• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

    13 กุมภาพันธ์ 2566 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ โดยราคาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 4.0 เหรียญ หรือ 0.21% อยู่ที่ระดับ 1,865.4 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 4 ดอลลาร์ หรือ 0.21% ปิดที่ 1,874.5 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวลง 0.1% ในรอบสัปดาห์นี้
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 6.8 เซนต์ หรือ 0.31% ปิดที่ 22.075 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 12.4 ดอลลาร์ หรือ 1.29% ปิดที่ 951.8 ดอลลาร์/ออนซ์
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 920.79 ตันภาพรวมเดือนมกราคม ขายสุทธิ 0.59 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 3.15 ตัน


  • หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาดของ Blue Line Futures ระบุว่า ขณะนี้ตลาดทองคำพยายามจับตาดูความคิดเห็นต่างๆของบรรดาสมาชิกเฟด เพื่อคาดการณ์ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต


  • หัวหน้ามหภาคระดับโลกของ Tastylive กล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ช่วยสนับสนุนความคาดหวังที่ว่าเฟดจะสิ้นสุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 5% ขณะเดียวกันก็คาดการณ์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ทำให้ราคาทองคำลดลงด้วย


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.32 จุด หรือ 0.31% มาอยู่ที่ระดับ 103.58 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.09 % มาอยู่ที่ระดับ 3.745% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 4.517% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.77% อยู่ในภาวะ inverted yield curve


  • แถลงการณ์ของเฟด ระบุว่า การทดสอบ Stress Test ในปีนี้ จะครอบคลุมถึงการทดสอบว่าธนาคารรายใหญ่ที่สุด 8 แห่งของสหรัฐจะสามารถรับมือกับการทรุดตัวลงอย่างหนักของตลาดได้หรือไม่ ซึ่งการทดสอบในหัวข้อนี้จะไม่มีผลกระทบต่อข้อกำหนดในการตั้งสำรองเงินทุน แต่จะเป็นการทดสอบว่าธนาคารเหล่านี้สามารถต้านทานวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่ นอกจากนี้ หัวข้อดังกล่าวจะช่วยให้เฟดสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะตั้งสมมติฐานที่หลากหลายด้านในการทดสอบ Stress Test ในช่วงหลายปีข้างหน้าหรือไม่


  • นายโธมัส บาร์คิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์กล่าวว่า นโยบายการเงินแบบตึงตัวทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง "อย่างไม่มีข้อสงสัย" และเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป "ได้อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น" ทั้งนี้ เขากล่าวว่า "ผมมีความเชื่อมั่นว่า เท้าของเรากำลังเหยียบเบรคอยู่อย่างไม่มีข้อสงสัย" และเขากล่าวเสริมว่า "เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลที่เฟดจะปรับนโยบายการเงินอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น" ในขณะที่เฟดศึกษาผลกระทบที่เศรษฐกิจได้รับจากนโยบายการเงิน และดูว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงชะลอตัวลงต่อไปหรือไม่


  • นายโจอาคิม นาเจล สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และประธานธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) กล่าวว่า อีซีบีต้องดำเนินการเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงเกินเป้าหมาย 2% ไปมาก ซึ่งเป็นการตอกย้ำข้อเรียกร้องของเขาที่ต้องการให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก


  • นักลงทุนทั่วโลกกำลังลดสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลจีน ซึ่งเคยให้ผลตอบแทนที่มั่นคงอย่างต่อเนื่องในช่วงโรคระบาด ขณะที่พวกเขากำลังเตรียมตัวรับการคุมเข้มนโยบายการเงินบ้างในจีน และกำลังจับตาตลาดหุ้นที่น่าสนใจมากขึ้นของจีนหลังเปิดประเทศ


  • นายมาซาโยชิ อามามิยะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในวันนี้ว่า เขามองไม่เห็นความจำเป็นในช่วงนี้ในการปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) อีกครั้ง และเขากล่าวเสริมว่า เขาตระหนักดีถึงข้อเสียของ YCC อย่างเช่น การทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ซึ่งเป็นผลจากการที่บีโอเจเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) จำนวนมากเพื่อปกป้องเพดาน JGB อายุ 10 ปีที่ระดับ 0.5%


  • ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียยังคงอยู่ในระดับสูง และบ่งชี้ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก หลังจาก RBA ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ไปเมื่อวันอังคาร (7 ก.พ.) ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 3.35%

ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้น แต่ดัชนี Nasdaq ปิดลบจากความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น หลังจากบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประสานเสียงเตือนว่า เฟดยังจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,869.27 จุด เพิ่มขึ้น 169.39 จุด หรือ +0.50%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,090.46 จุด เพิ่มขึ้น 8.96 จุด หรือ +0.22%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,718.12 จุด ลดลง 71.46 จุด หรือ -0.61%


  • เจเนอรัล มอเตอร์ส (GM) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ และโกลบอลฟาวน์ดรีส์ บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ได้ลงนามข้อตกลงระยะยาวร่วมกัน โดยโกลบอลฟาวน์ดรีส์จะสร้างกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่โรงงานในตอนเหนือของรัฐนิวยอร์กแก่ซัพพลายเออร์หลัก ๆ ของเจเนอรัล มอเตอร์สโดยเฉพาะ


  • ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน (CPI) ปรับตัวขึ้น 2.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าในเดือนธ.ค.ที่ปรับตัวขึ้น 1.8% แต่ตัวเลขดังกล่าวออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.2% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นไปอย่างจำกัด แม้ว่ารัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI เดือนม.ค.ของจีนปรับตัวขึ้น 0.8% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ และดีดตัวขึ้นอย่างมากจากเดือนธ.ค.ที่ไม่มีการขยายตัวเมื่อเทียบรายเดือน


  • ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน (PPI) ปรับตัวลง 0.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าในเดือนธ.ค.ที่ลดลง 0.7% และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจลดลง 0.5%


  • ดัชนีราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้ (CPI) เพิ่มขึ้น 5.2% ในเดือนม.ค.จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 5.0%

ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ โดยได้แรงหนุนจากความกังวลว่าตลาดน้ำมันจะตึงตัว หลังจากรัสเซียประกาศแผนการที่จะปรับลดการผลิตน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 1.66 ดอลลาร์ หรือ 2.13% ปิดที่ 79.72 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 8.6% ในรอบสัปดาห์นี้
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 1.89 ดอลลาร์ หรือ 2.24% ปิดที่ 86.39 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.1% ในรอบสัปดาห์นี้


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ


  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกสภาคองเกรส หลังจากเขาแสดงความเห็นว่าการที่บอลลูนสอดแนมของจีนล่วงล้ำเข้าสู่น่านฟ้าสหรัฐไม่ถือเป็นการละเมิดความมั่นคงที่ร้ายแรง โดยบอลลูนดังกล่าวได้ถูกกองทัพสหรัฐยิงตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา


  • ผู้นำสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า พวกเขาจะทำการคุมเข้มบริเวณพรมแดนเพื่อสกัดกั้นผู้อพยพที่ไม่พึงประสงค์ โดยบางประเทศต้องการกั้นรั้วและกำแพงเพิ่มเติม ขณะที่บางประเทศยอมทุ่มเงินกับการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาสต่าง ๆ ของโลก


  • พรรคการเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นเห็นพ้องกันว่า จะเสนอชื่อผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ไปในวันอังคาร เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านจากผู้ว่า BOJ คนปัจจุบันดำเนินไปอย่างรวดเร็ว


ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด


  • เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนจะกลับมาออกวีซ่าระยะสั้นให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกครั้ง หลังจากที่จีนได้ทำการปรับปรุงสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • นักบริหารการเงิน คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทวันนี้จะมีความผันผวน และมีแรงซื้อดอลลาร์มากขึ้นทั้งจากผู้นำเข้า และการขายทำกำไรในทองคำ  โดยค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 33.80 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อย จากราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ระดับ 33.75 บาท/ดอลลาร์ และมีแนวรับ และแนวต้านระยะสั้นที่  33.65/33.90 บาทต่อดอลลาร์


  • กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ร่วมกันประเมินอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2566 ไว้ที่ 1-2% คิดเป็นมูลค่า 10 – 10.1 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 หลังจากยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ การเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ตลอดจนค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และข้อกังวลเรื่อง Food Security ของประเทศต่างๆ ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย

ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com