ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันอังคาร โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังมีรายงานว่าตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศยุโรปปรับตัวสูงขึ้น
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 9.64 เหรียญ หรือ 0.53% อยู่ที่ระดับ 1,826.69 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 11.80 เหรียญ หรือ 0.65% ปิดที่ 1,836.70 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 27.80 เซนต์ หรือ 1.34% ปิดที่ 21.071 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 13.60 เหรียญ หรือ 1.44% ปิดที่ 955.50 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.31 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 915.3 ตันภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 3.2 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 2.34 ตัน
- ข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC) ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเป็นทุนสำรองในปี 2565 รวมกันมากถึง 1,136 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510
- นักวิเคราะห์จากบริษัทวิสดอมทรี แสดงความเห็นว่า หากไม่มีแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก็เชื่อว่านักลงทุนก็จะเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะหนุนราคาทองให้ทะยานขึ้นเหนือระดับ 2,100 ดอลลาร์/ออนซ์ภายในสิ้นปี 2566 ได้ไม่ยาก
- นักวิเคราะห์ของ WGC กล่าวว่า ธนาคารทั่วโลกต่างก็หันมาสำรองทองคำ เพราะเชื่อว่าทองคำจะยังคงมีมูลค่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก นอกจากนี้ ทองคำยังช่วยให้ธนาคารกลางสามารถกระจายความเสี่ยงที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและดอลลาร์
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.41 จุด หรือ 0.39% มาอยู่ที่ระดับ 105.04 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 3.924% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 4.82% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.9% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วสู่ระดับเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% เนื่องจากดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนม.ค.เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับขึ้น 5.3% ในเดือนธ.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดัชนี PCE ยังคงอยู่ในระดับสูง และเขากล่าวเสริมว่า "คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในเรื่องนี้
- นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารบาร์เคลย์สของอังกฤษเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเพิ่มอัตราการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนหน้า โดยจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50%
- นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 77.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.75-5.00% และมีโอกาส 22.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. โดยนักลงทุนคาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐอาจจะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของวัฏจักรที่ระดับราว 5.428% ในเดือนก.ย. และอัตราดอกเบี้ยอาจจะอยู่ที่ระดับราว 5.311% ในเดือนธ.ค.ปีนี้
- เจ.พี.มอร์แกนคาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่อาจจำเป็นต้องคุมเข้มนโยบายทางการเงินอีกเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่
- นายมาซาซูมิ วากาตาเบ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยอยู่ในภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานาน แต่มาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ยั่งยืน "ก็มีผลบวกต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงอย่างแน่นอน" โดยเขากล่าวปกป้องนโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษที่ดำเนินมานานของบีโอเจ
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดในวันอังคาร และตลอดทั้งเดือนก.พ.ดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 4% เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,656.70 จุด ร่วงลง 232.39 จุด หรือ -0.71%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,970.15 จุด ลดลง 12.09 จุด หรือ -0.30%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,455.54 จุด ลดลง 11.44 จุด หรือ -0.10%
- นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/2565 ของอินเดียจะขยายตัวเพียง 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอลงจากไตรมาส 3/2565 ที่มีการขยายตัว 6.3% และคาดว่า GDP ตลอดปี 2566 จะขยายตัว 6.4%
- รัฐบาลเกาหลีใต้ เผยว่า รายได้จากภาษีของรัฐบาลเกาหลีใต้ลดลง 6.8 ล้านล้านวอน ในเดือนม.ค. จากปีก่อนหน้า เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทรุดตัวลง
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนม.ค. หดตัวลงในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลงท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจอย่างหนัก ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนม.ค. ลดลง 4.6% จากเดือนธ.ค.เมื่อปรับค่าตามฤดูกาล มากกว่าค่าเฉลี่ยที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าอาจจะลดลง 2.6% หลังจากขยายตัว 0.3% ในเดือนธ.ค.
- ยอดค้าปลีกออสเตรเลียเดือนม.ค.ดีดตัวขึ้นมากกว่าคาดการณ์ บ่งชี้ว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคออสเตรเลียยังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แม้ธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันยาวนานนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกเดือนม.ค.พุ่งขึ้น 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% หลังจากที่ปรับตัวลง 4.0% ในเดือนธ.ค. 2565
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะฟื้นตัว ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในวันนี้
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.37 ดอลลาร์ หรือ 1.81% ปิดที่ 77.05 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.44 ดอลลาร์ หรือ 1.75% ปิดที่ 83.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
- โกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ตลาดน้ำมันอาจจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอุปทานน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเป็นผลจากอุปสงค์เชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในจีน และจากการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลายประเทศคงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับเดิม โดยภาวะดังกล่าวอาจจะส่งผลให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) หันมาตัดสินใจปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในการประชุมเดือนมิ.ย.ปีนี้ และยกเลิกมาตรการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันที่เคยประกาศไว้ และคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก่อนสิ้นเดือนธ.ค.ปีนี้
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้เดินทางเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนโดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า โดยการเยือนครั้งนี้นางเยลเลนให้คำมั่นว่าสหรัฐจะสนับสนุนยูเครนทั้งในด้านเศรษฐกิจและงบประมาณ
- โฆษกทำเนียบเครมลินกล่าวว่า รัสเซียจะไม่กลับเข้าร่วมสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ “New START” กับสหรัฐ จนกว่าสหรัฐจะยอมรับฟังรัสเซีย
- ญี่ปุ่นตัดสินใจคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม โดยเพิ่มรายชื่อบุคคลและองค์กร 143 รายที่มีส่วนเกี่ยวกับข้องกับรัสเซียลงในบัญชีการคว่ำบาตรรัสเซียจากการรุกรานยูเครน หลังจากผู้นำประเทศกลุ่ม G7 ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มบทลงโทษรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกัน เปิดเผยว่า จีนกำลังใช้ติ๊กต๊อก (TikTok) เพื่อขยายอิทธิพลไปทั่วโลก และควรจะถูกห้ามใช้ในสหรัฐ หรือจะต้องมีการขายกิจการติ๊กต๊อกให้กับบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บริษัทของจีน
- สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป บรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่หลังเบร็กซิต (Brexit) ที่เรียกว่า กรอบข้อตกลงวินด์เซอร์ (Windsor Frameswork) สำหรับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นข้อตกลงใหม่ที่จะนำมาใช้แทนพิธีสารไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Protocol) และมีเป้าหมายหลักเพื่อลดปัญหาการค้าที่เกิดจากพิธีสารดังกล่าว รวมทั้งช่วยให้การค้าทั่วสหราชอาณาจักรเป็นไปอย่างราบรื่น
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- ฮ่องกงประกาศยกเลิกคำสั่งสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยถือเป็นการยุติยุคควบคุมโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานหลายปี จนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับฮ่องกงและบั่นทอนสถานะของศูนย์กลางการเงินโลกแห่งนี้
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.34 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.40 บาทต่อดอลลาร์
- โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.66 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับกิจกรรมในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงบ้าง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2.ผลของการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีน และ 3.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. 66 อยู่ที่ 99.82 หดตัว 4.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่องตามคาดการณ์ แต่ขยายตัว 6.61% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง