ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเล็กน้อยในวันพุธ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยรายงานการประชุม โดยตลาดทองคำปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะเผยแพร่รายงานการประชุมประจำวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ.
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -10.35 เหรียญ หรือ -0.56% อยู่ที่ระดับ 1,824.29 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1 เหรียญ หรือ 0.05% ปิดที่ 1,841.50 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 21.30 เซนต์ หรือ 0.97% ปิดที่ 21.677 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 4.70 เหรียญ หรือ 0.50% ปิดที่ 953.30 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 0.86 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 919.06 ตัน ภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 0.59 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 1.42 ตัน
- นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสของ City กล่าวว่า ขณะนี้ราคาทองคำแกว่งตัวอยู่บนความไม่แน่นอน แต่ก็ไม่ได้แย่ไปสำหรับราคาทองคำ เมื่อพิจารณาถึงการขยับขึ้นของผลตอบแทนอัตราพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ชี้ให้เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.37 จุด หรือ 0.36% มาอยู่ที่ระดับ 104.5 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 3.918% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 4.697% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.78% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ของเฟด และตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เฟดจึงควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลงจนแตะระดับเป้าหมายที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
- นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวในวันพุธว่า เฟดจำเป็นจะต้องทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืนในปีนี้ ไม่เช่นนั้นเฟดก็อาจจะมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งเหมือนในทศวรรษ 1970
- เทรดเดอร์ในตลาดสัญญาล่วงหน้า fed funds คาดการณ์ในตอนนี้ว่า อัตราดอกเบี้ย fed funds อาจจะพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดของวัฏจักรที่ 5.38% ในเดือนก.ค. และอาจจะยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 5% ในช่วงสิ้นปีนี้
- โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) ของ ECB เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3.25% ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์คาดว่า คณะกรรมการ ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนมี.ค. , ปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. และปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย.
- ดอยช์แบงก์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวงจรการขึ้นดอกเบี้ยนี้เป็น 3.75% จาก 3.25% และคาดว่าอีซีบีจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมในเดือนมี.ค.และพ.ค. หลังจากนั้นจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย 0.25% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งก่อนหน้านี้ พวกเขาคาดว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย 0.25% ในเดือนพ.ค.
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของแคนาดา เผยว่า แรงกดดันด้านราคาผู้บริโภคของแคนาดาผ่อนคลายลงในเดือนม.ค. ทำให้ธนาคารกลางแคนาดาอาจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันในเดือนหน้า แม้รายงานการจ้างงานแข็งแกร่งก็ตาม
- ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% สู่ระดับ 4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 14 ปีในการประชุมเมื่อวานนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวเลขเงินเฟ้อของนิวซีแลนด์จะปรับตัวลงสู่กรอบเป้าหมายในระยะกลางของธนาคารกลาง
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งบ่งชี้ว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่สนับสนุนให้คณะกรรมการเฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,045.09 จุด ลดลง 84.50 จุด หรือ -0.26%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,991.05 จุด ลดลง 6.29 จุด หรือ -0.16% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,507.07 จุด เพิ่มขึ้น 14.77 จุด หรือ +0.13%
- นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ป คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวสู่ระดับ 2.2% ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้อยู่ 0.25% เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจมหภาคเริ่มกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ครั้งล่าสุดยังคงเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวที่สุดในรอบ 40 ปี
- บริษัทฟิทช์ เรทติงส์ระบุว่า การเปิดประเทศของจีนเป็นปัจจัยบวก แต่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
- รัฐมนตรีคลังของฮ่องกงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจฮ่องกงจะขยายตัว 3.5% – 5.5% ในปี 2566 หลังจากที่หดตัวลง 3.5% ในปี 2565 โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลฮ่องกงยกเลิกมาตรการเข้มงวดในการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยส่งผลให้ฮ่องกงแยกตัวออกจากโลกภายนอก
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกง ระบุว่า ฮ่องกงจะออกบัตรกำนัลมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ให้กับประชาชนทุกคนในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่เงินจำนวนดังกล่าวนั้นลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับที่รัฐบาลเคยแจกในปี 2565
- รัฐบาลฮ่องกงประกาศแผนการปรับลดภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าต่ำกว่า 20 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัย รวมทั้งเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์
- บริษัทเอสแอนด์พี โกลบอล รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดยรวมของอังกฤษพุ่งขึ้นจาก 48.5 ในเดือนม.ค. สู่ 53.0 ในเดือนก.พ. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นเหนือระดับ 50 ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2022
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.41 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 73.95 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2566
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.45 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 80.60 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท PRICE Futures Group กล่าวว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงติดต่อกัน 6 วันทำการ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2565 เนื่องจากตลาดกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลงด้วย โดยล่าสุดรายงานการประชุมเฟดระบุว่า กรรมการเฟดต่างก็สนับสนุนให้เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- นักลงทุนจับตาการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของ S&P Global Commodity Insights คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. ขณะเดียวกันคาดว่าสต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 400,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ทูตอาวุโสของญี่ปุ่นและจีนพบปะกันเพื่อเจรจาด้านความมั่นคงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เพื่อหารือเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นและจีนเสริมสร้างกองกำลังทหารของตนในภูมิภาค
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- สถาบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนคาดการณ์ว่า ตลาดการท่องเที่ยวของจีนจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 โดยเฉพาะในฤดูการท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อน เนื่องจากประชาชนมีแนวโน้มที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างคึกคักหลังจากรัฐบาลยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทางการจีนบังคับใช้มาเป็นเวลานานเกือบ 3 ปีและทำให้ประชาชนต้องอยู่แต่ในบ้าน
- เกาหลีใต้จะไม่บังคับให้นักเดินทางจากจีนตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลังจากที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้อีกต่อไป โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมี.ค. แม้ว่านักเดินทางจากจีนจะยังจำเป็นต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 ที่เป็นลบ ก่อนออกเดินทางจากประเทศต้นทางก็ตาม
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาทต่อดอลลาร์
- สภาพัฒน์ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2565 หดตัวลง 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส และหากเทียบเป็นรายปี เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.4% ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากจากไตรมาส 3 ที่มีการขยายตัว 4.6% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่หดตัวลงในไตรมาส 4/2565 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย และจากการที่ไทยสามารถรับมือกับการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง