ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่สูงเกินคาด ซึ่งทำให้บรรดานักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -12.06 เหรียญ หรือ -0.66% อยู่ที่ระดับ 1,810.09 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 9.70 ดอลลาร์ หรือ 0.53% ปิดที่ 1,817.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. และปรับตัวลง 1.8% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 49.60 เซนต์ หรือ 2.33% ปิดที่ 20.81 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 37.60 ดอลลาร์ หรือ 3.98% ปิดที่ 907.90 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 917.32 ตันภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ซื้อสุทธิ 1.18 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 0.32 ตัน
- หัวหน้ามหภาคระดับโลกของ Tastylive ระบุว่า จากภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ออกมาแข็งแกร่ง เพียงพอที่ตลาดจะรับรู้ว่าเฟดอาจพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.7 จุด หรือ 0.67% มาอยู่ที่ระดับ 105.26 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.06 % มาอยู่ที่ระดับ 3.936% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.1 % มาอยู่ที่ระดับ 4.803% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.87% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เสนอชื่อนายเอเจย์ บังกา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทมาสเตอร์การ์ด ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกคนใหม่ โดยเชื่อมั่นว่าประสบการณ์อันยาวนานในภาคธุรกิจของนายบังกาจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านการเงินและวิกฤตโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้
- เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้จัดการกับเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่อยู่โดยเร่งด่วนแล้ว และอาจจะหยุดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่สูงกว่าระดับ 5% เล็กน้อย โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะขึ้นไปสูงถึง 6%
- นายคาซูโอะ อุเอดะ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันของ BOJ ช่วยให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดได้ในที่สุด แม้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากมาย แต่นโยบายการเงินในปัจจุบันของ BOJ นั้นถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและเหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2%
- ผลสำรวจรอยเตอร์ ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ราว 2 ใน 3 คาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะเริ่มทยอยยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในเดือนเม.ย.หรือมิ.ย. หรือภายในช่วง 4 เดือนข้างหน้า รวมถึงคาดว่า ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2024 เป็นอย่างน้อย
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ และปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้น หลังจากการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่พุ่งขึ้นเกินคาด
- ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 32,816.92 จุด ลดลง 336.99 จุด หรือ -1.02%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,970.04 จุด ลดลง 42.28 จุด หรือ -1.05%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,394.94 จุด ลดลง 195.46 จุด หรือ -1.69%
- ดัชนีทั้ง 3 ตัวร่วงลงในรอบสัปดาห์นี้ราว 3% โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 5 เดือน
- เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ “สดใสขึ้นเล็กน้อย” ราคาพลังงานลดลงอย่างชัดเจน เพราะยุโรปประสบความสำเร็จในการสร้างความหลากหลายด้านแหล่งพลังงาน แต่ปัญหาด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่
- ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่น (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารสด พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปีในเดือนม.ค. เนื่องจากบริษัทเอกชนได้ผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้กับผู้บริโภค โดยข้อมูลดังกล่าวอาจกดดันให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยุตินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
- บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ เมนูแฟกเจอริง (TSMC) วางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์แห่งที่ 2 ในญี่ปุ่น เพื่อผลิตชิปขนาด 5 และ 10 นาโนเมตรในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่ารัสเซียจะปรับลดการผลิตและการส่งออกน้ำมันในเดือนหน้า
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 93 เซนต์ หรือ 1.23% ปิดที่ 76.32 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 0.3% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 1.16% ปิดที่ 83.16 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 0.2% ในรอบสัปดาห์นี้
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครนเพิ่มอีก 2 พันล้านดอลลาร์
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อภาคอุตสาหกรรมที่สนับสนุนสงครามรัสเซียในยูเครน ในระหว่างการประชุมออนไลน์กับผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม G7
- รัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประธานกลุ่มประเทศ G7 ออกแถลงการณ์ว่า G7 ได้เพิ่มการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจแก่ยูเครนเพิ่มเป็น 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ และเรียกร้องให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จัดตั้งโครงการช่วยเหลือยูเครนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้
- กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เปิดเผยแผน 12 จุด (12-point Plan) โดยเรียกร้องให้ยุติการสู้รบในยูเครน รวมทั้งปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพ และยกเลิกการคว่ำบาตร เพื่อแสดงตนว่าจีนมีความเป็นกลางและสามารถช่วยยุติสงครามที่ยาวนานกว่า 1 ปีระหว่างรัสเซียและยูเครนได้
- นิตยสารเดอสปีเกล (Der Spiegel) ของเยอรมนี รายงานว่า รัสเซียกำลังเจรจากับบริษัทจีนเกี่ยวกับการซื้อโดรน 100 ลำ ซึ่งจะจัดส่งในเดือนเม.ย.
- เจ้าหน้าที่สหรัฐ ระบุว่า ทางการสหรัฐมีแผนที่จะเพิ่มกำลังพลเพื่อช่วยฝึกฝนกองกำลังทหารของไต้หวัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดยิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกรณีการยิงบอลลูนสอดแนมของจีนที่รุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐ
- คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) สั่งแบนติ๊กต๊อกจากอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากไบต์แดนซ์ บริษัทเจ้าของติ๊กต๊อก หลังมีความขัดแย้งกับรัฐบาลชาติตะวันตกเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลผู้ใช้งานของติ๊กต๊อก
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.50-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.05 บาทต่อดอลลาร์
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง