ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 8.45 เหรียญ หรือ 0.49% อยู่ที่ระดับ 1,749.68 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 8.4 เหรียญ หรือ 0.48% ปิดที่ 1,763.7 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 31.1 เซนต์ หรือ 1.47% ปิดที่ 21.436 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 9.3 เหรียญ หรือ 0.93% ปิดที่ 1,008.60 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 908.09 ตันภาพรวมเดือนพฤศจิกายน ขายสุทธิ 12.48 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 67.57 ตัน
- นักกลยุทธ์จาก DailyFX ระบุว่า ถ้าหากประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวถ้อนแถลงในวันพุธนี้ในทิศทางที่ไม่เพิ่มความเข้มงวดนโยบายการเงินไปมากกว่าเดิม ราคาทองคำจะสามารถปรับตัวฟื้นขึ้นได้
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.15 จุด หรือ 0.14% มาอยู่ที่ระดับ 106.72 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.07 % มาอยู่ที่ระดับ 3.748% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.477% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.73% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- ดัชนี Bloomberg Global Aggregate Bond sub-Indexes ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกได้เกิดภาวะ inverted yield curve เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว
- นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวหนุนเฟดจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก และหลังจากนั้นเฟดก็จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงตลอดทั้งปีหน้าและจนถึงปี 2024
- นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ค กล่าว เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่ก็ไม่ได้ระบุว่า เฟดจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปสูงแค่ไหน หรือนานแค่ไหน แม้ว่าเขาจะพิจารณาว่า การลดดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้ในปี 2024 ก็ตาม เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจจะลดลง
- นายโทมัส บาร์กิ้น ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ กล่าวสนับสนุนการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นน้อยลงในการต่อสู้ของเฟดเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไปลดลง
- นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังไม่ได้แตะจุดสูงสุด และมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจจะพุ่งขึ้นสู่ระดับที่สูงเกินกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในปัจจุบัน
- สกุลเงินของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอาจปรับตัวขึ้นรายเดือนแข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่า 6 ปี โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยดัชนี Bloomberg JPMorgan Asia Dollar Index ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ในเอเชีย พุ่งขึ้น 2.7% ในเดือนพ.ย. และมีแนวโน้มที่จะทำสถิติรายเดือนที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2559 โดยเงินวอนของเกาหลีใต้ทำผลงานได้ดีที่สุดด้วยการพุ่งขึ้น 7% ตามด้วยเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น 6.8%
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันอังคาร ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นแอปเปิ้ลและหุ้นแอมะซอน ขณะที่นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,852.53 จุด เพิ่มขึ้น 3.07 จุด หรือ + 0.01%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,957.63 จุด ลดลง 6.31 จุด หรือ -0.16%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,983.78 จุด ลดลง 65.72 จุด หรือ -0.59%
- นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอาจอยู่ที่ 10.4% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบรายปี หลังจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่งทะยานขึ้นแตะสถิติสูงสุดที่ 10.6% ในเดือนต.ค.
- นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนได้กลับมาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศอีกครั้ง โดยล่าสุดมีบริษัทรถยนต์รายใหญ่ “ยามาฮ่า-ฮอนด้า-โตโยต้า” ประกาศระงับการผลิต เนื่องจากรัฐบาลจีนใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมโรคโควิด-19
- นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้สั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการคลัง เพิ่มการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติขึ้นเป็น 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปีงบประมาณ 2570 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร ขานรับความหวังที่ว่าจีนจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และจะกลับมาเปิดประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ดี ความกังวลที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร (โอเปกพลัส) จะคงนโยบายการผลิตในการประชุมวันอาทิตย์นี้ ได้สกัดแรงบวกของสัญญาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 96 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 78.20 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 16 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 83.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นักลงทุนกำลังติดตามมติการปรับกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคพลัส ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้
- นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group ระบุว่า อุปสงค์ที่อ่อนแอของจีน อาจส่งผลให้กลุ่มโอเปคพลัสปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน
- ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอาจปรับลดราคาน้ำมันดิบสำหรับส่งออกไปยังตลาดเอเชียในเดือนม.ค. หลังจากการซื้อขายในตลาดสปอตของตะวันออกกลางซบเซาลงจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวในจีนและปริมาณน้ำมันดิบรัสเซียที่เพิ่มสูงขึ้นในเอเชียหลังวันที่ 5 ธ.ค.
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ตำรวจจีนระดมกำลังออกลาดตระเวนในกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อป้องกันการชุมนุมประท้วงต่อต้านมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสร้างความยากลำบากให้กับการใช้ชีวิตของประชาชนจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลาออกจากตำแหน่ง
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 38,645 รายในวันจันทร์ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ 3,624 ราย และไม่แสดงอาการ 35,021 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันจันทร์ลดลงจากระดับ 40,347 รายในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ จีนไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงอยู่ที่ระดับ 5,233 ราย และนับจนถึงวันที่ 28 พ.ย. จีนยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการจำนวนทั้งสิ้น 315,248 ราย
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย" จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.42 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.30-35.60 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า การกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาท (หลุดโซนรับแรกที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์) นั้นมาจากประเด็นความหวังของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า ทางการจีนจะสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ได้เร็วกว่าคาด แม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น และราคาทองคำย่อตัวลงก็ตาม
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเก็บภาษีหุ้น 0.1% หลังเว้นใช้กฎหมายมานานกว่า 30 ปี เบื้องต้นคาดว่าการจัดเก็บรายได้ส่วนนี้จะทำให้ภาครัฐได้รายได้เพิ่มขึ้น 1 - 2 หมื่นล้านบาทต่อปี
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทองคำ, ทองคำ, ราคาทองคำ