยถูกกดดันหลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก และทำให้นักลงทุนวิตกว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะถดถอย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,725.51 จุด ลดลง 500.10 จุด หรือ -1.71%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,585.62 จุด ลดลง 54.85 จุด หรือ -1.51%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,575.62 จุด ลดลง 161.89 จุด หรือ -1.51%
- จีนแจ้งไปยังบรรดาสถาบันการเงินของรัฐให้เตรียมเทขายดอลลาร์ที่ถือครองอยู่ พร้อมเก็บตุนสำรองเงินหยวนนอกประเทศจีน ทั้งนี้ในอดีต ปี 2015 จีนเคยเทขายดอลลาร์ผ่านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของเพื่อสนับสนุนค่าเงินหยวน หลังจากปรับลดค่าเงินหยวนแบบปรับลดครั้งเดียวจบ (one-off devaluation) 2% เพื่อปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการปรับปรุงกลไกกำหนดราคาหยวน และรักษาค่าเงินให้มีเสถียรภาพในระดับที่สมเหตุสมผล
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.ย.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.1 จากระดับ 49.4 ในเดือนส.ค. โดยดัชนี PMI เดือนก.ย.อยู่ในระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 49.6 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมด้านการผลิตของจีนฟื้นตัวขึ้น แม้ว่ารัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมืองใหญ่หลายแห่ง
- ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนส.ค. ขณะที่ภาคการผลิตมีการฟื้นตัวท่ามกลางต้นทุนวัตถุดิบสูง และความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนส.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากรอบ 2 เดือนก่อน
- ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้นมากเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันในเดือนส.ค. โดยพุ่งขึ้น 4.1% ในเดือนส.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เทียบกับที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8%
- นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบล.เอสเอ็มบีซี นิกโกกล่าวถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่า "กิจกรรมการผลิตของผู้ผลิตแข็งแกร่ง และการผลิตก็อยู่ในทิศทางขาขึ้นสำหรับเดือนส.ค. แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การผลิตอาจชะงักงันในเดือนต.ค.
- สำนักงานสถิติเกาหลีเปิดเผยว่า การผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ลดลง 1.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งพลิกผันจากเดือนก.ค.ที่เพิ่มขึ้น 17.3% โดยการผลิตในเดือนส.ค.เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และเป็นสัญญาณว่าบรรดาผู้ผลิตชิปเสี่ยงเผชิญภาวะอุปสงค์โลกชะลอตัว
- ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ผู้นำเกาหลีใต้เปิดเผยว่า รัฐบาลจะดำเนินการมาตรการที่จำเป็นและทันเวลา เพื่อปกป้องประชาชนจากความผันผวนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
- สิงคโปร์เปิดเผยมาตรการต่าง ๆ ที่นำมาใช้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งรวมถึงการจำกัดวงเงินกู้สูงสุดสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างเข้มงวดเพื่อรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้น และมาตรการใหม่ ๆ เพื่อชะลออุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อฝรั่งเศสชะลอตัวลงแบบไม่คาดคิด ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังพิจารณาว่าจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกหรือไม่
- วิกฤตเศรษฐกิจของยูโรโซนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังเงินเฟ้อพุ่งแตะตัวเลขหลักสิบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุก โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งแตะ 10% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากระดับ 9.1% ในเดือนส.ค. โดยสูงเหนือการคาดการณ์เฉลี่ยในผลสำรวจนักเศรษฐศาตร์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่ระดับ 9.7% และสูงเหนือคาดการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 2/2565 แต่คาดว่าจะหดตัวในไตรมาสต่อ ๆ ไป เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ จากรายงานระบุว่าจีดีพีของอังกฤษเติบโตขึ้น 0.2% ในไตรมาส 2/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่เติบโตขึ้น 0.7% และสูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะปรับตัวลดลง 0.1%
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ โดยตลาดถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมัน หลังจากที่การคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ได้เพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 1.74 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 79.49 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 53 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 87.96 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นักวิเคราะห์จาก OANDA ระบุว่า ภาพรวมอุปสงค์น้ำมันที่ยังคงย่ำแย่ส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่สามารถปรับขึ้นไปได้ ไปจนกว่าเทรดเดอร์จะมั่นใจว่าโอเปคพลัสจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันในการประชุมวันที่ 5 ตุลาคมนี้
- นายโอเลกซานดร์ สตารักห์ ผู้ว่าการแคว้นซาปอริซเซียเปิดเผยว่า ขบวนรถที่บรรทุกพลเรือนชาวยูเครนได้ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียในวันศุกร์ที่ผ่านมา ใกล้กับเมืองซาปอริซเซียทางภาคใต้ของยูเครน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีเปิดเผยว่า เยอรมนีอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับปริมาณพลังงาน ทั้งนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเยอรมนีออกมาตรการ “เกราะป้องกัน” (defensive shield) เพื่อปกป้องชาวเยอรมันจากผลกระทบของราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ประกอบด้วยแคว้นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย โดยปธน.ปูตินได้ลงนามในสนธิสัญญาผนวกดินแดนดังกล่าวร่วมกับผู้นำจากทั้ง 4 แคว้น
- ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า ยูเครนได้ยื่นสมัครเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แบบ fast track
- นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐยังไม่เห็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด
- สหรัฐออกมาตรการคว่ำบาตรบริษัทต่างๆ ในจีนและประเทศอื่นๆ(ฮ่องกง, อินเดีย, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ) ในข้อหามีส่วนพัวพันกับการขายปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของอิหร่าน
- เกาหลีใต้, สหรัฐ และญี่ปุ่นจัดซ้อมรบต่อต้านเรือดำน้ำในน่านน้ำสากลนอกทะเลญี่ปุ่นในวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (KDCA) เปิดเผยว่า เกาหลีใต้จะยกเลิกข้อกำหนดที่ให้นักเดินทางขาเข้าประเทศต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึงเกาหลีใต้ หลังจากที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทาลง โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลในวันเสาร์ที่ผ่านมา
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ37.83 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 37.85 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.50-38.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.70-37.95 บาทต่อดอลลาร์
- บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับมืออาชีพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เผยผลสำรวจ จาก 6 ประเทศในอาเซียน ชี้กระแสการลาออกระลอกใหญ่ (Great resignation) ในไทย - อาเซียน จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยในยุโรป จากการที่องค์กรขนาดใหญ่แย่งตัวสาขาดิจิทัล, cyber security
- ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันเงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว คาดเริ่มชะลอตัวลง พร้อมชี้ว่า ค่าแรง ค่าเอฟที เงินบาท ค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อน้อย คาดทั้งปีเงินเฟ้อไทยอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5 -6.5%
- แต่ก็ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อ เช่น ราคาพลังงานที่ยังผันผวน สภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมของไทยที่จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ซึ่งอาจทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลต่อเงินเฟ้อ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews, ManagerOnline