ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ โดยถูกกดดันหลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -17.78 เหรียญ หรือ -1.04% อยู่ที่ระดับ 1,694.69 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 11.5 ดอลลาร์ หรือ 0.67% ปิดที่ระดับ 1,709.3 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ยังคงปิดบวก 2.2% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 40.5 เซนต์ หรือ 1.96% ปิดที่ 20.255 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.03 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 944.31 ตันภาพรวมเดือนตุลาคม ซื้อสุทธิ 4.61 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 31.35 ตัน
- เทรดเดอร์อาวุโสจาก Heraeus Precious Metals ระบุว่า ตลาดมองไปที่การรายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่ออกมาดีกว่าที่คาด เป็นการสนับสนุนให้เฟดอาจปรัขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อีกครั้งในการประชุมต้นเดือนพฤศจิกายน
- นักวิเคราะห์จาก Kitco Metals ระบุว่า บรรดานักลงทุนทองคำยังคงสนใจนโยบายของเฟด และให้ความสนใจน้อยกับปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
- ผู้อำนวยการของ AirGuide ระบุว่า ปัจจัยหลักที่กระทบราคาทองคำในขณะนี้ คือ การที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้น และกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.5 จุด หรือ 0.45% มาอยู่ที่ระดับ 112.75 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.06 % มาอยู่ที่ระดับ 3.888% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.05 % มาอยู่ที่ระดับ 4.312% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.42% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อไปจนถึงช่วงต้นปีหน้าเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องลดลง และเขาแทบไม่เห็นเหตุผลที่จะลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
- นางลอเรตต้า เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ระบุว่า อัตราว่างงานสหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่เรื่องดังกล่าวจะไม่ทำให้เฟดหยุดยั้งการต่อสู้กับเงินเฟ้อซึ่งเป็นภารกิจสำคัญเพียงหนึ่งเดียวของเฟดในขณะนี้
- นางลิซา คุก ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวหนุนการขึ้นดอกเบี้ย โดยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังคง "สูงจนยอมรับไม่ได้และยากที่จะจัดการ" จึงต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดลง นอกจากนี้ ยังระบุว่า "มีเหตุผลที่จะคาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า และระบบห่วงโซ่อุปทานจะปรับตัวดีขึ้นต่อไป แต่ลักษณะของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในวงกว้างนั้นบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโดยรวมยังตึงตัวมาก"
- นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.5-4.75% ภายในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า ขณะที่เฟดขึ้นต้นทุนการกู้เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไปลดลง
- ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยรายงานการประชุมในเดือนกันยายน ระบุว่า ผู้กำหนดนโบบายของอีซีบีดูมีความวิตกมากขึ้นว่า อัตราเงินเฟ้อสูงอาจจะฝังตัว ซึ่งทำให้การคุมเข้มนโยบายแบบเชิงรุกเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงก็ตาม
- นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางของยุโรปจะอยู่ในช่วง 1.5-2% ซึ่งบ่งชี้ว่า อีซีบีอาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับดังกล่าวภายในปลายปีนี้ ขณะที่อีซีบีจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 ตุลาคม
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้ากดดันธนาคารบางแห่งให้ระมัดระวังเรื่องการจ่ายเงินโบนัสและเงินปันผลประจำปี 2565 เนื่องจากกังวลว่าวิกฤตพลังงานอาจส่งผลให้เกิดกระแสการผิดชำระหนี้ โดยคำเตือนดังกล่าวถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้ ECB มองว่าเศรษฐกิจยุโรปจะชะลอตัวลงอย่างหนักในปีหน้า
- อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจระบุว่า สกุลเงินของเอเชียมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงอีกหนึ่งไตรมาส หลังธนาคารกลางสหรัฐ เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ทุนสำรอง FX จีนดิ่งแตะ 3.029 ล้านล้านดอลลาร์ในกันยายน เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่ทุนสำรอง FX ร่วงแตะ 1.24 ล้านล้านดอลล์ หลังแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงเงินเยน
- ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของญี่ปุ่นร่วงลงสู่ระดับ 1.24 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. จากระดับ 1.29 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี เพื่อยับยั้งการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินเยน
- กระทรวงการคลังเกาหลีใต้ระบุว่า จะเตรียมเครื่องมือต่าง ๆ ให้พร้อม เพื่อให้ทางการสามารถจัดหาสภาพคล่องด้านปริวรรตเงินตราให้กับสถาบันการเงินได้อย่างทันท่วงที เมื่อถึงคราวจำเป็น
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวสูงขึ้นและพยุงเงินวอนที่อ่อนค่า นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในขณะนี้
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างรุนแรงในวันศุกร์ หลังจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐในเดือนก.ย. ทำให้นักลงทุนวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากต่อไป และจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,296.79 จุด ร่วงลง 630.15 จุด หรือ -2.11%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,639.66 จุด ร่วงลง 104.86 จุด หรือ -2.80%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,652.40 จุด ร่วงลง 420.91 จุด หรือ -3.80%
- แม้ตลาดร่วงลงอย่างหนักในวันศุกร์ แต่ดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นได้เป็นสัปดาห์แรกหลังจากร่วงลง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.99%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 1.51% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 0.73%
- ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ส่งสัญญาณว่า ไอเอ็มเอฟจะปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสำหรับปีหน้าในสัปดาห์หน้า โดยระบุถึงความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดภาวะถดถอย และภาวะไร้เสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมืดมนขึ้น เมื่อดูจากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19, การบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย และภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทุกทวีป และนั่นอาจจะเลวร้ายลงอีก
- การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวจากผลกระทบของมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจจะบดบังแนวโน้มขาขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในวันข้างหน้า ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 5.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.7%
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า เกาหลีใต้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นมาตรวัดการค้าระหว่างประเทศที่ครอบคลุมที่สุดครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนส.ค. เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีหดตัวลงในเดือนส.ค. โดยถูกกดดันจากปัญหาติดขัดด้านอุปทานที่ยืดเยื้อ จากผลพวงของการบิดเบือนที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามในยูเครน
- ซีทริป (Ctrip) บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของจีนเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงหยุดวันชาติจีนที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 – 7 ต.ค. ซึ่งเรียกว่าเป็นสัปดาห์ทอง (Golden Week) แม้จะยังคงมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศก็ตาม
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ เนื่องจากตลาดยังคงขานรับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. พุ่งขึ้น 4.19 ดอลลาร์ หรือ 4.7% ปิดที่ 92.64 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2565 และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้น 16.5%
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 3.5 ดอลลาร์ หรือ 3.7% ปิดที่ 97.92 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2565 และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ พุ่งขึ้น 15%
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า การลดกำลังการผลิตน้ำมันจริงจะอยู่ที่ราว 1-1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสัดส่วนการลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดิอารเบียจะอยู่ที่ราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน
- โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์จะแตะระดับ 104 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 99 ดอลลาร์/บาร์เรล และคาดว่าราคาจะแตะ 110 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีหน้า จากเดิมที่ระดับ 108 ดอลลาร์/บาร์เรล พร้อมคาดว่าการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค 2 ล้านบาร์เรลทำให้น้ำมันมีสถานะเป็น “ขาขึ้น” อย่างมาก
- รองประธานอาวุโสจากไรสตัด เอ็นเนอร์จี ให้ความเห็นว่า "เราเชื่อว่ามาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค 2 ล้านบาร์เรลจะสร้างผลกระทบด้านราคาอย่างมีนัยสำคัญ” นอกจากนี้ ยังปรับเพิ่มประมาณการณ์ราคาน้ำมัน ระบุว่า “ภายในเดือนธ.ค.นี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะพุ่งสูงกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์เดิมที่ 89 ดอลลาร์"
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐออกโรงเตือนว่า ความเสี่ยงที่จะเกิด “วันโลกาวินาศ” จากมหันตภัยร้ายนิวเคลียร์นั้นอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาปี 2505 โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย “ไม่ได้ล้อเล่น” ตอนที่ขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี หลังตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในสงครามยูเครน
- กองทัพสหรัฐเปิดเผยว่า กองกำลังไม่ทราบชื่อได้ยิงจรวดใส่ที่ตั้งของกองทหารสหรัฐและกองกำลังพันธมิตรท้องถิ่นในซีเรีย แต่ล้มเหลวในการสร้างความเสียหายใด ๆ
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียได้ลงนามในกฤษฎีกาในวันศุกร์ที่ 7 ต.ค. เพื่อจัดตั้งบริษัทปฏิบัติการใหม่สำหรับดูแลโครงการน้ำมันและก๊าซซาคาลิน 1 (Sakhalin 1) โดยเป็นโครงการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลและบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงบริษัทอิโตชู คอร์ป และบริษัทมารูเบนิ คอร์ป ผ่านทางบริษัทซาคาลิน ออยล์ แอนด์ ก๊าซ ดีเวล็อปเมนต์ หรือ SODECO ของรัสเซีย
- รัฐมนตรีกระทรวงการค้าญี่ปุ่นเปิดเผยว่า โครงการน้ำมันและก๊าซซาคาลิน 1 (Sakhalin 1) ของรัสเซียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อญี่ปุ่นในการรับรองการจัดหาน้ำมันดิบที่หลากหลาย
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- ดร.แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐ (NIAID) และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ประกาศเตือนชาวอเมริกันว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าเดิมอาจจะปรากฏขึ้นในฤดูหนาวนี้
- คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ติดเชื้อในท้องถิ่นจำนวน 216 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในซื่อชวน 42 ราย และกว่างตง 41 ราย ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากรายงานระบุว่า จีนยังตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ติดเชื้อในท้องถิ่นแบบไม่แสดงอาการรวม 1,267 ราย และมีผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลหลังหายดีรวม 214 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยหายดีสะสมอยู่ที่ 243,954 ราย
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ37.60 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 37.37 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.20-37.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.50-37.75 บาทต่อดอลลาร์
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมผลักดันโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยกล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค. ทาง ททท.เตรียมผลักดันโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศออกมาเพิ่มเติม ในลักษณะเหมือนโปรไฟไหม้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการท่องเที่ยวของคนไทย
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2565 พบว่า ในภาพรวมระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ และอาจกระทบคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงต้องติดตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews