ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (14 พ.ย.) หลังจากนางลาเอล เบรนาร์ด รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 5.9 เหรียญ หรือ 0.33% อยู่ที่ระดับ 1,769.5 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 7.5 ดอลลาร์ หรือ 0.42% ปิดที่ 1,776.9 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 44.6 เซนต์ หรือ 2.06% ปิดที่ 22.113 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 0.29 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 910.41 ตันภาพรวมเดือนพฤศจิกายน ขายสุทธิ 10.16 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 65.25 ตัน
- นักวิเคราะห์จาก UBS คาดการณ์ว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงจากช่วงเวลานี้ไปถึงช่วงสิ้นปีนี้ จากการที่เจ้าหน้าที่เฟดทยอยให้ความเห็นย้ำว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อควบคุมเงินให้อยู่ และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลงในช่วงเวลาหนึ่งไม่ใช่จุดที่เฟดจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน ซึ่งสิ่งนี้ หากเกิดขึ้นเป็นรูธรรม จะเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์แต่เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ นอกจากนี้ เราคาดว่าโลหะมีค่าอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในทางลบเช่นกัน
- ผู้จัดการบริษัท SPI Asset Management ระบุวา การที่ราคาทองคำปรับตัวลงเล็กน้อย(ในช่วงก่อนหน้า) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ออกมาชี้ว่า ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง เป็นเพียงตัวเลขสำหรับช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อจะถูกควบคุมแล้ว
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.54 จุด หรือ 0.51% มาอยู่ที่ระดับ 106.95 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 3.869% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 4.399% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.53% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- รองผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นางลาเอล เบรนาร์ด ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า เฟดอาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ ซึ่งเธอมองว่าเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม
- นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดอาจพิจารณาการชะลออัตราการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป แต่นั่นก็ไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นการ "ผ่อนปรน" ความตั้งใจในการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
- โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 7.7% ในเดือนต.ค.ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก และแม้ว่าเฟดปรับลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มาเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งต่อไป แต่คุณก็ยังจะขึ้นดอกเบี้ยอยู่
- ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจจะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปเพื่อหนุนเศรษฐกิจในขณะนี้ และเพื่อทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพที่มีการขึ้นค่าจ้างในอนาคต
- พร้อมระบุว่า ญี่ปุ่นยังฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพียงแค่ครึ่งทาง โดยช่องว่างผลผลิต(GDP Gap)ก็ยังคงติดลบ ซึ่งต่างจากสหรัฐและยุโรป ซึ่งกำลังคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
- และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะเร่งตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3% ในปีงบประมาณนี้ แต่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.5% ในปีหน้า เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกร่วงลง ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนจากต้นทุนสินค้านำเข้าลดลง
- ธนาคารกลาง 5 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค
- โดยในรายละเอียดคือ ระบบการเชื่อมต่อในภูมิภาคนี้จะใช้คิวอาร์โค้ด (QR code) และจะมีการชำระบัญชีโดยใช้สกุลเงินในประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแปลงสกุลเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เขากล่าวว่า อินโดนีเซียกับไทยได้เชื่อมต่อระบบการชำระเงินโดยใช้คิวอาร์โค้ดเข้าด้วยกันแล้วในปีนี้ และอินโดนีเซียจะเชื่อมต่อระบบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มในเร็ว ๆ นี้ โดยข้อตกลงนี้ครอบคลุมการเชื่อมต่อระบบการชำระเงินสำหรับผู้ใช้รายย่อย
- นอกจากนี้ มีการวางแผนที่จะยกระดับการเชื่อมต่อนี้ให้ครอบคลุมไปถึงระดับสถาบันการเงิน และสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ด้วย
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดในวันจันทร์ (14 พ.ย.) โดยหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มการเงินดิ่งลงนำตลาด ขณะที่นักลงทุนประเมินการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกี่ยวกับแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,536.70 จุด ลดลง 211.16 จุด หรือ -0.63%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,957.25 จุด ลดลง 35.68 จุด หรือ -0.89% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,196.22 จุด ลดลง 127.11 จุด หรือ -1.12%
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซามากกว่าที่ IMF คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พร้อมระบุปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ได้แก่ ธนาคารทั่วโลกใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเป็นวงกว้าง รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน, ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และความไม่มั่นคงด้านอาหาร อันมีสาเหตุมาจากการที่รัสเซียส่งทหารเข้าทำสงครามในยูเครน
- นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษและยูโรโซนมีแนวโน้มถดถอยในปีหน้า แต่สหรัฐอาจสามารถรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้แบบเฉียดฉิว โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ความเป็นไปได้ที่จีนจะเปิดเมือง หลังควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเกือบ 3 ปีนั้น มีแนวโน้มที่จะหนุนให้เศรษฐกิจจีนและตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในเอเชียฟื้นตัว
- นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่า ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือใกล้ถดถอยในปีหน้า สวนทางกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวพอสมควร แต่ระบุด้วยว่า ยังยากที่จะประเมินเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัว 5% ในปี 2566 เทียบกับการเติบโตเฉลี่ยที่ 3.7% สำหรับตลาดเกิดใหม่ ในขณะที่ประเทศกลุ่ม G10 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 0.3%
- ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีน (NMC) ประกาศแจ้งเตือนภัยแล้งระดับสีเหลือง เนื่องจากหลายภูมิภาคในประเทศยังคงเผชิญภาวะปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ซึ่งบางพื้นที่ของหูหนาน กุ้ยโจว ฉงชิ่ง เจียงซี หูเป่ย และ กว่างซี ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งขั้นรุนแรงแล้วในปัจจุบัน
- จีนออกคู่มือที่เสนอแนะแนวทางทั้งหมด 16 ข้อ เพื่อใช้ในการกอบกู้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงให้กับเจ้าหน้าที่การเงินทั่วประเทศ โดยนายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) แสดงความคาดหวังว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจะสามารถก้าวผ่านมรสุมไปได้อย่างราบรื่น หลังข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์เริ่มมีทิศทางดีขึ้นเล็กน้อย
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันจันทร์ (14 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าจีนจะใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 3.09 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 85.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 2.85 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 93.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นักวิเคราะห์จาก CMC Markets กล่าวถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นในช่วงก่อนหน้า หลังการประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายโควิดของจีน ว่า ตลาดมองเชิงบวกมากเกินไป ทั้งนี้ เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายได้เร็วมากขึ้นในฤดูหนาว และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทางการจีนไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบาย ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่านโยบายมีผลบังคับใช้ และการเปิดประเทศเต็มรูปแบบของจีน อาจจะต้องเลื่อนไปในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ซึ่งหมายความว่า การฟื้นตัวของราคาทองคำยังคงไม่มีเสถียรภาพนัก
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ประกาศห้ามพลเมืองสหรัฐเดินทางเข้ารัสเซียเพิ่มอีก 200 คน เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสหรัฐ
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ประชุมทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
- โดยประธานาธิบดีสีกล่าวต่อประธานาธิบดีไบเดนในการประชุมว่า ประเด็นไต้หวันถือเป็นแกนหลักของผลประโยชน์หลักของจีน และเป็น "เส้นแดงเส้นแรก" ของความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งสหรัฐจะก้าวข้ามมิได้ โดยที่ประธานาธิบดีสีเรียกร้องให้ยประธานาธิบดีไบเดนนำเอาคำมั่นสัญญาของสหรัฐที่มีต่อจีนมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
- โดยที่ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า สหรัฐยังคงยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจุดยืนต่อไต้หวัน
- กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐและจีนจะหารือกันเพื่อเตรียมการเดินทางเยือนจีนของนายบลิงเกน โดยอาจมีขึ้นในช่วงต้นปี 2566
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สำนักงานด้านสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) เปิดเผยว่า จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 13 พ.ย.จำนวน 16,203 ราย เพิ่มขึ้นจากระดับ 14,878 รายของวันเสาร์ที่ 12 พ.ย. ขณะที่ผู้ติดเชื้อในกรุงปักกิ่งและอีกหลายเมืองพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.
- ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ให้เฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ “เดลตาครอน XBC” หรือลูกผสมระหว่างโควิดสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน BA.2 โดยพบการระบาดในประเทศฟิลิปปินส์มากกว่า 193 ราย และกลายพันธุ์ไปมากกว่า XBB และ BQ.1
- นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โรคโควิด-19 มีแนวโน้มพบเพิ่มสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเข้าสู่โรคตามฤดูกาล โดยการระบาดของโรคสำหรับประเทศไทยจะพบมากในฤดูฝน และช่วงปลายปีจนถึงต้นปีอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับการระบาดในสมัยไข้หวัดใหญ่ 2009
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.60-36.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.02 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.70-37.52 บาท/ดอลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 4% และแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยืนยันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่เกิดการสะดุด พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดได้ในปลายปี 65 หรือต้นปี 66
- คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เตรียมเสนอ 3 ทางเลือก ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวด ม.ค. - เม.ย. 2566 โดย 3 ทางเลือกข้างต้นจะส่งให้ผลค่าไฟฟ้าอยู่ในช่วงระหว่าง 5.37-6.03 บาทต่อหน่วย โดยมีปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและ ค่าเอฟทีเรียกเก็บตลอดปี 2566 ดังนี้
- 1. ความไม่แน่นอนของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและแนวโน้มที่จะสามารถจ่ายก๊าซจากแหล่ง เอราวัณเข้าสู่ระดับปกติหรือใกล้เคียงปกติเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการนำเข้า LNG มาทดแทน
- 2. การลดลงของแหล่งก๊าซธรรมชาติทางตะวันตก (ในเมียนมา) โดยอาจจะต้องนำก๊าซธรรมชาติ เหลวหรือ LNG เข้ามาทดแทนในปริมาณมากขึ้น
- 3. สภาวะราคา LNG ในตลาดโลกมีการแกว่งตัวในระดับที่สูงถึงสูงมากเนื่องจากอุปสงค์ (Demand) ของ LNG ในตลาดโลกยังคงมีมากกว่าอุปทาน (Supply) และตลาดอาจจะมีลักษณะดังกล่าว ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2566
- 4. อัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์)
- 5. การใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติสามารถลดการนำเข้า LNG ได้แต่การใช้น้ำมันยังคงมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในระดับสูงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
- 6. ข้อจำกัดด้านสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของ กฟผ.
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตือนภาคการผลิตรับมือกับต้นทุนด้านราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงในปีหน้า ซึ่งวิกฤติพลังงานสร้างความกังวลต่อต้นทุนการผลิตในปี 2566
- นอกจากนี้ ระบุว่า “สำหรับการคาดการณ์ในปีหน้า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ส.อ.ท. ตั้งสมมติฐานไว้ว่าภาคการส่งออกจะหดตัวอย่างรุนแรง จึงอยากให้ภาคอุตสาหกรรมทุกส่วนเตรียมความพร้อมในความเป็นไปได้นี้ และมองการอยู่รอดในกรณีที่ต้องพึ่งพาแต่ตลาดในประเทศ โดยเตรียมตัวทั้งฝ่ายขายในการรักษาฐานลูกค้าเดิม การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งการแสวงหาโมเดลธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศและโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี”
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทองคำ, ทองคำ, ราคาทองคำ