ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -6.33 เหรียญ หรือ -0.34% อยู่ที่ระดับ 1,834.97 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 7.70 เหรียญ หรือ 0.42% ปิดที่ 1,842.50 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 17.50 เซนต์ หรือ 0.81% ปิดที่ 21.89 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 27.20 เหรียญ หรือ 2.95% ปิดที่ 948.60 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 919.92 ตันภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 0.59 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 2.28 ตัน
- นักกลยุทธ์ฝ่ายการเงินของ OCBC ระบุว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำค่อนข้างมีเสถียรภาพ ขณะที่ตลาดต่างจับตาว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจเร็วเกินไปหรือไม่
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.21 จุด หรือ 0.2% มาอยู่ที่ระดับ 104.13 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.11 % มาอยู่ที่ระดับ 3.956% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 4.729% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.77% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นายโอลลี เรห์น ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นทั้งผู้ว่าการธนาคารกลางฟินแลนด์และสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบีควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหลังเดือนมี.ค. และอัตราดอกเบี้ยอาจจะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของวัฏจักรในฤดูร้อนปีนี้
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์เดือนก.พ.ของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราค่าสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ซึ่งเป็นมาตรวัดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้บริโภคในอีก 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 4.0% ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน
- ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.พ.โดยระบุว่า ความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออาจจะทำให้ RBA ดำเนินนโยบายการเงินที่คุมเข้มมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 700 จุดในวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นเวลานานขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทค้าปลีก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,129.59 จุด ร่วงลง 697.10 จุด หรือ -2.06%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,997.34 จุด ลดลง 81.75 จุด หรือ -2.00%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,492.30 จุด ดิ่งลง 294.97 จุด หรือ -2.50%
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยรายงานว่า อุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผชิญเมื่อปีที่ผ่านมานั้นเริ่มลดน้อยลงบ้างแล้ว โดยภาวะทางการเงินโลกเริ่มผ่อนคลาย ราคาอาหารและน้ำมันปรับตัวลง และเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความเห็นว่า ธนาคารกลางต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงาน (Core Inflation) ไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารกลาง
- ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เปิดเผยว่า ยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถขายธุรกิจในรัสเซียได้เสร็จสิ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 นับเป็นการรายงานความคืบหน้าครั้งสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว นับตั้งแต่ธนาคารเอชเอสบีซีเปิดเผยเมื่อเดือนก.ค. 2565 ว่าได้ตกลงที่จะขายธุรกิจให้กับเอ็กซ์โปแบงค์ (Expobank) ซึ่งเป็นธนาคารของรัสเซีย
- BOK ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่กลับมาเปิดประเทศใหม่อีกครั้ง มีแนวโน้มที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในเกาหลีใต้ของเรา ด้วยการเพิ่มการส่งออกไปยังจีนและการที่นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในครั้งนี้น่าจะเน้นไปที่การบริโภคเป็นหลัก และผลบวกต่อการขยายตัวในเกาหลีใต้นั้นก็คาดว่าจะน้อยกว่าในอดีตซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนมุ่งเน้นไปที่ด้านการลงทุน
- อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กกล้าดิบรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก นำเข้าเหล็กกล้าจากรัสเซีย 281,000 ตันในช่วงเดือนเม.ย. 2565 – ม.ค. 2566 เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) รายงานว่า อังกฤษมียอดเกินดุลงบประมาณ 5.4 พันล้านปอนด์ ในเดือนม.ค. ซึ่งสะท้อนถึงรายรับภาษีเงินได้ที่แข็งแกร่ง
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 18 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 76.16 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.02 ดอลลาร์ หรือ 1.21% ปิดที่ 83.05 ดอลลาร์/บาร์เรล
- บริษัทเคปเลอร์ (Kpler) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงราคาถูกจากรัสเซียไปยังจีนพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก เปิดพรมแดนอีกครั้งหลังผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งเพิ่งเดินทางเยือนกรุงเคียฟ เตรียมประกาศกับพันธมิตรสหรัฐว่า สหรัฐจะหนุนหลังยูเครนอย่างเต็มที่ในวันครบรอบการรุกรานของรัสเซีย และจะเน้นย้ำถึงการสนับสนุนของสหรัฐต่อแนวรบด้านตะวันออกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)
- นายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ออกมาเรียกร้อง ให้ชาติตะวันตกหยุดเติมเชื้อไฟในสงครามยูเครน พร้อมแสดงความกังวลต่อวิกฤตที่บานปลายและอาจลุกลามจนเกินควบคุม โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นหนึ่งในความพยายามของจีนที่จะตีตัวออกห่างจากรัสเซีย และแสดงว่าจีนเป็นชาติที่เป็นกลางที่ต้องการสันติภาพ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของชาติสมาชิกกลุ่มประเทศ G7 นอกรอบการประชุมของประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 ที่อินเดียในวันพฤหัสบดีนี้ (23 ก.พ.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการตอบโต้รัสเซียในสงครามยูเครน รวมไปถึงการคว่ำบาตร โดยสมาชิกกลุ่ม G7 ประกอบด้วยญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐ รวมถึงสหภาพยุโรป
- นายเดนิส ชไมฮาล นายกรัฐมนตรียูเครนได้พบปะเจรจากับนางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่กรุงเคียฟ โดยนายชไมฮาลคาดหวังว่ารัฐบาลจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับ IMF ในโครงการเงินกู้เพื่อสนับสนุนยูเครนมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
- เอกสารกลยุทธ์ภายในที่รั่วไหลออกมาจากสำนักงานบริหารของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงแผนการอย่างละเอียดของรัสเซียที่จะเข้าควบคุมเบลารุสซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ภายในทศวรรษหน้าภายใต้ข้ออ้างด้านการรวมตัวกันระหว่างสองประเทศ
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ทำการแถลงนโยบายประจำปี ต่อสมัชชาแห่งชาติ ก่อนครบรอบ 1 ปีของการที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.2565 ทั้งนี้ ปธน.ปูตินกล่าวว่า แม้รัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แต่เศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยรูเบิลได้แข็งค่าขึ้น และอัตราว่างงานแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.7%
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของฮ่องกงเปิดเผยว่า ปริมาณการเดินทางระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่พุ่งขึ้นเป็นสองเท่า แตะที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด โดยในวันจันทร์ที่ผ่านมา มีการเดินทางจำนวนกว่า 233,000 ครั้งผ่านจุดตรวจชายแดนทั้งบนบกและเรือข้ามฟากไปยังประเทศจีน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากระดับ 116,000 ครั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และถือเป็นจำนวนการเดินทางข้ามพรมแดนรายวันในระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. 2563
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน ระบุว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว คือ ปัจจัยที่กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งเราประเมินว่า หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากปัจจัยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เงินบาทก็เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่ายังคงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดหุ้น ซึ่งอาจได้รับอานิสงส์จากข่าวการเลือกตั้งได้บ้าง ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง