ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร โดยได้แรงหนุนจากการที่ดอลลาร์ชะลอการแข็งค่า ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -1.86 เหรียญ หรือ -0.11% อยู่ที่ระดับ 1,665.88 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 10.8 ดอลลาร์ หรือ 0.64% ปิดที่ 1,686 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 12.8 เซนต์ หรือ 0.65% ปิดที่ 19.487 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 944.31 ตันภาพรวมเดือนตุลาคม ซื้อสุทธิ 4.61 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 31.35 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก City Index ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีกำลังอยู่บริเวณแนวจิตวิทยา (ระดับผลตอบแทน 4%) ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และกดดันราคาทองคำ
- ผู้อำนวยการของ SPI Asset Management ระบุว่า หากเศรษฐกิจสหัรัฐที่เคยแข็งแกร่งเริ่มอ่อนตัวลง ทองคำจะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง แต่จำเป็นต้องมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าเฟดจะเปลี่ยนนโยบายมาในทิศทางผ่อนคลาย
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.23 จุด หรือ 0.2% มาอยู่ที่ระดับ 113.31 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 3.951% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 4.312% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.36% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นางลาเอล เบรนาร์ด รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดมีความชัดเจนเกี่ยวกับความจำเป็นสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินเชิงจำกัดเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง แต่แนวทางและอัตราการขึ้นดอกเบี้ยจะยังคงขึ้นอยู่กับข้อมูล ขณะที่เฟดกำลังจับตาเศรษฐกิจและการพัฒนาการของความเสี่ยงในประเทศและทั่วโลก
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ตัดสินใจขยายขอบข่ายการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินรายวันให้ครอบคลุมถึงพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษที่มีความเชื่อมโยงกับดัชนี (index-linked gilts) โดยการขยายขอบข่ายการซื้อพันธบัตรดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. ไปจนถึงวันที่ 14 ต.ค. ควบคู่ไปกับการประมูลซื้อพันธบัตรรัฐบาลรายวันที่ BoE ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายที่จะลดความผันผวนในตลาดพันธบัตร ทั้งนี้ พันธบัตรที่มีความเชื่อมโยงกับดัชนีหมายถึงพันธบัตรที่จ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือครองพันธบัตรโดยอิงกับดัชนีราคาค้าปลีกของอังกฤษ
- รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะใช้มาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็น หากความผันผวนของเงินเยนทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยขณะนี้เงินเยนอ่อนค่าลงใกล้แตะระดับเดียวกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดเมื่อเดือนที่แล้ว
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันอังคาร ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ส่งสัญญาณยุติการพยุงตลาดพันธบัตร
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,239.19 จุด เพิ่มขึ้น 36.31 จุด หรือ +0.12%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,588.84 จุด ลดลง 23.55 จุด หรือ -0.65%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,426.19 จุด ลดลง 115.91 จุด หรือ -1.10%
- นายเดวิด มาลพาส ประธานธนาคารโลก และนางคริสตาลินา จอร์จิเอวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนถึงความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่เงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องหลังจากรัสเซียบุกโจมตียูเครน นอกจากนี้พวกเขาเรียกร้องให้มีการดำเนินการร่วมกันเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
- นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส เตือน เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ นอกจากนี้ เขายังระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงดูดีในขณะนี้ และผู้บริโภคยังคงมีสถานะที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับในปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกแต่การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ, การดีดตัวของอัตราดอกเบี้ย และการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 6-9 เดือนต่อจากนี้ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปได้ถดถอยแล้ว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า อัตราว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.5% ในเดือนมิ.ย.-ส.ค. จากระดับ 3.8% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านั้น ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของอังกฤษยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออสเตรเลียเปิดเผยว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายในขณะนี้ โดยถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นก่อนการประกาศงบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผย ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับเดือนส.ค. โดยราคาพลังงานนำเข้าที่พุ่งขึ้นมากแซงหน้าราคาสินค้าส่งออก จึงทำให้ยอดเกินดุลลดลง โดยที่ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 5.89 หมื่นล้านเยน(404.45 ล้านดอลลาร์) ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 1.218 แสนล้านเยน และเมื่อปรับตามฤดูกาล ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5.305 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบล.ยูบีเอส ให้ความเห็นเกี่ยวกับดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นว่า "สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้คือการเปลี่ยนรายได้จากกลุ่มประเทศผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างญี่ปุ่นมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ผมคิดว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะหดตัวลง เนื่องจากยังมียอดขาดดุลการค้าต่อไป ซึ่งจะบั่นทอนกำลังซื้อของญี่ปุ่นและทำให้ญี่ปุ่นจนลง"
- ผู้นำญี่ปุ่นส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยระบุว่า BOJ ควรคงนโยบายการเงินในปัจจุบันไว้จนกว่าค่าจ้างจะปรับตัวขึ้น
- สำนักงานศุลกากรของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า การส่งออกของเกาหลีใต้ในช่วง 10 วันแรกของเดือนต.ค. หดตัวลง 20.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากยอดขายชิปในต่างประเทศที่ซบเซา
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 1.78 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 89.35 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.9 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 94.29 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐที่แข็งแกร่งหนุนเฟดอาจตัดสินใจการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อีกครั้งฝยการประชุมครั้งถัดไป ทำให้เกิดความเสี่ยงขาลงต่ออุปสงค์น้ำมัน
- SPI Asset Management ระบุว่า สิ่งที่สำคัญต่อตลาดน้ำมันคือ กลุ่มโอเปคพลัสส่งสัญญาณตลาดน้ำมันขาขึ้น โดยการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในระยะสั้นและพยายามพยุงราคาน้ำมันหรืออาจจะผลักดันราคาน้ำมันสูงขึ้น แม้จะทราบดีว่า ภาพในระยะกลาง การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมัน จะสูงเหนือกว่าการเติบโตของอุปทาน ในช่วงที่เหลือของปีนี้
- นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนายวอลลี อาเดเยโม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ มีแผนการที่จะใช้เวทีการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในสัปดาห์นี้ เพื่อผลักดันการใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันนำเข้าจากรัสเซีย แม้ว่าการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัส มีมติปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นก็ตาม
- เจพีมอร์แกน เชส ระบุว่า สหรัฐควรผลิตน้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์พลังงานทั่วโลก โดยระบุว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่ต่างจากความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติที่เกิดจากวิกฤตพลังงานในช่วงสงคราม
- คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า จีนจะตรึงราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลภายในประเทศไว้คงที่ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ผู้อำนวยการกองบัญชาการสื่อสารของรัฐบาล (GCHQ) ของสหราชอาณาจักรระบุว่า จีนกำลังใช้อำนาจทางการเงินและวิทยาศาสตร์ในการชักใยเทคโนโลยีในลักษณะที่สร้างความเสี่ยงต่อปลอดภัยของโลก พร้อมเตือนว่า การกระทำของจีนอาจเป็น “ภัยร้ายต่อเราทุกคน”
- นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะแจ้งต่อผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ให้ยืนหยัดสนับสนุนยูเครน รวมถึงเรียกร้องให้มีการประชุมผู้นำนาโต (NATO) อย่างเร่งด่วน หลังจากที่รัสเซียเพิ่มระดับการโจมตีเมืองต่าง ๆ ของยูเครน
- G7 จัดการประชุมฉุกเฉินเมื่อวานนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียซึ่งมุ่งเป้าไปยังพลเรือนในเมืองต่าง ๆ ทั่วยูเครน โดยเหล่าผู้นำกลุ่ม G7 หารือเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงหนทางเพื่อกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย โดยประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเข้าร่วมในการประชุมผู้นำ G7 ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- ทางการจีนได้เพิ่มการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้และเมืองใหญ่อื่น ๆ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งขยายเวลาการกักตัว และปิดพื้นที่สาธารณะบางแห่งที่ไวรัสอาจแพร่ระบาด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า เซี่ยงไฮ้ซึ่งมีประชากร 25 ล้านคน รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่จำนวน 28 รายในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นวันที่ 4 ที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลัก ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ทั่วประเทศอยู่ที่ 2,089 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ ที่ระดับ 38.15 บาทต่อดอลลาร์”อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.10 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 38.00-38.30 บาทต่อดอลลาร์
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ที่ 3.9% สูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% จากแรงกดดันด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้จะทยอยลดลงตามราคาในตลาดโลก แต่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม กนง.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดในไตรมาส 3/65 และมีแนวโน้มทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาส 4/65 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมาย ตั้งแต่ช่วงกลางปี 66
- รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews