ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ จากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และผลตอบแทนอัตราพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับพุ่งขึ้น
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -9.55 เหรียญ หรือ -0.53% อยู่ที่ระดับ 1,804.15 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 7.3 เหรียญ หรือ 0.4% ปิดที่ 1,815.8 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 37.7 เซนต์ หรือ 1.56% ปิดที่ 23.84 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 12.5 เหรียญ หรือ 1.21% ปิดที่ 1,020.2 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 918.51 ตันภาพรวมเดือนธันวาคม ซื้อสุทธิ 10.42 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 57.15 ตัน
- นักยุทธศาสตร์ของบริษัท RJO Futures ระบุว่า "ราคาทองได้รับแรงหนุนจากการตัดสินใจของจีนในการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิดลงไปอีก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการซื้อทองในจีนพุ่งสูงขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.05 จุด หรือ 0.05% มาอยู่ที่ระดับ 104.37 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 3.883% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 4.353% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.47% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- รายงานประชุมธนาคากลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ชี้ผู้กำหนดนโยบายของบีโอเจให้ความสนใจประเด็นเงินเฟ้อและค่าแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การที่เจ้าหน้าที่บีโอเจให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นต่อแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนี้ จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้นักลงทุนคาดการณ์กันต่อไปว่า บีโอเจอาจจะทยอยปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่
- ราคาพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวลงท่ามกลางวอลุ่มการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่จีนตัดสินใจเปิดประเทศทั้งขาเข้าและขาออกนั้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดในวันพุธ โดยตลาดถูกกดดันจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย, ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในจีน และสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อไปจนถึงปี 2566
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,875.71 จุด ร่วงลง 365.85 จุด หรือ -1.10%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,783.22 จุด ลดลง 46.03 จุด หรือ -1.20% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,213.29 จุด ลดลง 139.94 จุด หรือ -1.35%
- ผลสำรวจภาคธุรกิจโดยรอยเตอร์ คาดเศรษฐกิจเยอรมนีจะถดถอยเพียงเล็กน้อยในปีหน้า ถึงแม้เยอรมนีเผชิญกับปัญหารัสเซียปรับลดการส่งออกพลังงาน
- สมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมนี (DIHK) ระบุว่า มีสัญญาณหลายประการที่บ่งชี้ว่า ปัญหาการขาดตอนในห่วงโซ่อุปทานบรรเทาลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ผลสำรวจจากสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน เผยว่า บริษัท หอการค้า และสมาคมต่างชาติกว่า 160 แห่ง พบว่า 91% สนับสนุนการปรับปรุงความเหมาะสมของการรับมือโรคโควิด-19 ของจีนเป็นอย่างมาก โดยบริษัทต่างชาติที่เข้าร่วมการสำรวจกว่า 99% มีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2566 ขณะที่มีบริษัทต่างชาติจำนวนมากถึง 98.7% ที่ระบุว่าจะยังคงรักษาและขยายการลงทุนในจีน
- เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายจีนให้ความสำคัญกับขนาดของตลาดและความสามารถด้านการผลิตของประเทศ เพื่อรักษานักลงทุนต่างชาติเอาไว้ แต่นักลงทุนจำนวนมากเริ่มมองหาทางเลือกอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออินเดียแทนแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าและยกเลิกบังคับใช้มาตรการสกัดโควิด-19 ไปแล้ว
- ราคาบ้านเอกชนในฮ่องกงปรับตัวลง 3.3% ในเดือนพ.ย. สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 ขณะที่ตลาดบ้านของฮ่องกงซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่มีราคาบ้านสูงที่สุดในโลกนั้น มีแนวโน้มปรับตัวลงเมื่อเทียบรายปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย.ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากอุปสงค์ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรอ่อนแอลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย. ลดลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งลดลงน้อยกว่าที่ค่ากลางที่ตลาดคาดการณ์ว่าอาจจะลดลง 0.3%
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ (BSI) ในทุกอุตสาหกรรมลดลง 1 จุดจากเดือนพ.ย. แตะที่ระดับ 74 ในเดือนธ.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นยังคงปรับตัวลงนับตั้งแต่เดือนก.ย. จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในจีนจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 57 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 78.96 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 1.07 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 83.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
- รองประธานบริษัท Rystad Energy ชี้ว่า การผ่อนคลายนโยบายควบคุมโควิดของจีนจะส่งผลกระทบด้านบวกต่ออุปสงค์น้ำมันในระยะสั้น โดยเฉพาะในการบินระหว่างประเทศ แต่การที่อุปสงค์ในประเทศจีนจะกลับมาฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 2 เดือนเป็นอย่างน้อย
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- สำนักงานฝ่ายบริหารจัดการของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (CAO) สั่งห้ามใช้งานติ๊กต๊อก (TikTok) ซึ่งเป็นแอปฯวิดีโอสั้นชื่อดังของจีน โดยคำสั่งดังกล่าวครอบคลุมถึงการห้ามใช้งานบนอุปกรณ์ทั้งหมดภายในองค์กร ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลสหรัฐจะบังคับให้ทุกหน่วยงานแบนการใช้ติ๊กต๊อกบนอุปกรณ์ของรัฐในไม่ช้านี้
- ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน กล่าวชื่นชมญี่ปุ่นที่ตัดสินใจเสริมศักยภาพด้านกลาโหม เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามทางทหารจากจีนที่มีต่อไต้หวัน
- นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือได้เปิดเผยเป้าหมายใหม่ของกองทัพประจำปี 2566 ในการประชุมสำคัญของพรรคแรงงานที่กำลังดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ บอกใบ้ถึงปีแห่งการทดสอบอาวุธอย่างเข้มข้นและความตึงเครียดอีกปี
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- โรงพยาบาลในจีนตกอยู่ในสภาวะกดดันอย่างหนัก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบกับภาคสาธารณสุขของประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่ชาติสุดท้ายที่เปลี่ยนผ่านไปสู่การรับมือโควิด-19 ในฐานะโรคประจำถิ่น
- สหรัฐกำลังพิจารณาออกมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากจีน หลังการยกเลิกการบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ในจีนเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผย ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.80 บาท/ดอลลาร์
- นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ธ.กรุงไทย กล่าวว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหว Sideways โดยอาจพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่าบ้าง ตามความหวังการเปิดประเทศจีน ซึ่งอาจสะท้อนผ่านแรงซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ
- อย่างไรก็ตาม เงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าหลุดแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกลมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอจังหวะซื้อเงินดอลลาร์เช่นกันหากเงินบาทแข็งค่าขึ้น
- นอกจากนั้นการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ทั่วโลก โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ระยะยาว ก็อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติ ทยอยขายทำกำไรการถือบอนด์ระยะยาวของไทยได้เช่นกัน
- ธปท. จะมีการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46%ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี ตามที่ได้ปรับลดไป 0.4% ในช่วงก่อนหน้า
- รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ทางการจีนได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด19 โดยจะมีผลในช่วงเดือนม.ค. 66 เป็นต้นไป ภาคการท่องเที่ยวของไทย มีความตื่นตัวอย่างมาก ส่วนสายการบิน หน่วยงานที่ดูแลด้านท่าอากาศยานและการบิน ก็อยู่ระหว่างการปรับประมาณการเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสาร ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้คาดการณ์ว่านโยบายของจีนครั้งนี้ จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 จากเดิมที่ประมาณการไว้ 20 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 25 ล้านคน
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 3.5% สวนทางกับเศรษฐกิจโลก ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าจะชะลอลงเหลือ 2.7% ต่ำสุดในรอบ 21 ปี (ไม่รวมปีที่เกิดวิกฤต) โดยไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาค ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ด้วยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาไทยมากกว่า 20 ล้านคน รวมถึงแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร และการจ้างงานในภาคบริการที่ฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง