ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 9.20 เหรียญ หรือ 0.45% ปิดที่ 2,026.40 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 5.60 เซนต์ หรือ 0.22% ปิดที่ 25.093 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 9.40 เหรียญ หรือ 0.93% ปิดที่ 1,016.80 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 930.91 ตันภาพรวมเดือนเมษายน ซื้อสุทธิ 2.89 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 13.27 ตัน
- ตลาดทองคำนิวยอร์กจะปิดทำการในวันศุกร์ที่ 7 เม.ย. เนื่องในวัน Good Friday ส่วนตลอดสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 2%
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.11 จุด หรือ 0.11% มาอยู่ที่ระดับ 101.94 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 3.307% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.06 % มาอยู่ที่ระดับ 3.841% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.53%
- ลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า เฟดอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกท่ามกลางสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ปัญหาในภาคธนาคารควบคุมได้แล้ว และเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน และทำให้ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อทรงตัว เธอจึงคาดว่า นโยบายการเงินจะเคลื่อนตัวสู่เชิงจำกัดในปีนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะปรับตัวสูงกว่าระดับ 5% และอัตราดอกเบี้ยแท้จริงจะอยู่ในแดนบวกไปอีกสักพักหนึ่ง
- นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.5% – 5.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าแรงกดดันด้านการเงินที่เกิดขึ้นจากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐก็ตาม
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวว่า บีโออียังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บีโออีได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วในระดับที่มากพอที่จะควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาน่าจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจอังกฤษ
- ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 5.25% จากเดิมที่ระดับ 4.75% ในการประชุมวันนี้ โดย RBNZ ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยก็ตาม
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี โดยตลาดยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,485.29 จุด เพิ่มขึ้น 2.57 จุด หรือ +0.01%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,105.02 จุด เพิ่มขึ้น 14.64 จุด หรือ +0.36%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,087.96 จุด เพิ่มขึ้น 91.09 จุด หรือ +0.76%ฃ
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในต่างประเทศ และจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกได้รับความเสียหายในอัตราส่วนสูงถึง 2% ในระยะยาว
- ดัชนี PPI ทั่วไปในยูโรโซนลดลง 0.5% เมื่อเทียบรายเดือนในเดือนก.พ. และเพิ่มขึ้น 13.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งนั่นเป็นการลดลงต่อเนื่องจากระดับสูงสุดที่ 43.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราคาพลังงานพุ่งขึ้นกว่า 2 เท่าจากระดับของปีก่อน
- กิจกรรมภาคบริการของญี่ปุ่นขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 9 ปีในเดือนมี.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่า กำลังมีการฟื้นตัวเร็วขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และช่วยชดเชยภาคการผลิตที่ยังอ่อนแอไปได้บ้าง ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 55.0 ในเดือนมี.ค. จาก 54.0 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดตั้งแต่เดือนต.ค.2013
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี และทำสถิติปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาด และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 9 เซนต์ หรือ 0.11% ปิดที่ 80.70 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 13 เซนต์ หรือ 0.15% ปิดที่ 85.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ตลาดน้ำมันนิวยอร์กจะปิดทำการซื้อขายในวันศุกร์ที่ 7 เม.ย. เนื่องในวัน Good Friday ส่วนตลอดทั้งสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้น 6.65% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้น 6.55% โดยได้แรงหนุนจากการที่โอเปกพลัสประกาศลดการผลิตน้ำมัน 1.16 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สู่ระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงสิ้นปีนี้
- ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 4.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะเป็น 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด หากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งล่าสุด
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- นายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูเครนเปิดเผยว่า ยูเครนได้หารือเกี่ยวกับโอกาสในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการนาโต-ยูเครนในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 4-5 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นการเข้าร่วมนาโตของยูเครนเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของการหารือ
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.89 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดวันที่ 5 เมษายน) มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.25 บาทต่อดอลลาร์
- กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5% ตามกรอบที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทย มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะใกล้ยุติแล้ว หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับลดลงกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% โดยคาดว่าในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 1.75% ไปอยู่ที่ 2%
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนมี.ค.66 อยู่ที่ 107.76 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.83% ชะลอตัวลงจากเดือนก.พ. 66 และถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 15 เดือนนับตั้งแต่ ม.ค.66 ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) อยู่ที่ 3.88%
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง