• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2565

    5 ตุลาคม 2565 | Gold News

ข่าวเกี่ยวกับทองคำ

 

  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันอังคารที่ 4 ต.ค. เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยหนุนตลาด

 

  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 24.2 เหรียญ หรือ 1.42% อยู่ที่ระดับ 1,725.7 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 28.5 ดอลลาร์ หรือ 1.67% ปิดที่ 1,730.5 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 2.48% ปิดที่ 21.099 ดอลลาร์/ออนซ์
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 1.74 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 944.63 ตันภาพรวมเดือนตุลาคม ซื้อสุทธิ 4.93 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 31.03 ตัน

 

  • หัวหน้าเทรดเดอร์ของบริษัท UBS Global Investor ระบุว่า ราคาทองได้แรงหนุนเข้ามาในช่วงนี้ เนื่องจากราคาทองไม่ได้ดิ่งลงอย่างรุนแรงเท่ากับตลาดสินทรัพย์อื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา และนักลงทุนบางรายก็คาดการณ์ในช่วงนี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วย ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาทอง

 

  • นักวิเคราะห์ของบริษัท Kitco metals ระบุว่า "ราคาทองจำเป็นจะต้องปิดตลาดเหนือระดับ 1,700 ดอลลาร์ ถึงจะสามารถกระตุ้นให้มีการคาดการณ์ในทางบวกต่อแนวโน้มราคาทองได้มากยิ่งขึ้น แต่การปิดตลาดเหนือระดับดังกล่าวก็จะยังไม่ได้ทำให้ปัจจัยทางเทคนิคเปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยปัจจัยทางเทคนิคยังคงบ่งชี้ถึงแนวโน้มในทางลบอยู่"

 

ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์  ปรับตัวลดลง -1.37 จุด หรือ -1.23% มาอยู่ที่ระดับ 110.19 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 3.625% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี  ปรับตัวลดลง -0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 4.088% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.46% อยู่ในภาวะ inverted yield curve

 

  • นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก และควบตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) ระบุว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงจนเกินไป โดยแทบไม่มีสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ซึ่งหมายความว่า เฟดต้องเดินหน้าภารกิจคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในภายใต้การควบคุม

 

  • นายโทมัส บาร์กิ้น ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ ชี้เงินเฟ้อที่มีการเปลี่ยนแปลงถาวรอาจทำให้นโยบายผันผวนมากขึ้นในอนาคต 
    • โดยระบุว่า เงินเฟ้อในอนาคตผันผวนที่มากขึ้นเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบห่วงโซ่อุปทานโลก, การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร และความสัมพันธ์ทางการค้าที่แตกแยก
    • นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปมีประสิทธิภาพน้อยลง และอาจทำให้การแทรกแซงการทำงานของตลาดทำได้ยากขึ้น



  • ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์ คาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ (0.50% - 1.00%)ในการประชุมวันที่ 3 พ.ย. และ 15 ธ.ค. และตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายของบีโออีได้ปรับขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับโพลล์ครั้งก่อน

 

  • ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% แตะที่ 2.60% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ในวันอังคารที่่ผ่านมา โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แม้ RBA เปิดกว้างต่อการคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มเติมในอนาคต

 

ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ



  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 800 จุดในวันอังคารที่ 4 ต.ค. ขณะที่ดัชนี S&P500 ทำสถิติพุ่งขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ยังทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน

 

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,316.32 จุด พุ่งขึ้น 825.43 จุด หรือ +2.80%,
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,790.93 จุด เพิ่มขึ้น 112.50 จุด หรือ +3.06% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,176.41 จุด เพิ่มขึ้น 360.97 จุด หรือ +3.34%

 

  • สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 1.1 ล้านตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 11.1 ล้านตำแหน่ง

 

  • ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ทั่วไปในยูโรโซนพุ่งขึ้นมากเกินคาดเล็กน้อยในเดือนส.ค. เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ดัชนี PPI พื้นฐานที่ไม่รวมหมวดพลังงาน ชะลอตัวลง โดย
    • ดัชนี PPI ทั่วไปเพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 43.3% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่า จะเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบรายเดือน และ 43.1% เมื่อเทียบรายปี
    • ดัชนี PPI พื้นฐานเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และ 14.5% เมื่อเทียบรายปีในเดือนส.ค. เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 0.6% และ 15.1% ตามลำดับในเดือนก.ค.

 

  • ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า โลกสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ถ้านโยบายการคลังของรัฐบาลต่าง ๆ มีความสอดคล้องกับนโยบายการเงินที่เข้มงวด แต่ในปีหน้านั้น หลายประเทศมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

  • ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานในกรุงโตเกียวพุ่งขึ้น 2.8% ในเดือนก.ย.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสูงเกินเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้ว และเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ปี 2014 และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และเทียบกับที่เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนส.ค.

 

  • กระทรวงคมนาคมจีน เผย ปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำของจีนเพิ่มขึ้น 4.9% แตะกว่า 5.57 พันล้านตันในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.ของปีนี้ เมื่อเทียบรายปี

 

  • ค่าประกันความเสี่ยงตราสารหนี้ที่ออกโดยยูบีเอส (UBS) วาณิชธนกิจของสวิตเซอร์แลนด์นั้น พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีในวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดจับตาสถานการณ์ของเครดิตสวิส วาณิชธนกิจสัญชาติเดียวกัน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถของเครดิตสวิสในพลิกฟื้นธุรกิจ และเพิ่มเงินทุน

 

  • ประธานาธิบดียุน ซอกยอลของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า บัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ตลอดทั้งปีนี้จะเกินดุล แม้เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ตาม พร้อมระบุว่า การขาดดุลที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ และราคาเซมิคอนดักเตอร์

 

ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน

 

  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันอังคารที่ 4 ต.ค.  โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ในการประชุมวันนี้ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อในตลาดน้ำมัน

 

  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 2.89 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 86.52 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2565
  • ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 2.94 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 91.80 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2565

 

  • ผู้แทนของกลุ่มโอเปคพลัสระบุว่า กลุ่มโอเปคพลัสกำลังพิจารณาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงสูงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นการปรับลดที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 เพื่อพยุงราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม มีการระบุว่า กลุ่มโอเปคพลัสกำลังพิจารณาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เช่กัน

 

  • นักวิเคราะห์จาก OANDA ระบุว่า แม้ว่าจะมีสถานการณ์สงครามยูเครน กลุ่มโอเปคพลัสยังคงสามารถรวมตัวอย่างแข็งแกร่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และกลุ่มโอเปคพลัสก็พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อพยุงราคาน้ำมัน

 

  • นักวิเคราะห์จาก ING ระบุว่า โอเปคพลัสอาจจะประกาศปรับลดกำลังการผลิตมากถึงระดับที่มากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะปรับลดกำลังการผลิตน้อยกว่านั้น เนื่องจาก สมาชิกโอเปคพลัสส่วนใหญ่ก็ยังผลิตต่ำกว่าโควตาการผลิตอยู่

 

  • นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ระบุว่า การพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคพลัสช่วยหนุนราคาน้ำมันหลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา และยังส่งผลให้เกิดมุมมองขาขึ้นต่อราคาน้ำมัน ทั้งนี้ Goldman Sachs ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อน้ำมันต่อไป 

 

  • เออร์สเตด (Orsted) บริษัทพลังงานของเดนมาร์กวางแผนกลับมาดำเนินงานที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ตามคำสั่งของทางการเดนมาร์ก ในขณะที่ รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วยุโรปกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูหนาว ท่ามกลางวิกฤตขาดแคลนพลังงาน

 

  • สวีเดนได้ส่งเรือดำน้ำไปยังที่ตั้งท่อส่งก๊าซของรัสเซียในทะเลบอลติกในวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบการรั่วไหลของท่อส่งก๊าซดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเกิดการระเบิดในพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้เพิ่มความตึงเครียดครั้งใหม่ให้กับวิกฤตพลังงานในยุโรป

 

ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ

 

  • คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะพิจารณาคำร้องของยูเครนในการกู้ยืมเงินฉุกเฉิน 1.3 พันล้านดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินต่อไป

 

  • ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐวางแผนประกาศข้อจำกัดใหม่กับจีนในการเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นความพยายามอีกขั้นของสหรัฐในการยับยั้งความทะเยอทะยานทางด้านอุตสาหกรรมของจีน และขจัดความเสี่ยงที่มีต่อธุรกิจนี้ซึ่งมีมูลค่า 5.50 แสนล้านดอลลาร์

 

  • เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปีเมื่อวานนี้ หลังจากที่ยิงขีปนาวุธลงสู่ทะเลญี่ปุ่น แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติก็ตาม

 

ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท

 

  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยว ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด ได้ในปลายปี 65 หรือต้นปี 66

 

  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุ ค่าเงินบาทบางช่วง 38 บาทไม่กระทบเสถียรภาพ โดยกล่าวว่าหากถามว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าไปสู่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ หมายถึงประเทศไทยขาดเสถียรภาพหรือไม่ ตอบว่า ไม่ เพราะเงินบาทที่อ่อนค่าหลักๆ มาจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และหากดูด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยถือว่าแข็งแกร่ง มีเงินทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.2 เท่า แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้จะขาดดุล แต่ปีหน้าขาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้ และหากดูเงินทุนสำรอง 2.3 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นอันดับ 12 ของโลก รองจากประเทศเยอรมัน แต่สูงกว่าสหรัฐฯ และอิตาลี-อังกฤษ เทียบในอาเซียนรองสิงคโปร์เท่านั้น สะท้อนว่าเรามีเสถียรภาพ

 

  • สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 65 ขยายตัว 8% หลังจากในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา เติบโตได้ถึง 11% ขณะที่ภาคการผลิตโลกแม้จะชะลอตัว แต่ไม่ได้ปรับลงรุนแรง ทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวต่อไปได้

 

  • รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าปีหน้ายังคงทรงตัวระดับสูง เนื่องจากราคานำเข้าของเชื้อเพลิงหลักคือก๊าซธรรมชาติผันแปรตามราคาน้ำมันในขณะที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าถึง 20 % ซึ่งมีราคาสูงมาก หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อจะทำให้แอลเอ็นจีแพงมากขึ้น

 

  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาด เนื่องจากการเปิดประเทศที่ทำให้การเดินทางเข้า-ออกประเทศสะดวกมากขึ้น รวมถึงความต้องการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยจากการที่ถูกจำกัดไว้ก่อนหน้า (Pent Up Demand) ซึ่งส่งผลดีต่อฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญของไทยช่วงครึ่งหลังปี 65 โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 65 จะอยู่ที่ 9.5 ล้านคน จากอานิสงส์ตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลาง ส่วนปี 66 ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 18.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 46% ของยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 และจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัวได้ 3.7%

 

ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews, Bloomberg

 

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com