ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันพรุ่งนี้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -9.97 เหรียญ หรือ -0.58% อยู่ที่ระดับ 1,716.01 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 9.7 เหรียญ หรือ 0.56% ปิดที่ 1,720.8 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 55.5 เซนต์ หรือ 2.63% ปิดที่ 20.544 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 1.71 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 946.34 ตันภาพรวมเดือนตุลาคม ซื้อสุทธิ 6.64 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 29.32 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก High Ridge Futures ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงหลังจากปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เฟดยังคงให้ความสนใตกับตลาดแรงงาน ซึ่งเราเห็นถึงภาคการผลิตที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม หากมีการรายงานใดๆที่บ่งชี้ถึงการข้างงานที่ดีกว่าคาด ก็จะส่งผลลบต่อราคาทองคำ
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.79 จุด หรือ 0.72% มาอยู่ที่ระดับ 111.02 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.11 % มาอยู่ที่ระดับ 3.739% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.06 % มาอยู่ที่ระดับ 4.14% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.4% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เงินเฟ้อเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดที่เฟดกำลังเผชิญอยู่ และอาจจะต้องใช้เวลาสักพักเพื่อจัดการ นอกจากนี้ ยังระบุว่า มีเหตุผลที่จะคิดว่าภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานกำลังผ่อนคลายลงแล้ว โดยข้อมูลวานนี้พบว่า ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครลดลงมากในเดือนส.ค. ซึ่งเริ่มที่จะทำให้จำนวนผู้ที่บริษัทต้องการสอดคล้องกับจำนวนผู้ว่างงานมากขึ้น นั่นอาจช่วยลดการขึ้นค่าจ้าง และมีสัญญาณบ่งชี้เช่นเดียวกันว่า ภาวะคอขวดในระบบอุปทานเริ่มคลี่คลายลงแล้ว และอาจจะช่วยบรรเทาอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาได้
- นางแมรี่ ดาลี่ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เฟดต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก และคงนโยบายเชิงจำกัดไว้ต่อไปจนกว่าเราจะเสร็จสิ้นการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงกลับมาอยู่ที่เป้าหมาย 2% ของเฟดจริงๆ
- หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัทเจเนอราลี ระบุว่า "ธนาคารกลางหลายแห่งมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อ แต่ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวล่าช้ากว่าวัฏจักรเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ความล่าช้าในวัฏจักรเงินเฟ้ออาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานเกินไป และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นสู่ระดับที่สูงเกินไป"
- หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ในบริษัทเอ็มแอนด์จี อินเวสท์เมนท์กล่าวว่า "ธนาคารกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่ในยุโรปและภูมิภาคลาตินอเมริกาเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วเป็นอย่างมาก ซึ่งรวมถึงเฟด, ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ" และกล่าวว่า วัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
- ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.50% โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อ และสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังมีรายงานว่าตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนก.ย. ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,273.87 จุด ลดลง 42.45 จุด หรือ -0.14%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,783.28 จุด ลดลง 7.65 จุด หรือ -0.20% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,148.64 จุด ลดลง 27.77 จุด หรือ -0.25%
- หนี้สาธารณะของสหรัฐพุ่งทะลุ 31 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยหนี้ค้างชำระของสหรัฐพุ่งเกือบ 8 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2563 และพุ่งขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 8 เดือน
- องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เตือน เศรษฐกิจโลกใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอย และคาดว่าประเทศกำลังพัฒนาเช่นในเอเชียอาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หากธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องโดยไม่ใช้เครื่องมืออื่น ๆ และไม่ได้พิจารณาเศรษฐกิจในฝั่งอุปทาน พร้อมกับเตือนว่า ไม่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิ้ง
- เลขาธิการอังค์ถัด ชี้ว่า “ขณะนี้ยังพอมีเวลาที่จะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ได้ด้วยการผสมผสานนโยบายเชิงปฏิบัติให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งนโยบายเหล่านั้นได้แก่กลยุทธ์การควบคุมเงินเฟ้อ, ภาษีลาภลอย (windfall tax), มาตรการต่อต้านการผูกขาดตลาด และการใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดในการควบคุมการเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์”
- ผลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล ชี้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ 45.0 ในเดือนก.ย. ต่ำกว่าตัวเลข PMI ภาคบริการเบื้องต้นที่ 45.4 เล็กน้อย เนื่องจากเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ ซึ่งเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีอาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
- สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี (Ifo) เปิดเผยว่า บริษัทเยอรมนีจำนวนมากกำลังวางแผนปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อไม่ได้กำลังชะลอตัวลง
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 1.24 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 87.76 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2565
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.57 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 93.37 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2565
- โอเปคพลัส มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงสูงถึง 2 ล้านบาร์เรลสำหรับเดือนพฤศจิกายน เมื่อวานนี้ โดยเป็นการปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020
- นักวิเคราะห์จาก City index ระบุว่า แม้โอเปคจะมีมติการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปคจำนวนมากแต่ส่งผลกระทบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจาก แต่เดิมสมาชิกโอเปคบางรายก็ยังผลิตไม่ถึงโควตาการผลิตที่กำหนด
- องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) ระบุว่า วิกฤติพลังงานการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรปมีแนวโน้มเลวร้ายลง โดยเฉพาะเมื่อยุโรปเข้าสู่หน้าหนาว และใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งกักเก็บ ประกอบกับการจัดส่งก็าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ยังคงน้อยลงมาก ทำให้วิกฤติพลังงานในยุโรปจะเลวร้ายยิ่งขึ้นในปีหน้า
- สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์รายงานว่า แผนกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียของกลุ่ม G7 นั้นจะช่วยให้ 50 ประเทศในตลาดเกิดใหม่และรายได้ต่ำ ตั้งแต่ตุรกีไปจนถึงเอลซัลวาดอร์และประเทศไทย สามารถประหยัดงบประมาณด้านการนำเข้าน้ำมันไปประมาณ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังสหรัฐไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าต้องกำหนดเพดานราคาเท่าไหร่จึงจะช่วยประหยัดเงินได้ตามที่กล่าวอ้าง
- ก๊าซพรอม บริษัทพลังงานของรัสเซียเปิดเผยว่า บริษัทเตรียมกลับมาส่งออกก๊าซไปยังอิตาลีผ่านเส้นทางออสเตรียอีกครั้ง หลังจากได้ระงับการลำเลียงก๊าซในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากอุปสรรคด้านกฎระเบียบ โดยผู้ดำเนินการในออสเตรียได้ยืนยันความพร้อมในการรับรองการขนส่งของบริษัทแอลแอลซี ก๊าซพรอม เอ็กซ์พอร์ต (LLC Gazprom Export) ซึ่งจะทำให้รัสเซียสามารถจัดส่งก๊าซผ่านเส้นทางออสเตรียได้อีกครั้ง
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวอ้างว่า กองทัพยูเครนได้รุกคืบอย่างรวดเร็วและมีชัยชนะเหนือกองกำลังรัสเซีย โดยได้ปลดปล่อยเมืองหลายสิบแห่งทางตอนใต้และทางตะวันออกของยูเครนจากการยึดครองของรัสเซีย
- สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวกับประธานาธิบดีเซเลนสกี ของยูเครนว่า รัฐบาลสหรัฐจะให้การสนับสนุนยูเครนตราบเท่าที่จำเป็น ซึ่งเขาได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือทางการทหารครั้งใหม่เพื่อให้ยูเครนสามารถสู้รบกับรัสเซีย และระบุย้ำว่า สหรัฐจะไม่มีวันยอมรับการผนวกดินแดนของยูเครนเข้ากับรัสเซีย
- เสนาธิการร่วมของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า กองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐยิงขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยใกล้ ATACMS ฝ่ายละ 2 ลูกลงสู่ทะเล เพื่อตอบโต้เกาหลีเหนือที่ทดสอบยิงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามประเทศญี่ปุ่น โดยการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลของเกาหลีเหนือส่งผลให้นานาประเทศออกมาประณามเป็นอย่างมาก
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันเปิดเผยในว่า ไต้หวันจะจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรใหม่ "ชิป 4" (Chip 4) ที่นำโดยสหรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์บริษัทของไต้หวัน และรับประกันความคล่องตัวของห่วงโซ่อุปทาน
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ37.30 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.20-37.40 บาทต่อดอลลาร์
- กระทรวงพาณิชย์เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 6.41% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เทียบกับที่โพลล์รอยเตอร์คาดไว้เพิ่มขึ้น 6.60% ขณะที่เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า CPI ในก.ย. เพิ่มขึ้น 0.22% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน ในก.ย. เพิ่มขึ้น 3.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.14% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่โพลล์คาดไว้เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบรายปี
- คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ปรับกรอบคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ปี 65 เติบโต 3.00-3.50% จากเดิมคาดไว้ 2.75-3.50% หลังประเมินเศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews