ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นปัจจัยกดดันตลาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -9.25 เหรียญ หรือ -0.46% อยู่ที่ระดับ 1,994.78 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 8.80 เหรียญ หรือ 0.44% ปิดที่ 2,007.00 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 37.20 เซนต์ หรือ 1.46% ปิดที่ 25.088 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 5.60 เหรียญ หรือ 0.53% ปิดที่ 1,059.60 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.02 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 925.7 ตันภาพรวมเดือนเมษายน ขายสุทธิ 2.32 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 8.06 ตัน
- หัวหน้านักวิจัยของ Geojit Financial Services ระบุว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มการซื้อขายไปในทิศทางเชิงบวก แม้ว่าในขณะนี้เราอาจเห็นว่าราคาทองคำมีลักษณะการปรับฐาน และปรับตัวลดลงกว่าที่คาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดของสงครามการเมือง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวยังคงสนับสนุนให้ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.52 จุด หรือ 0.51% มาอยู่ที่ระดับ 102.1 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 3.606% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 4.201% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.6%
- นักลงทุนจับตาการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ข้อมูลล่าสุดของ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 88.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 11.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
- นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังมากขึ้นและอาจจะใช้นโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยเงินกู้ หลังเกิดเหตุการณ์ธนาคารล้มละลายในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับแสดงความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่ควรปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก
- เจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มดีดตัวขึ้นใกล้แตะระดับ 6% ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4% ภายในเดือนม.ค. 2567 โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่ที่ระดับ 4.75% – 5.00%
- ประธานธนาคารกลางเยอรมนี และสมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบีอาจจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้การขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังไม่ส่งผลไปทั่วเศรษฐกิจ ขณะที่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาเสี่ยงที่จะฝังตัวนาน
- ตลาดมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างการคาดการณ์ว่าอีซีบีจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% และการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมในวันที่ 4 พ.ค. และคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยราว 0.85% ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะแตะระดับสูงสุดภายในเดือนก.ย.
- ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเงินจำนวน 1.7 แสนล้านหยวน หรือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบธนาคารเมื่อวานนี้ โดยดำเนินการผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ที่อัตราดอกเบี้ย 2.75% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่แล้ว และเป็นการคงอัตราดอกเบี้ย MLF ติดต่อกันเดือนที่ 8 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กำลังพิจารณาที่จะปฏิรูปโครงการค้ำประกันเงินฝากครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มจำนวนเงินค้ำประกันที่ครอบคลุมธุรกิจหลายประเภท และบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสำรองเงินสดล่วงหน้าให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาชนและภาคธุรกิจจะสามารถเข้าถึงเงินสดได้รวดเร็วขึ้น หากธนาคารล้มละลาย
- นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะยังคงดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลายด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำพิเศษต่อไป ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่ามาตรการกระตุ้นมหาศาลของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ อดีตผู้ว่าการบีโอเจ จะถูกทยอยยกเลิกไปในที่สุด
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ รวมทั้งการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,987.18 จุด เพิ่มขึ้น 100.71 จุด หรือ +0.30%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,151.32 จุด เพิ่มขึ้น 13.68 จุด หรือ +0.33%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,157.72 จุด เพิ่มขึ้น 34.26 จุด หรือ +0.28%
- เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เตือนว่า นักลงทุนและภาคธุรกิจควรวางแผนรับมือกับผลกระทบของภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพราะเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนักลงทุนหรือธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมและแบกภาระการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งคนกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่ในหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น จะขยายตัวแซงหน้าสหรัฐและยุโรปคืออุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ จีนมาแรงอันดับหนึ่ง โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวที่ค่อนข้างราบรื่น เพราะการเปิดประเทศอีกครั้ง รวมถึงการสนับสนุนด้านนโยบายการคลังและการเงิน อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวแซงหน้าสหรัฐและยุโรปประมาณ 5% ในสิ้นปีนี้ โดยจะขยายตัวมากเป็นพิเศษในช่วงไตรมาส 4/2566
- นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนอาจไม่สามารถขยายตัวสูงกว่าระดับ 3% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า หากตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดภาวะตกต่ำ และมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลไม่สามารถยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
- โครงการเส้นทางสายไหมสมัยใหม่ หรือ โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ของจีนถูกโจมตีจากหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปริมาณหนี้ที่มีปัญหาอยู่ที่กว่า 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี โครงการเส้นทางสายไหมสมัยใหม่ได้ทำให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้ระดับทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของโลก
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (China EximBank) รายงานมูลค่าการปล่อยสินเชื่อแก่อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ช่วงไตรมาส 1/66 (ม.ค.-มี.ค.) อยู่ที่ 3 แสนล้านหยวน (ราว 1.49 ล้านล้านบาท)
- องค์การวิสาหกิจของสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกสินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศยกเว้นน้ำมัน (Nodx) เดือนมี.ค. ปรับตัวลดลง 8.3% เมื่อเทียบรายปี แม้จะน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าและน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% ในวันจันทร์ โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.69 ดอลลาร์ หรือ 2.05% ปิดที่ 80.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.55 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 84.76 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ราคาน้ำมันปรับตัวลงจากรายงานข่าวที่ว่า อิรักอาจจะกลับมาส่งออกน้ำมันจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานผ่านทางตุรกีอีกครั้ง หลังจากที่ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันราว 450,000 บาร์เรล/วันจากเคอร์ดิสถานผ่านทางตุรกีเมื่อไม่นานมานี้
- นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) มีกำหนดเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันพุธนี้ เวลา 21.30 น.ตามเวลาไทย
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า รัฐนตรีต่างประเทศจากแต่ละประเทศในกลุ่ม G7 จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) และสถานการณ์ที่จีนกำลังมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเตรียมประชุมทวิภาคีในช่วงต้นเดือนหน้า ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยประกาศความร่วมมือด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น หลังจากถูกขัดขวางโดยความขัดแย้งทางการทูต
- สหรัฐส่งเรือรบยูเอสเอส มิเลียส ล่องผ่านช่องแคบไต้หวัน โดยกองทัพเรือสหรัฐอธิบายว่าเป็นการแล่นผ่านตามปกติ เพียงไม่กี่วันหลังจากที่จีนเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย พบกับรัฐมนตรีกลาโหมของจีนที่กรุงมอสโก โดยต่างฝ่ายต่างชื่นชมความร่วมมือทางทหารระหว่างสองประเทศ ซึ่งได้ตกลงที่จะเป็นพันธมิตรกันแบบ “ไร้ขีดจำกัด”
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดอ่อนค่าที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากราคาปิดตลาดเมื่อวันทำการก่อนหน้าที่ระดับ 34.39 บาทต่อดอลลาร์ โดยกรอบแนวรับที่ 34.30 บาท แนวต้าน 34.60 บาท
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง